จวกกทช.ไม่เข้าใจธุรกิจ ออกกฎขัดสัญญาตปท.

รุมจวก “กทช.” ออกกฎเกณฑ์ขัดขวางธุรกิจ บีบใช้ “กม.” ไทยกรณีทำสัญญากับต่างชาติ “เอกชน” เผยแม้แต่สัญญา “โรมมิ่ง” ยังทำไม่ได้ ระบุไม่รีบเคลียร์ปัญหาอาจถึงขั้นต้องยุติบริการ “เอไอเอ็น” เลี่ยงทำข้อตกลงชั่วคราวแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ยอมรับเสี่ยงโดนเบี้ยวสูง ฟาก “กทช.” ส่ง “กฤษฎีกา” ตีความสัญญาแพ่ง-สัญญาโทรคมนาคม ระบุถ้าเป็นสัญญาแพ่งเปิดทางใช้ กม.ประเทศที่ 3 ได้

หลังจากที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกประกาศ กทช. เรื่องการขอความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ.2549 และตีพิมพ์ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 2 พ.ย. 2549 ซึ่งระบุให้ผู้รับใบอนุญาตต้องส่งสำเนาสัญญาที่จะทำกับต่างประเทศก่อนทำสัญญาไม่น้อยกว่า 7 วัน ให้ กทช.เห็นชอบด้วย เว้นแต่เป็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างตามปกติ

กรณีดังกล่าวส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตอย่างมาก โดยนายวีรชัย พัชโรภาสวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์ทางไกลระหว่าง ประเทศ (IDD) ผ่านเลขหมาย 005 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลักการของ กทช.เกี่ยวกับการทำสัญญากับต่างประเทศ ในกรณีที่คู่สัญญาเกิดข้อพิพาทขึ้น ทั้ง 2 ฝ่ายต้องใช้กฎหมายไทยในกระบวนการดำเนินคดี ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว ข้อตกลงที่ทำกับต่างประเทศส่วนใหญ่จะใช้กฎหมาย ของประเทศเป็นกลางในการบังคับคดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม การที่ กทช.บังคับใช้กฎหมายไทยทำให้คู่ค้าไม่ยอมเซ็นสัญญากับบริษัท

“ถ้าเข้มในหลักการนี้จริงจะมีผลกระทบต่อผู้รับใบอนุญาตทุกราย เพราะถ้าเจอคู่ค้าที่เข้มงวดว่าต้องมีสัญญาก่อนถึงจะดำเนินการได้ ก็จะทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดความล่าช้า กรณีเอไอเอ็นแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยใช้วิธีเชื่อใจกันและกัน ทำธุรกิจกันไปก่อนจนกว่า กทช.จะเปลี่ยนนโยบาย แต่ก็มีความเสี่ยงเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย เพราะจะเป็นลักษณะทดลองใช้บริการไม่ใช่สัญญาระยะยาว ถ้าคู่ค้าเลิกให้บริการ เราก็ทำอะไรเขาไม่ได้”

นายวีรชัยกล่าวต่อว่า ส่วนของเอไอเอ็นได้ส่งร่างสัญญากับต่างประเทศให้ กทช.ให้ความชอบไปหลายฉบับ แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบเลยแม้แต่ฉบับเดียว

ด้านนายมารุต บูรณเศรษฐกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสทฯก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญากับผู้ให้บริการต่างประเทศได้เลย เช่น สัญญาโรมมิ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ CAT CDMA เป็นต้น ส่วนการทำสัญญาซื้อแบนด์วิดท์หรือซื้อทราฟฟิกต่างประเทศสำหรับ IDD และ Data Communication มีสัญญาเดิมที่ทำไว้ก่อน ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้จึงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากเป็นโครงการใหม่ก็เดินหน้าต่อไม่ได้เช่นกัน

“เรามีปัญหาเช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์รายอื่น คือเซ็นสัญญาใหม่ไม่ได้เลย ในภาพรวมไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่สุดผู้ประกอบการก็คงต้องรวมตัวกันอธิบายความจำเป็น และเรียกร้องให้ กทช.ทบทวนในเรื่องนี้”

แหล่งข่าวจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรูไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ กทช.ในเรื่องนี้ เพราะเมื่อไม่สามารถเซ็นสัญญาก็จะมีผลกระทบต่อการให้บริการในที่สุด เช่น สัญญาโรมมิ่งต่างๆ โดยเฉพาะ International Roaming ถ้าให้ใช้กฎหมายไทย ไม่มีต่างชาติรายใดยอมแน่ จึงไม่ทราบว่า กทช.มีเหตุผลอย่างไรถึงไม่ยอมให้ใช้กฎหมายของประเทศเป็นกลางในการทำสัญญา

“เรื่องเงินกู้ ถ้าซื้ออุปกรณ์ของซัพพลายเออร์ เขาก็จะมีแหล่งเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยถูกกว่าทั่วๆ ไปก็ติดเรื่องสัญญา หรือถ้าเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินใหญ่ๆ ส่วนใหญ่ก็จะใช้กฎหมายอังกฤษ เป็นต้น”

ก่อนหน้านี้ นายอธึก อัศวานันท์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ฝ่ายกฎหมาย บริษัทเดียวกัน กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า กทช.จะต้องเคลียร์ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นอาจกระทบถึงผู้ใช้บริการเพราะเป็นเหตุให้บริษัทต้องยุติบริการในท้ายที่สุด อีกทั้งยังอาจเป็นครั้งแรกที่เอกชนรวมตัวกันฟ้องร้อง กทช.

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงาน กทช. กล่าวว่า กทช.รับทราบถึงความเดือดร้อนของ ผู้ประกอบการ และมีมติวันที่ 8 พ.ค.2551 ผ่อนคลายให้ผู้ประกอบการสามารถทำสัญญาทางแพ่ง โดยใช้กฎหมายของประเทศที่สามบังคับได้ เนื่องจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายของ กทช.ให้ความเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันทางกฎหมาย พ.ศ.2481 ซึ่งเป็นกฎหมายแพ่ง ในมาตรา 13 เปิดช่องให้คู่สัญญามีสิทธิทำสัญญาทางแพ่งโดยไม่อยู่ภายใต้กฎหมายไทยได้ตราบเท่าที่ไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อย เช่นสัญญาเกี่ยวกับการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ต่างๆ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนบุคคล

อย่างไรก็ตามในส่วนของสัญญาที่ เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของ กทช.ให้ความเห็นว่าต้องระบุในสัญญาว่าต้องใช้ศาลไทยเท่านั้น เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 เป็นกฎหมายมหาชน และมีผลกระทบกับบุคคลทั่วไป คู่สัญญาจะหลีกเลี่ยงใช้กฎหมายประเทศอื่นๆ ไม่ได้ เช่น เรื่องคลื่นความถี่ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรของไทยก็ต้องบังคับใช้กฎหมายไทย

“เราชี้แจงในหลักการไปก่อน และจะทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งว่า ขอบเขตของสัญญามีแค่ไหน อะไรจัดเป็นสัญญาทางแพ่ง อะไรจัดเป็นสัญญาเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม ถ้ากฤษฎีกาบอกว่าต้องเป็นศาลไทยโอเปอเรเตอร์คงต้องไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับ ส.ส.-ส.ว.เพื่อขอให้แก้ กม.ต่อไป”

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 4000 (3200) หน้า 32

 

แท็ก คำค้นหา