ตร.ส่งฟ้อง 10 แกนนำ ‘บุกสภา สนช.’ อัยการนัดฟังคำสั่ง 5 มิ.ย.

กรณี นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายศิริชัย ไม้งาม นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ ขาวสนิท นายนัทเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี นายไพโรจน์ พลเพชร นางสาวสารี อ๋องสมหวัง และนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ รวม 10 คน เป็นแกนนำในการบุกรุกปีนเข้าไปในรัฐสภา เพื่อแสดงออกในการพยายามหยุดยั้งไม่ให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร่งพิจารณาผ่านกฎหมายสำคัญๆ ก่อนที่จะหมดวาระ อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มี.ค. เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 821 หน้า แผ่นซีดีบันทึกภาพและเสียงเหตุการณ์ จำนวน 9 แผ่น พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กับพวกรวม 10 คนในคดีบุกสภา ส่งมอบให้ นายพีรยุทธ์ ประดิษฐ์กุล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เพื่อพิจารณาสั่งคดี โดยพนักงานอัยการนัดฟังคำสั่งคดีในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

โดยผู้ต้องหาทั้ง 10 คน ถูกสั่งฟ้อง ในฐานความผิด ดังนี้ 1.ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป 2.มั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง 3.ร่วมกันตั้งห้าคนขึ้นไปข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้าย จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น 4.ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

ทั้งนี้ ผู้ต้องหา 7 ใน 10 คน ได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายสาวิทย์ แก้วหวาน นายศิริชัย ไม้งาม นายพิชิต ไชยมงคล นายอนิรุทธ ขาวสนิท นายนัทเซอร์ ยีหมะ นายอำนาจ พละมี ถูกสั่งฟ้องเพิ่มเติมในฐานความผิด “ร่วมกันกระทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่” อีก 1 ข้อหา

ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความผู้ต้องหากล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด เนื่องจากการจัดชุมนุมของผู้ต้องหา เป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบ ตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากห่วงใยในการพิจารณากฎหมายหลายฉบับของ สนช.

นอกจากนี้ยังร้องขอความเป็นธรรม ในกรณีที่สำนวนสอบสวนของตำรวจยังไม่เป็นธรรม ไม่ได้พิจารณาถึงเจตนาอันแท้จริงของกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหมดพร้อมนำพยานหลักฐาน มอบให้พนักงานอัยการ และเข้าให้ปากคำเพิ่มเติมภายใน 15 วัน

นายจอน อึ๊งภากรณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายวรพล พรหมมิก อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการรวม 11 คน เสนอให้รัฐบาลทบทวนกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งประกาศบังคับใช้ในช่วงที่ประเทศไทยถูกรัฐประหาร ว่า เห็นด้วยในหลักการที่จะมีการทบทวน อย่างไรก็ตาม หากเป็นประเด็นที่ว่า เป็นกฎหมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย ถ้าอย่างนั้น ก็ควรจะครอบคลุมถึงกฎหมายทั้งหมดที่เคยออกในทุกยุคที่ไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย หมายถึงทุกยุคที่เป็นสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย หรือประกาศคณะปฏิวัติปฏิรูปทั้งหลายทั้งปวงด้วย ไม่ใช่ทบทวนเฉพาะกับยุค สนช.

แต่หากเป็นประเด็นเรื่ององค์ประชุมไม่ครบนั้นไม่เห็นด้วย เนื่องจากแม้ในระบบรัฐสภามีการเซ็นชื่อครั้งเดียว ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาิชิกออกไปข้างนอกโดยไม่อยู่ในที่ประชุม แต่เขาก็เห็นว่า โดยธรรมเนียม หากเกิดข้อสงสัยเรื่ององค์ประชุม ก็สามารถที่จะนับองค์ประชุมได้ในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่า ขึ้นกับความรับผิดชอบของประธานสภาฯ ในการดูแลการครบองค์ประชุมเองด้วย

นายจอน กล่าวเสริมว่า แต่ถ้าจะใช้การนับองค์ประชุม ที่ผ่านมา กฎหมายครึ่งหนึ่งที่มีอยู่ในประเทศไทย ไม่ใช่แค่ยุค สนช. ก็คงไม่ผ่าน

นายจอน กล่าวว่า อาจจะไม่เห็นด้วยเสียทีเดียวกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญที่บอกว่า กฎหมายเหล่านั้น (สามฉบับที่ตกไป) ไม่ครบองค์ประชุม แม้ว่าอาจจะอยากเห็นกฎหมายของ สนช. หลายฉบับ ล่มไปก็ตาม เพราะหากเอาหลักการเรื่องของครบองค์หรือไม่ ต้องพูดให้ชัดว่าอะไรคือ การครบองค์ประชุมและอะไรคือการไม่ครบ เช่น ถ้าไม่อยู่ในห้องประชุม แต่อยู่ล้อมรอบดูโทรทัศน์อยู่นี่ถือว่าครบองค์ไหม หรือว่าทุกคนจะต้องมากดบัตรแสดงว่าตัวเองอยู่ในห้องประชุมหรือเปล่า เพราะว่าอันนี้ยังไม่เคยเป็นกฎระเบียบ ที่ผ่านมา การครบองค์ประชุมก็คือมาเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด อันนั้นก็มีจุดโหว่ตรงที่ว่าเซ็นครั้งเดียว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องมีการกำหนดระเบียบให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม โดยธรรมเนียม สิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าเป็นกฎหมายที่มีข้อสงสัย แล้วฝ่ายที่จะเป็นฝ่ายเสียงข้างน้อยไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกฎหมายนั้น ก็จะใช้วิธีเรียกให้นับองค์ประชุมเพื่อล้มกฎหมายนั้นโดยปริยาย กฎหมายที่ไม่มีการตั้งคำถามเรื่ององค์ประชุมก็มักจะเป็นกฎหมายที่เป็นความเห็นด้วยกันอยู่แล้วว่าอันนี้ผ่าน ไม่ใช่ปัญหา ฉะนั้น ระบบมันจัดการเอง หรือกฎหมายที่ความเห็นขัดแย้งกันมากๆ ก็จะมีการตั้งคำถาม แต่บังเอิญกรณี สนช.มันเป็นการเรื่องของกฎหมายที่สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกันหมด แต่ประชาชนข้างนอกกลับไม่เห็นด้วย สนช. เองก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ความรู้สึกรับผิดชอบต่อประชาชนของสมาชิก สนช. จึงบกพร่อง แม้แต่คนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายก็เกิดความเกรงใจต่อผู้มีอำนาจเลยไม่ออกมาคัดค้าน

โดย : ประชาไท   วันที่ : 19/3/2551 

 

แท็ก คำค้นหา