องค์กรวิชาชีพสื่อ เรียกร้อง กสทช. ออกหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลฯ

lodo4press copy

จดหมายเปิดผนึก องค์กรวิชาชีพสื่อ เรียกร้อง กสทช. ออกหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตทีวีดิจิตอลประเภทบริการสาธารณะ โดยพิจารณาในบอร์ดใหญ่ 11 คน ย้ำประกาศหลักเกณฑ์ให้ใบอนุญาตโครงข่ายต้องโปร่งใส เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ

 

จากการที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กำลังพิจารณาการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลในประเภทต่างๆ อีกทั้งกำลังอยู่ระหว่างร่างหลักเกณฑ์ประกาศการคัดเลือกผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นทีวีในระบบดิจิตอลประเภทธุรกิจ แต่กลับไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับประเภท บริการสาธารณะ โดยในจำนวน 12 ช่อง  มติเสียงข้างมาก กสท. 3 ต่อ 2 เห็นชอบที่จะอนุญาตให้ผู้ประกอบการรายเดิมคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.11) และ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทดลองออกอากาศในระบบดิจิตอลไปก่อน ทั้งที่ยังไม่มีรายละเอียดขั้นตอนกระบวนการพิจารณาใดๆเพื่อขอรับใบอนุญาต โดยจะพิจารณาจัดสรรช่องที่เหลืออีก 8 ช่อง ด้วยอำนาจของ กสท. เอง

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ยังยืนยันความจำเป็นและขอเรียกร้องให้กสท.ต้องออกหลักเกณฑ์และกติกาในการคัดเลือกผู้เหมาะสมที่จะรับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอล เนื่องจากกิจการสื่อสารมวลชนเป็นสมบัติของสาธารณะอีกทั้งมีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างกว้างขวาง การพิจารณาให้ใครเป็นผู้ได้รับสิทธิประกอบกิจการ โดยเฉพาะในกลุ่มบริการสาธารณะและชุมชน จึงต้องผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อข้างต้น ขอเรียกร้องให้ กสท. ได้เร่งรัดการออกหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้รับใบอนุญาตฯ โดยต้องคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างกว้างขวาง อีกทั้งต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. ชุดใหญ่ 11 คน เพราะเป็นเรื่องสำคัญจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แทนที่จะพิจารณาจากคณะกรรมการ กสท.เพียง 5 คน

นอกจากนี้ ในการประกาศหลักเกณฑ์ให้ใบอนุญาตบริการสิ่งอำนวยความสะดวกและการให้บริการโครงข่ายฯ ซึ่งต้องประกาศก่อนการพิจารณาให้ใบอนุญาตฯ  ควรต้องกำหนดกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส และเปิดให้ภาคส่วนต่างๆได้มีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางด้วยเช่นเดียวกัน

หาก กสท. ไม่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนประกาศต่อสาธารณะ จะถือว่าขัดต่อแผนแม่บท  (Road Map)ของ  กสทช.เองที่กำหนดให้ต้องมีประกาศ หลักเกณฑ์ และวิธีการรวมทั้งเงื่อนไขการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นสมบัติของส่วนรวม  อันอาจนำไปสู่การฟ้องร้องคดีทางศาล จากผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย อันเนื่องจากการที่ กสท. ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด”

ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อ ยังเห็นว่า กสทช. ไม่จำเป็นต้องให้ใบอนุญาตฯ ไปพร้อมกันทั้ง 12 ช่องในคราวเดียว แต่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง

องค์กรวิชาชีพสื่อ  เชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันติดตาม  ตรวจสอบการทำงานของกสทช. ในประเด็นต่างๆ อย่างใกล้ชิด และเข้าไปมีส่วนร่วมในการพิจารณา จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังกล่าว เพราะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนโดยตรง

13 พฤษภาคม 2556

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

แท็ก คำค้นหา