แถลงการณ์วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม 2561“ปลดล็อกคำสั่ง คสช. ทวงคืนเสรีภาพประชาชน”

003

4 ข้อเรียกร้องจากสมาคมสื่อ ถึง คสช. และ สื่อมวลชนทุกแขนงรวมทั้งประชาชนและผู้ใช้สื่อทุกแฟลตฟอร์ม เนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

(3 พ.ค.61) นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกิจกรรม “วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก : World press freedom day” ภายใต้สโลแกน “ปลดล็อกคำสั่งคสช. คืนเสรีภาพประชาชน” จัดโดย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ณ อาคารสมาคมนักข่าวถนนสามเสน โดยภายในงานได้มีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง 4 ข้อ คสช. และ สื่อมวลชนทุกแขนงรวมทั้งประชาชนและผู้ใช้สื่อทุกแฟลตฟอร์ม ดังนี้

1. ให้รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องระมัดระวังการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน พร้อมกับ “โละ เลิก ล้าง” ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกำลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งตามโรดแมป

2. ให้ คสช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยปราศจากการครอบงำ

3. เรียกร้องให้ประชาชนและผู้ใช้สื่อในทุกแพลตฟอร์ม ระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ข่าวปลอม (Fake News) ที่ไหลทะลักบนสื่อออนไลน์ และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

4. เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกแพลตฟอร์ม พึงตระหนักการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อมวลชน และขอยืนหยัดพร้อมที่จะรับการถูกตรวจสอบจากสังคม ด้วยวิถีทางอันถูกต้อง ชอบธรรมด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย
…………………………………………………..

“วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก” ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศ เพื่อตอกย้ำถึงเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของ “เสรีภาพสื่อมวลชน” ซึ่งก็คือ “เสรีภาพของประชาชน” เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของสื่อมวลชนมืออาชีพที่จะต้องมีเสรีภาพ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สนับสนุนหลักการดังกล่าว  และต้องการเห็นสื่อทุกประเภทตระหนักถึงคุณค่าเสรีภาพที่ยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ไม่เช่นนั้นอาจเป็นข้ออ้างของผู้มีอำนาจในการจัดการกับคนเห็นต่างได้

โดยเฉพาะในปัจจุบัน สถานการณ์ด้านเสรีภาพของสื่อมวลชนไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ ยังอยู่ภายใต้ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลายฉบับ เปิดทางให้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเป็นระยะๆ เข้าข่ายปิดกั้น ลิดรอนสิทธิการรับรู้ข่าวสาร และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหาให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร การแสดงความเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ หากเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนใช้สิทธิเกินขอบเขตก็สามารถฟ้องร้องได้ตามกฎหมาย หรือใช้กลไกควบคุมจริยธรรมขององค์กรสื่อ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย แต่ไม่จำเป็นต้องใช้ประกาศ หรือคำสั่งของ คสช.

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยอยู่ในช่วงขับเคลื่อนตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมถึงแผนปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะพัฒนาระบบนิเวศสื่อเพื่อสร้างกลไกการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย อาทิ มีข้อเสนอให้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพสื่อมวลชน ภายใต้การกำกับกันเองของสื่อมวลชนในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ และเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะมีกฎหมายอีกหลายฉบับออกมาบังคับใช้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่มีความสุ่มเสี่ยงให้นิยาม “การปกป้องคุ้มครองและรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านสารสนเทศของประเทศ” จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  ดังนี้

  1. ให้รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องระมัดระวังการออกกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน  พร้อมกับ “โละ เลิก ล้าง” ประกาศหรือคำสั่งของ คสช. ที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อ ซึ่งก็คือเสรีภาพของประชาชนนั่นเอง เพื่อให้การดำเนินงานของสื่อสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกำลังเข้าสู่บรรยากาศการเลือกตั้งตามโรดแมป
  2. ให้ คสช. และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์ โดยปราศจากการครอบงำ
  3. เรียกร้องให้ประชาชนและผู้ใช้สื่อในทุกแพลตฟอร์ม ระมัดระวังในการเผยแพร่ หรือส่งต่อข้อมูลที่ผิดกฎหมาย  ข่าวปลอม (Fake News) ที่ไหลทะลักบนสื่อออนไลน์ และขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบ ควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้อยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
  4. เรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทุกแพลตฟอร์ม พึงตระหนักการทำหน้าที่ภายใต้กรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ  ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะการปฏิรูปสื่อมวลชน และขอยืนหยัดพร้อมที่จะรับการถูกตรวจสอบจากสังคม ด้วยวิถีทางอันถูกต้อง ชอบธรรมด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

3 พฤษภาคม 2561

   ภาพนายกสมาคมฯ ร่วมงานวันเสรีภาพสื่อโลก

2018_WPFD2018_statment_Page_1 2018_WPFD2018_statment_Page_2

004

แท็ก คำค้นหา