ปีหน้าใช้นัมเบอร์พอร์ต/3จี

กทช. เร่งเครื่องเต็มสูบ เตรียมคลอด 3 ไลเซนส์ นัมเบอร์พอร์ต-3จี-ไวแมกซ์ ในปีหน้า

นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 ธ.ค. นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) จะมีการพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาต (ไลเซนส์) การให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ บริการเลขหมายเดียวทุกระบบ (นัมเบอร์พอร์ตทิบิลิตี) และโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สาย (ไวแมกซ์) เพื่อให้สามารถออกไลเซนส์ได้ภายในปีหน้า

ทั้งนี้ เพื่อทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยในปีหน้ามีการแข่งขันในรูปแบบใหม่ ทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ซึ่งทั้ง 3 ไลเซนส์ เหลือเพียงขั้นตอนการรวบรวมความเห็นขอประชาชนและเอกชนครั้งสุดท้าย เพื่อมาประยุกต์ให้เข้ากับร่างหลักเกณฑ์ที่จะออกมา

สำหรับหลักเกณฑ์ที่จะเห็นก่อนคือ บริการเลขหมายเดียวทุกระบบ ที่คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปีหน้า โดย ผู้ใช้บริการสามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบอื่นแต่คงสิทธิเลขหมายเดิมไว้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการได้รับความพึงพอใจกับการใช้งานตามระบบ ที่ต้องการ คาดว่าจะเก็บค่าธรรมเนียมการเปลี่ยนแปลงเลขหมาย 200 บาท ซึ่งกทช. อยู่ระหว่างการพิจารณาด้วยว่าจะเป็นผู้ดำเนินการหน่วยงานตรวจจับปริมาณการใช้งาน (เคลียริงเฮาส์) เอง เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลจริง

แหล่งข่าวจากกทช. กล่าวเสริมว่า หลังจากกทช. เข้าดำเนินการเคลียริงเฮาส์ระยะหนึ่ง เมื่อระบบทุกอย่างลงตัวอาจจะถอย เพื่อให้เอกชนเข้าดำเนินการกันเอง

นายสุรนันท์ กล่าวถึงไลเซนส์ 3จีว่า ยังเหลือการพิจารณาประเด็นข้อดีข้อเสียของการประมูลทั้ง 4 แบบ ว่ามีความแตกต่างอย่างไร คือ 1.ให้แต่ละรายเสนอแผนมาแล้วคัดเลือก (บิวตีคอนเทสต์) 2.แบบประมูลเปิดกว้างระบบอีออกชัน 3.แบบคัดเลือกผู้มีสิทธิแล้วประมูล (ไฮบริด) รวมทั้งค่าธรรมเนียมที่เรียกกับเอกชนด้วยว่า อัตราที่กำหนดไม่ควรต่ำกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และกำหนดอายุ 15-20 ปีขึ้นไป และ 4.มาก่อนได้ก่อน หรือเฟิสต์คัมเฟิสต์เสิร์ฟ

ขณะที่ไลเซนส์ไวแมกซ์เหลือการพิจารณาครั้งสุดท้ายในแง่การให้ความถี่แก่ผู้ประมูล ซึ่งจากการเปิดให้ผู้ประกอบการทดสอบในย่าน 2.5 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 14 ราย ถือว่าแต่ละรายมีความพร้อมแล้ว รวมถึงการกำหนดจำนวนผู้ให้บริการว่าจะให้มีทั้งสิ้นกี่ราย

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณาเรื่องการลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทั้ง 3 ประเภท เหลือ 2% จากก่อนหน้านี้ปรับลดจาก 3% เหลือ 2.5% ของรายได้รวมของผู้ได้รับไลเซนส์ รวมทั้งการพิจารณาหลักเกณฑ์ขยายอายุของใบอนุญาตที่เป็นแบบปีต่อปี ให้เป็น 3-5 ปี

ที่มา โพสต์ทูเดย์ วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

 

แท็ก คำค้นหา