เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปัจจุบันกับสื่อมวลชน
จากนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันจันทร์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ในหมวดว่าด้วยนโยบายการบริหารจัดการที่ดี ระบุว่า “ส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากทางราชการและสื่อสาธารณะอื่นได้อย่างกว้างขวาง ถูกต้อง เป็นธรรมและรวดเร็ว” โดยไม่ได้พูดถึงหลักประกันในการรับรองเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้เลย ขณะเดียวกันพฤติกรรมของบุคคลในรัฐบาลยังมีท่าทีที่ต้องการจะเข้ามาควบคุมและแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนของรัฐ ดังนั้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ๖ องค์กร ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จึงขอเรียกร้องมายังรัฐบาลดังนี้
๑) รัฐบาลต้องไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๔๕ – ๔๘ และมาตรา ๒๖๕ (๔) บัญญัติไว้ โดยเฉพาะมาตรา ๔๖ ที่ระบุว่า “การกระทําใดๆ ไมวาโดยทางตรงหรือทางออมของผูดํารงตําแหนงทางการเมือง เจาหนาที่ของรัฐ หรือเจาของกิจการ เพื่อขัดขวางหรือแทรกแซงการเสนอขาวหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นสาธารณะ ใหถือวาเปนการจงใจใชอํานาจหนาที่โดยมิชอบและไมมีผลใชบังคับ”
๒) จากคำให้สัมภาษณ์ของนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ว่า รัฐบาลจะเข้ามาจัดระบบสื่อมวลชนของรัฐให้เกิดความสมดุล เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และสามารถปฏิบัติได้ทันที อาทิ การเปิดเวทีให้ฝ่ายอื่นๆ นอกจากฝ่ายรัฐบาล เช่น พรรคฝ่ายค้าน และองค์กรภาคประชาสังคม ได้มีโอกาสใช้สื่อของรัฐในการนำเสนอความคิดความเห็นในโอกาสและเวลาที่เท่าเทียมกันกับการใช้สื่อของฝ่ายรัฐบาล ในรายการ “พูดจาประสาสมัคร” ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
๓) ในการเข้ามาจัดระบบสื่อของรัฐนั้น รัฐบาลจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ…. ที่ต้องมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระ หรือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม (กสทช.) เข้ามาทำหน้าที่จัดสรรและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้น ความพยายามใดๆ ที่จะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนของรัฐ ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
๔) ในกรณีของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชนเพื่อให้เป็นสถานีโทรทัศน์ที่นำเสนอข่าวสาร สาระและความบันเทิง เพื่อประโยชน์สาธารณะด้วยความเป็นกลาง ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองและธุรกิจนั้น ถือเป็นเรื่องที่รัฐบาลสมควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ทั้ง ๖ องค์กร หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้สามารถให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้อย่างสมดุลและเป็นธรรม และตอบสนองสิทธิในการสื่อสารของประชาชนอย่างจริงจัง
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