แถลงการณ์ร่วมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

เนื่องจาก องค์การยูเนสโกหรือองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศได้ร่วมกันความสำคัญของการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่ประชาชนจะมีเสรีภาพด้วย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญของวันเสรีภาพสื่อมวลชนดังกล่าว พร้อมทั้งขอเรียกร้องรัฐบาลไทยและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับส่งเสริมหรือจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนดังนี้

 

1. แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จะมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนไว้อย่างชัดเจน แต่ภายใต้รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีกลับมีบรรยากาศของการ “คุกคาม บิดเบือน ชวนทะเลาะ” ต่อสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นการคุกคามรูปแบบใหม่ด้วยคำพูดที่ก้าวร้าว หยาบคาย การตอบโต้การทำหน้าที่สื่อมวลชนผ่านสื่อของรัฐโดยเฉพาะในรายการสนทนาประสาสมัคร ที่มักโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเข้าใจผิดในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมทั้งการชวนทะเลาะ กับสื่อมวลชน คอลัมนิสต์ รายการบางรายการของวิทยุและโทรทัศน์ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ซึ่งสวนทางกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าคนในวิชาชีพสื่อมวลชนจะมีความเข้าใจในพฤติกรรมของนายกรัฐมตรีคนนี้ที่มีปัญหากับสื่อมวลชนมาตลอดกว่า 30 ปีแต่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีผู้นี้ ยังคงมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการลดความน่าเชื่อของสื่อมวลชน และทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าสื่อมวลชนเป็นวิชาชีพที่เป็นปัญหาของประเทศ ที่สำคัญเมื่อนายกรัฐ มนตรีประกาศอย่างเปิดเผยว่าจะใช้สื่อของรัฐตอบโต้สื่อเอกชน เสรีภาพการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชนย่อมถูกสั่นคลอน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น                 องค์กรวิชาชีพสื่อ เห็นว่าพฤติกรรมการสื่อสารของนายสมัคร สุนทรเวช แสดงออกถึงความเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นคุณค่าของสื่อในสังคมประชาธิปไตย ด้วยการไม่เคารพศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ

2. จากกรณีที่รัฐบาล โดยเฉพาะนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะจัดระเบียบสื่อของรัฐ วิทยุกระจายเสียง  และวิทยุโทรทัศน์โดยได้ใช้อำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงสื่อที่อยู่ภายใต้สังกัดของกรมประชาสัมพันธ์  กดดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน อสมท. และล่าสุดได้จัดโครงการทดลองพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและวิทยุชุมชนขึ้น โดยเสนอว่าจะเจรจากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ละเว้นการจับกุมสถานีวิทยุชุมชนที่จัดสรรเวลาออกอากาศแก่รายการของรัฐบาล ซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ บีบบังคับทางอ้อมให้สถานีวิทยุชุมชนเข้ามาเป็นพวกพ้อง เพื่อรายงานข่าวของรัฐบาลเป็นหลัก กีดกันผู้มีความเห็นที่แตกต่างและปฏิเสธความหลากหลายของสื่อ ทั้งการต่อรองว่าจะไม่จับกุมนั้นก็หมิ่นเหม่ต่อการฝ่าฝืนกฎหมายและส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มากำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อแก้ปัญหาวิทยุชุมชนโดยเร็ว  และหยุดพฤติกรรมประวิงเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยมีเจตนาแอบแฝง เพื่อให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ไทยอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลต่อไป    3. ตลอดช่วงเวลาหลายปีนักการเมือง ผู้มีอำนาจรัฐและข้าราชการชั้นสูง ได้ใช้กลไกทางกฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือในการปิดกั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเพื่อมิให้ทำหน้าที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ แต่ในขณะนี้ปรากฎว่ามีกลุ่มบริษัทเอกชนไทยและบริษัทข้ามชาติใช้กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นเครื่องมือเช่นกัน  พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายทางแพ่งทั้งรวมเป็นมูลค่าสูงนับพันล้านบาท แสดงให้เห็นชัดเจนว่าไม่ได้ต้องการค่าชดเชย แต่มุ่งหวังให้หยุดการนำเสนอข่าวการกระทำเช่นนี้ เป็นการใช้กลไกทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงขอเรียกร้องให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ทั้งนักการเมือง และองค์กรธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ยุติการใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนดังกล่าว

เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันเจตนารมณ์ในการสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออก อันเป็นเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก เราเชื่อว่า การกระทำใดๆที่ขัดขวางเสรีภาพการแสดงออก ย่อมได้รับการต่อต้านจากประชาชนอย่างแน่นอน หากการแสดงออกนั้นอยู่ในขอบเขตของกฎหมายและจารีตประเพณีอันดีงามของปวงชนชาวไทย

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  www.thaibja.org

 

สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  www.ctj.in.th

 

3 พฤษภาคม 2551

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดทำงานวิจัยเรื่อง “วิวาทกรรม สมัครกับสื่อ” โดยทีมงานมีเดีย มอนิเตอร์  โดยมีบทคัดย่อดังนี้

 

บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษา “พฤติกรรม-แบบแผนและกลวิธีการสื่อสาร” ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ที่มีต่อสื่อมวลชน ว่ามีลักษณะเสริมสร้างและเป็นประโยชน์ต่อการรายงานข่าวเพื่อการพัฒนาสังคมระบอบประชาธิปไตยเช่นไร

โดยคัดเลือกหน่วยศึกษาจากคำสัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ช่วงที่เข้ามารับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนจนถึงปัจจุบัน ทั้งจากในรายการข่าวโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือในรายการนายกสมัครพบประชาชน (ช่วงเดือน ตุลาคม 2550- เมษายน 2551)

กลยุทธ์การสื่อสารที่นายสมัครใช้ คือ ทำให้การสื่อสารสองทางเป็นการสื่อสารทางเดียว การใช้ภาษาข่มขู่ รุนแรง ดุเดือด  การเลี่ยง/เบี่ยงเบน/บิดเบือน/ทำให้หลงประเด็น การพูดความจริงบางส่วน หรือ พูดความไม่จริงบ่อยๆ การทำให้ชอบธรรมกลายเป็นความไม่ชอบธรรม  การลดทอนน้ำหนักของประเด็นคำถาม การสร้างเรื่องใหม่ขึ้นมากลบเกลื่อนประเด็นสำคัญด้วยการใช้เทคนิคการสร้างบท(วิ)วาทกรรมกับสื่อมวลชน 1. ประเด็นการตอบคำถามนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มักตอบคำถามของผู้สื่อข่าวด้วยการให้คำตอบใน 2 ลักษณะที่ชัดเจน คือ 1) ตอบคำถามไม่ตรงประเด็น และ 2) ตอบคำถามที่ไม่ใช่คำตอบ ในขณะเดียวกันการตอบคำถามที่ตรงประเด็นของนายสมัครส่วนใหญ่ จะที่ให้รายละเอียดของข้อมูลที่มีความสำคัญเพียงเล็กน้อย มีลักษณะที่สั้น ห้วน ตัดบท เพื่อให้การตอบคำถามนักข่าวสิ้นสุดอย่างรวดเร็ว แต่หากเป็นคำตอบยาว ๆ ก็มักขาดสาระสำคัญของคำตอบที่ตรงประเด็น

เช่น·     “เขาคิดว่ายังจะมีการเปลี่ยนแปลงกันได้ เขาก็คิดทำกัน แต่มันไม่มีเหตุผล ดังนั้นอย่าให้ความสนใจ ผมถึงไม่ประเมิน คือใครจะทำ ไอ้คนทำก็น่าอายแล้วกัน”,

·        “ผมไม่ทราบเรื่องนี้”,

·        “คำถามแบบนี้คุยกันไม่สนุก”,

·        “คำถามนี้ไม่ตอบ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องไปพูดในสภา”,

·         “ถามแบบนี้แล้วรู้หรือไม่ว่า พรุ่งนี้ฝนตกหรือแดดออก”,

·        “คำถามนี้ผมไม่ใช่หมอดู ไม่ใช่กรมอุตุนิยมวิทยาที่จะมาตอบในสิ่งที่ถามล่วงหน้า”,

