๑. การชุมนุมของ นปช. ที่ยุติลงโดยไม่มีเหตุการณ์ลุกลามบานปลาย เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยสามารถแก้ปัญหาการชุมนุมได้โดยใช้แนวทางสันติวิธี อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความรุนแรงที่ยังเกิดจากผู้ชุมนุมบางส่วน การปะทะกันระหว่างประชาชน และความปลอดภัยของผู้ชุมนุม
๒. ขอให้รัฐบาลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อมวลชนงดการกระทำและการใช้ถ้อยคำที่ทำให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้ชุมนุม และความเกลียดชังต่อกันและกันในหมู่ประชาชน ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้ง ความแตกแยก และความรุนแรงในสังคมไทยยิ่งมีมากขึ้น ถึงแม้จะมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งที่ละเมิดกฎหมาย แต่เขาเหล่านั้นก็เป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคมไทย ผิดถูกอย่างไรต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
๓. ขอให้รัฐบาลใช้กระบวนทางกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง การดำเนินคดีกับแกนนำ นปช. ต้องใช้มาตรฐานเดียวกันกับการดำเนินคดีกับประชาชนทุกกลุ่มที่ใช้สิทธิและเสรีภาพเกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ
๔. การยุติการชุมนุมเป็นการระงับความขัดแย้งเพียงชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวให้สังคมไทยที่ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในทางการเมืองแต่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติและโดยเคารพสิทธิของกันและกัน สังคมไทยต้องแก้ไขความแตกแยกที่สาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งในทางการเมือง กติการัฐธรรมนูญ และความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยขอให้มีคณะกรรมการอิสระค้นหาความจริงที่เป็นสาเหตุรากเหง้าของความขัดแย้งที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงในสังคมไทย และขอให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขที่สาเหตุของปัญหาโดยเร่งด่วน
“ความขัดแย้งที่จบลงไปเป็นเพียงชั่วคราว แก้ปัญหาระยะยาวต้องใช้ความเป็นธรรม”
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า
สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง
สถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม
กลุ่มประชาชนผู้ไม่เอาสงครามกลางเมือง
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา ๓๕
สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย
ชมรมแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์เพื่อประชาชน (ชพพ.)
เครือข่ายประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้แต่อย่าใช้ความรุนแรง
เครือข่ายนักวิชาการไม่เอาความรุนแรง
๑๔ เมษายน ๒๕๕๒