เสรีภาพสื่อ ต้องร่วมลดความรุนแรง
ตามที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก หรือ World Press Freedom Day เพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ และหลักการพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก คือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศได้ร่วมกันให้ความสำคัญกับการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่ประชาชนจะมีเสรีภาพด้วย
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และองค์กรพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ตามรายชื่อท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนดังกล่าว จึงมีขอเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ดังนี้
1. รัฐบาลต้องไม่กระทำการใดๆ หรือมีพฤติกรรมที่เป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารในรูปแบบต่างๆ อาทิ สื่ออินเทอร์เน็ต โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและวิทยุชุมชน-ท้องถิ่น หากพบว่า สื่อใดกระทำการละเมิดกฎหมาย ก็ต้องใช้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินการอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้วิธีการอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
2. รัฐบาลต้องมีความจริงใจในการปฏิรูปกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งต้องยอมรับความหลากหลายของสื่อทุกประเภทในการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นจากมิติต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน
3. นักการเมือง ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิก รวมทั้งคู่ขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ ต้องเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชน ในการแสวงหาข่าวสารข้อเท็จจริง เพื่อนำเสนอต่อสาธารณชน โดยทุกฝ่ายต้องยุติการยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังสื่อมวลชนด้วยวิธีการใดๆ รวมทั้งต้องยุติการใช้สื่อเพื่อโฆษณาชวนเชื่อหรือปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมขยายตัวมากยิ่งขึ้น
4. สาธารณชนต้องมีวิจารณญาณในการรับข้อมูลข่าวสาร เปิดใจให้กว้างในการรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ พึงระมัดระวังในการรับข้อมูลของสื่อ โดยเฉพาะสื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่นำเสนอข่าวสารด้วยความลำเอียง มีอคติ และยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกจนอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในแก้ไขปัญหาทางการเมือง