·        “คำถามยาว ไม่อยากตอบ ก็บอกย้ำแล้ว ยังจะต้องการอะไรอีก”,

·        “นี่มันถามเรื่องปกติธรรมดา เหมือนถามว่าถ้าเราหิวข้าวต้องกินข้าวใช่มั๊ย”

·        “ผมยังไม่เห็น ทำไม ผมจำไม่ได้ เอามาให้ดูหน่อย”

·        “โฮ้โห! นั่นหรือผม ผมยังไม่รู้เลย ผมไม่เห็น ผมไม่ได้รับรูปนี้”

·        “เอ้า! เรื่องอื่น”  2. กลวิธีการตอบคำถามพบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีกลวิธีการเลี่ยงการตอบ คือ การโจมตีคำถาม การโจมตีผู้สัมภาษณ์ การเปิดประเด็นทางการเมือง การบอกปัดหรือปฏิเสธที่จะตอบ การตั้งคำถามเอากับตัวคำถาม การรับรู้ว่ามีคำถามแต่ไม่อยากตอบคำถามนั้น โดยใช้รูปแบบภาษา คือ การพูดเป็นนัย การพูดโดยให้ผู้อื่นตีความ การพูดแบบประชดประชัน การละคำพูดเอาไว้ และการโกหก

เช่น

·        “เรื่องนี้ไม่ต้องมาถามอีก ขอให้มีสิทธิเข้าไปทำหน้าที่ก่อน”,

·        “ถามอะไรโง่ๆ แบบนี้   เป็นคำถามโง่เง่าที่สุดที่เคยได้ยินมา”,

·     “พวกคุณเขียนกันเองน่ะสิ หนังสือพิมพ์ไปเขียนนั่งเก้าอี้ซ้อนกัน มันเป็นความคิดของคนระดับพวกคุณเท่านั้นแหละ ขอย้ำเลยนะ เพราะพวกคุณคิดกันอย่างนั้น ต้องกระแทกแดกดัน พูดจาเสียดสี ให้เสียให้หาย ทำไมคิดกันได้แค่นั้นเอง ความคิดมีอยู่ระดับแค่นั้นหรือ ทำไมไม่คิดอย่างคนธรรมดาเขาควรคิดบ้างล่ะ”

·     “แล้วมันเป็นไง… แต่ก่อนเนี่ยวิ่งมาหาผมหรือเปล่า ก็ไม่เคยวิ่ง ทีนี้ไปเขียน โอ้โห! ต่อไปนี้บ้านจันทร์ส่องหล้าคนจะเนืองแน่น จะไม่ไปบ้านผม บ้านผมก็ไม่เคยมีใครมา คุณไปเฝ้า บ้านผมก็ไม่มีใครมา”

·     “เขาไม่คิดแบบพวกคุณ เขามีสติปัญญา ความคิด ถามเขายังไม่กล้าถามเลย แต่พวกคุณคิดกันเลอะเทอะ เปรอะเปื้อน น่าอาย น่าขายหน้า ที่คิดที่แสดงออกมาให้คนอ่านได้เห็น มันน่าอายน่าขายหน้า ทำไมเป็นผู้สื่อข่าวมีความคิดเพียงเท่านี้เองหรือ”

·        “เรื่องนี้ไม่ขอตอบ เพราะถือว่า เป็นเรื่องภายในของพรรค”

·        “ผมไม่มีหน้าที่ต้องมาแถลง และพวกที่ถามอย่างนี้มีใครไหว้วานมาหรือไม่ ผมจะไม่ตอบ”

·     “อย่ามาแคะแกะเกา เพื่อต้องการทำให้เกิดความเสียหายแก่พรรค ซึ่งผมจะตั้งข้อกล่าวหาและฟ้องร้องทุกคน พวกคุณรับจ้างใครมาถามหรือไม่”

·     “ผมก็ตอบในส่วนที่ผมรู้ คือ ไม่ตอบไง แต่ยังมาตะบันถามอยู่เรื่อย…คุณอย่ามาล่อผมเลยนะ ไม่สำเร็จหรอก จะบอกให้ฟัง นับอายุพวกคุณก่อนทั้งสามคนนี้ว่าทั้งหมดกี่ขวบ ต่างคนต่างมีหน้าที่อะไร จะมาแคะให้พรรคพังใช่หรือไม่…ไปๆ มาๆ ข่าววันนี้ จะออกว่าอย่างไร รู้มั้ย สมัครรวนผู้สื่อข่าวหรือไม่ ทั้งที่ความจริง พวกคุณรวนผม ผมจะตั้งข้อกล่าวหาไว้ก่อน”

