กทช.ผ่านเกณฑ์จัดสรรงบวิจัย แจงเงื่อนไขขอทุนไม่เกิน10ล.

กทช.อนุมัติหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินทุนสนับสนุนการวิจัยของ “TRIDI” เปิดทางให้บุคคลธรรมดา คณะบุคคล สถาบันศึกษาและนิติบุคคลขอรับทุนวิจัย โครงการขนาดใหญ่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนทุนห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยี 10 ล้านต่อโครงการ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้อนุมัติระเบียบสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (TRIDI) จำนวน 4 ฉบับเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการจัดสรรเงินงบประมาณสำหรับอุดหนุนการทำวิจัยและพัฒนาในวงการโทรคมนาคมไทย การแบ่งสรรผลประโยชน์อันเกิดจากงานวิจัย รวมทั้งการให้ทุนเพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านโทรคมนาคม

โดยการสนับสนุน R&D จะอยู่ในลักษณะของการ “ให้ทุน” สนับสนุนการวิจัย “จ้างทำวิจัย” จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน “วิจัยและพัฒนาร่วม” กับหน่วยงานอื่นทั้งในและต่างประเทศ และการให้ทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยี” ด้านโทรคมนาคม (research laboratory)

โดยหัวข้อการวิจัยจะมี 2 ประเภท คือประเภททั่วไปหมายถึงการวิจัยที่ผู้ทำวิจัยเป็นผู้กำหนดเรื่องหรือหัวข้อในการศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง และประเภทที่ TRIDI เป็นผู้กำหนดหัวเรื่อง โดยเปิดโอกาสให้ทั้งบุคคลธรรมดา คณะบุคคล สถาบันการศึกษา นิติบุคคล รัฐและภาคเอกชนมีสิทธิขอรับทุนปีละไม่เกินหนึ่งโครงการ

ขั้นตอนการคัดเลือกสนับสนุนงานวิจัย กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการ 2 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการตรวจสอบทางวิชาการ และคณะอนุกรรมการส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคม เพื่อหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับทุน พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกโครงการและ ติดตามประเมินผล

สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินสนับสนุน กรณีที่เป็นโครงการขนาดเล็ก เวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 6 เดือน ให้เงินอุดหนุนได้ไม่เกิน 5 แสนบาท โครงการขนาดกลางใช้เวลาดำเนินโครงการเกิน 6 เดือนแต่ไม่เกิน 1 ปี ให้เงินอุดหนุนไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาในการดำเนินโครงการ 1 ปีขึ้นไปให้เงินอุดหนุนได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

และส่วนของการให้ทุนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม โดยให้กำหนดเงินอุดหนุนได้ไม่เกินปีละ 10 ล้านบาท/โครงการ

นอกจากนี้จะมีคณะอนุกรรมการรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาและการจัดสรรผลประโยชน์อันเกิดจากผลการวิจัย เพื่อทำหน้าที่รักษาสิทธิในทรัพย์และจัดสรรผลประโยชน์ อันเกิดจากผลการวิจัย ซึ่งได้กำหนดให้ผู้ดำเนินการวิจัยหรือคิดค้นนวัตกรรมได้รับผลประโยชน์ไม่เกิน 40% หน่วยงานต้นสังกัด ของผู้รับทุน ได้รับประโยชน์ไม่เกิน 30% และผู้ให้ทุนวิจัยจะได้รับประโยชน์ไม่เกินร้อยละ 30%

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3968 (3168) หน้า 33

แท็ก คำค้นหา