·        “ต่อไปนี้ใครถามอะไรมาจะบอกว่าไม่รู้ ไม่ชี้ ไม่เห็น อย่างนี้สนุกดีและจะได้ไม่มีเรื่อง”

·        “สื่อสารมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง  ชื่อครึ่งไทยครึ่งฝรั่ง  เขียนบทความด่าผมหยาบคาย ต่ำช้า  พูดจาน่าเกลียดน่าชัง”

·     “คนเก่ง ๆ รู้ทุกอย่าง อ่านคอลัมน์หน้า 4 สิครับ รู้ทุกอย่างเก่งทุกอย่าง ทั้งสั่งทั้งสอนทั้งสับทั้งโขก  ไปทำหนังสือพิมพ์หมดครับ  ไอ้คนโง่อย่างผมเท่านั้นมาทำงานการเมือง”

·        “มีไอ้คนโง่อย่างผมเท่านั้น กับพรรคพวกผมโง่ ๆ ดันมาทำการเมือง ถูกเขาสับเขาโขกเขาว่าเขากล่าว”

·     “ผมไม่ออกชื่อใครทั้งนั้น  แต่มี  ผมอ่านทุกวัน  เขียนบทความว่ากล่าวกันแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ  ตั้งใจจะด่าก็ด่าตั้งใจจะว่าก็ว่า  ตั้งใจจะเขียนต่าง ๆ”

·        “ไอ้คนโง่อย่างผมเท่านั้นมาทำงานการเมือง นักการเมืองหน้าโง่อย่างผมเท่านั้นครับที่ได้ไปเจรจากับประเทศ”

·     “ไม่  สำหรับผมไม่มีใครเสียชีวิต ยกเว้นชายผู้โชคร้ายคนหนึ่งที่ถูกทำร้าย และถูกเผาที่สนามหลวง มีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียวในวันนั้น”

·     “เวลานี้มัน 31 ปีแล้ว ผมจำไม่ได้ว่าผมพูดอะไรอย่างนั้น ทำไมพูดอย่างนั้นผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน คือถ้าผมพูดเรื่องนั้นจริง ผมคงไม่พูดอย่างนั้น อย่างนี้ ไม่ทราบ”  3. การใช้ภาษาจากการศึกษาพบว่า นายสมัครมักพูดเสียดสี โดยพาดพิง เปรียบเปรยว่ากระทบกระทั่ง และเหน็บแนมฝ่ายตรงข้าม หรือผู้ที่มีแนวคิด รวมไปถึงความคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ ที่มีแตกต่างไปจากตนเองอย่างสม่ำเสมอ และถือเป็นกลวิธีที่นายสมัครใช้มากที่สุด รองลงมาคือการพูดอุปลักษณ์ การพูดจาอ้อมค้อมวกวนในเรื่องผลงานของรัฐบาล การพูดให้เป็นเรื่องตลก ทั้งหมดก็มีวัตถุประสงค์เพื่อเลี่ยงประเด็นการถูกตรวจสอบ เพราะเน้นแต่จะชี้แจงเรื่องที่มีปัญหากับสื่อมวลชนเท่านั้น

ใช้ภาษาที่รุนแรงเพื่อโต้ตอบสื่อมวลชน น้อยมากที่นายสมัครจะใช้ภาษารุนแรงต่อสาระการดำเนินงานของรัฐบาล

เช่น

·     “รัฐบาลจะปรับขึ้นเงินเดือน ไม่เป็นข่าว  จะมีใครตายไหมที่โรงพิมพ์  คือไม่เสนอข่าวว่าจะขึ้นเงินเดือน คือมาช่วยกัน ช่วยสังคมไทย ถ้าไม่ได้พาดหัวว่าขึ้นเงินเดือน แล้วจะเป็นอย่างไรไหม”

·     “ที่ด่ามานั้นน่าอายสำหรับวงการสื่อสารมวลชนทั้งหมด  ว่านี่หรือสื่อสารมวลชน  สติปัญญาเพียงเท่านี้หรือ  ด่าเขาโดยยังไม่มีเหตุผล  ด่าตั้งแต่ยังไม่ทำงาน”

·       “เท่านั้นแหละครับ  เป็นข่าวกัน  จะเป็นจะตาย ”

·       “ตอบคำถามต้องระมัดระวังนะต่อไปนี้  เพราะว่าพูดผิดเดี๋ยวเกิดเรื่องอีก ”

·       “นี่สำนวนสมัคร  ถามเลยว่าถ้าขายวันจันทร์จะมีใครตายไหม”

·     “ชอบมาเสนอความเห็นชนิดที่ว่านึกว่าตัวเองแน่  เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ก็เป็นไปเถอะครับ  แต่มาเสนอความคิดแบบว่าเพียงแต่คิดจะเอาน้ำมาให้เราก็โง่แล้ว มันแย่จริง ๆ”

·       “ถามว่าอย่างนี้บ้าหรือเปล่า”

·       “ผมต้องตำหนิคนทางสื่อสารมวลชน  ต้องไปหมั่นสัมมนากันหน่อยครับ”

·       “ลองไปนับดูว่าผ่านมา 31 ปีแล้ว แล้วคุณกี่ขวบ ผมไม่อยากพูดเพราะพูดทีไรก็ทะเลาะ มีเรื่องกันทุกครั้ง”

·     “แต่เชื่อไหมครับ พูดเสร็จ อธิบายความเสร็จ ไม่มีสิ่งที่ผมพูดในหนังสือพิมพ์ ในรายงานทุกชนิด กลัวจะได้ประโยชน์ทางการเมือง กลัวว่าการรายงานความคิดเห็นของผมจะเป็นประโยชน์ในทางการเมือง”

·       “ใครเป็นคนเสนอข่าว คุณรับผิดชอบ น่าประหลาดตรงพวกเสนอข่าวไม่ต้องรับผิดชอบ คือ เต๊าเอาข่าวออกมา เอามาให้เสียหาย”  4. การให้ความร่วมมือในการสนทนาพบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มักมีท่าทีที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการสนทนา หรือการสัมภาษณ์ โดยใช้กลวิธีการหลีกเลี่ยงคำตอบ หรือตอบไม่ตรงประเด็น และเมื่อพิจารณาในคุณภาพของคำตอบ ก็มักไม่สมบูรณ์ เพราะ 1) ไม่ให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น เพราะมักบ่ายเบี่ยงตีรวนชวนทะเลาะกับผู้สื่อข่าวจนทำให้ไม่ได้ข้อมูลเหตุผล-เหตุการณ์ที่จำเป็น และ 2) การประโยคซ้ำความ เพราะมักเลือกพูดประโยคซ้ำๆ ไม่ว่าจะเป็นคำตอบต่อสื่อหรือคำถามกลับต่อสื่อมวลชน

เช่น

·       “ผมไม่มีหน้าที่ต้องมาแถลง พวกที่ถามอย่างนี้มีใครไหว้วานมาหรือไม่ ผมจะไม่ตอบ”

·       “คุณไปได้รายงานนั้นมาจากไหน”

·       “ตอนนั้นคุณอายุเท่าไหร่…อายุเท่าไหร่…คุณเกิดหรือยัง?”

·       “ถ้าผมพูดว่า …นักข่าวอย่างคุณเป็นผู้หญิงที่น่ารังเกียจ คุณฆ่าคน คุณจะต้องเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ไม่ ไม่”

·       “ผู้หญิงอย่างคุณ เดินทางมาแสนไกล เพื่อมาถามคำถามแบบนี้เนี่ยนะ แม้แต่คนไทย ยังไม่กล้าถามคำถามแบบนี้กับผมเลย”

·       “คุณอย่ามาล่อผมเลยนะ ไม่สำเร็จหรอก จะบอกให้ฟัง”  5. ภาษาท่าทาง

จากการศึกษา พบว่า นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่มีความโดดเด่นในการแสดงออกทางอวัจนะภาษา โดยแบ่งลักษณะการใช้อวัจนะภาษาออกเป็น 4 ลักษณะ

1. สีหน้าและสายตา มักแสดงขมวดคิ้ว ทำหน้าบึ้งตึงอย่างเห็นได้ชัดในยามที่นักข่าวถามคำถามที่ไม่เข้าหู และบ่อยครั้งมักแสดงสีหน้าอวดดี หงุดหงิด เมื่อต้องการกล่าวโจมตีคู่แข่งขันทางการเมือง หรือในขณะที่กล่าวดูหมิ่นดูแคลนสื่อมวลชน แต่หากอยู่ในช่วงของการเริ่มสัมภาษณ์หรือเริ่มรายการสนทนาประสาสมัคร นายสมัครมักแสดงสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวได้ว่า ผู้ที่สัมภาษณ์สามารถรู้ได้ทันทีว่า นายกรัฐมนตรีกำลังมีความรู้สึกใดอยู่ในขณะนั้น

2 ท่าทาง มักยกมือทั้งสองข้างประกอบการพูดคุยกับสื่อมวลชน อีกทั้งยังพบกรณีที่นายสมัครใช้นิ้วชี้หน้านักข่าวที่กำลังปะทะคารมอยู่ด้วย และท่าทางแข็งกร้าว

3 น้ำเสียง พบว่า น้ำเสียงของนายสมัคร สุนทรเวช ถือเป็นเอกลักษณ์ที่เด่นชัด และสะท้อนบุคลิกโผงผาง ดุดัน นายสมัครมักให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว ห้วน กระชับ ชัดเจน พูดเร็วหรือบางครั้งเรียกได้ว่า พูดรัว มักไม่มีหางเสียงคำว่าครับ บ่อยครั้งที่มักพูดด้วยน้ำเสียงกระแทกแดกดันในกรณีที่กล่าวกระทบกระเทียบบุคคลที่ 3 หรือนักข่าว

4 อารมณ์ พบว่า มักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา เช่น หากไม่พอใจก็จะมีสีหน้าบึ้งตึง คิ้วขมวด โดยเฉพาะเมื่อวิพากษ์สื่อ หรือหากอารมณ์ดี ก็จะมีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลงกว่าปกติ  6. เนื้อหาสาระจากรายการสนทนาประสาสมัครพบเนื้อหา 4 ประเด็นเนื้อหา คือ ด้านการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และเนื้อหาด้านอื่นๆ ที่ส่วนมากเป็นการโต้ตอบ วิพากษ์กลับ แฝงเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดี การดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหาที่ราบรื่นในรัฐบาลของนายสมัคร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำสื่อมาใช้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งนี้ รายการสนทนาประสาสมัครยังถูกใช้เป็นพื้นที่ทางเกมการเมือง เพื่อโต้ตอบกลับกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับตน เช่น สื่อหนังสือพิมพ์-โทรทัศน์ นักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการ และกลุ่มพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  7. การใช้ภาษาที่ไม่สุภาพพบว่า การใช้ภาษาของนายสมัครนั้น มักเป็นคำพูดที่ไม่มีความสุภาพ หยาบกระด้าง และไม่มีหางเสียงอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้พบว่า ลักษณะคำพูดของนายสมัคร จะมีระดับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับอารมณ์ที่ไม่คงเส้นคงวา และโมโหฉุนเฉียวอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดความไม่พอใจในคำถามต่าง ๆ หรือเมื่อต้องการต่อว่า เหน็บแนบ และพาดพิงการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

 

เช่น

·     “หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง  ชื่อครึ่งไทยครึ่งฝรั่ง  เขียนบทความด่าผมหยาบคาย ต่ำช้า  พูดจาน่าเกลียดน่าชัง พูดจาเหมือนกับตดออกมาจากตูดพูด”

·        “ต้องถามว่าอย่างนี้บ้าหรือเปล่า”

·        “ผมจะถามว่านี่บ้าอะไรกันขนาดนี้ครับ”

·     “เป็นสันดานโทรทัศน์ เลวทราม ต่ำช้า ให้มันรู้ไป ถ้าออกไปแล้วคนจะไม่เลือก นี่แหละผม รู้จักนิสัย นายสมัคร แท้ๆ จะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่ดัดจริต พูดปากตรงกับใจ แล้วสื่อเป็นอย่างไร เป็นพ่อคนทั้งเมืองหรือไง”

·     “โธ่ไอ้บ้า คิดมาได้อย่างไร ตอนนี้สื่อก็มากล่าวหาผม ไอ้พวกสื่อสารมวลชนใจทรามต่ำช้า พวกมึงบ้าหรือเปล่าที่มากล่าวหาผม ว่าพูดคำว่าเสพเมถุน”

·        “รัฐธรรมนูญ เฮงซวย”

·        “ผมว่าใครแรง ๆ แสดงอาการไม่เข้าท่า  ผมบอกไอ้นี่มันสมองเท่าหัวแม่เท้า”

·        “เมื่อคืนไปร่วมเมถุนกับใครหรือไม่”

·        “ถามทำหอกอะไร ?”  8. วิวาทกรรมสมัครกับสื่อวาทกรรมของนายสมัครที่ใช้กับสื่อ เพื่อสื่อความหมายไปยังผู้รับสาร คือประโยค ข้อความใดก็ตามที่จะทำให้ผู้รับสารเชื่อว่า สื่อมวลชนไทยไม่น่าเชื่อถือ มีปัญหา เป็นพวกตีรวนชวนทะเลาะ ไม่มีมาตรฐานการรายงานข่าว จ้องทำลายล้มรัฐบาล เกลียดตนเอง ไม่เป็นกลาง และจ้องแต่จะคิดขายข่าวจนไม่สนใจข้อเท็จจริง เต้าข่าวเขียนข่าวขึ้นมาเอง ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จแก่สาธารณะ และไม่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคม

ทั้งหมดคือ “ความมุ่งหมาย” ของ “วาทกรรม” ที่สมัครใช้ในการ “วิวาทะ” กับสื่อ

ด้วยการใช้กลวิธีการสื่อสารที่ไม่ให้ความร่วมมือ การตอบคำถามเพื่อบ่ายเบี่ยง เลี่ยงประเด็น การใช้กลวิธีทางภาษาโต้ตอบกลับในลักษณะคำถามกลับ เช่น มีปัญหาอะไรกับเรื่องนี้ ถามหาอะไร มีใครตายจากเรื่องนี้ สติปัญญาสื่อมีแค่นี้ ซึ่งเป็นบทสนทนาที่ไม่สุภาพ เพื่อควบคุมเกมการสนทนา ทำให้เป็นการสื่อสารทางเดียวเพื่อที่ตนจะไม่ต้องให้ข้อมูล หลังจากนั้นจึงใช้ภาษาเชิงโน้มน้าวใจว่าตนถูกรังแก ถูกให้ร้าย และวาทกรรมที่นายสมัครสร้างและมักใช้มากที่สุดคือ คือขอเวลาให้ตนได้ทำงาน ขณะที่ก็ปิดท้ายว่ากล่าวตักเตือนคนที่มาวิพากษ์วิจารณ์ตนกลับว่าไม่มีจริยธรรม หยาบคาย และเป็นผู้ร้าย

เช่น

·        “สติปัญญานักข่าวมีคิดได้เท่านี้เหรอ มันน่าอายจริงๆ นะคิดได้ยังงี้เนี่ย”

·        “ผมรู้สึกว่าพวกคุณน่ะมีความคิดอ่านกันเพียงเท่านี้หรือ ระดับความคิดมีแค่นี้เท่านั้นใช่ไหม”

·        “กระทบกระแทกแดกดันพูดจาเสียดสีให้เสียให้หาย  ทำไมคิดกันได้แค่นั้นเอง  ความคิดมีอยู่ในระดับแค่นั้นเองหรือ”

·     “ผมก็ไม่ได้พูดจาอย่างนี้มานานแล้ว  ก็ฟัง ก็อ่าน แล้วผมก็อมยิ้มว่าทำไมสติปัญญาในการแสดงความคิดเห็นมีได้เพียงแค่นี้ เอาผมถามจริงๆ ว่ามีได้เพียงแค่นี้หรือ”  ผลการศึกษาสรุปว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ขาดความเข้าใจเรื่องบทบาท สถานภาพ และหน้าที่ของตนและผู้อื่น เพราะนายสมัคร (ในฐานะผู้พูด) มีกลวิธีการสื่อสารความที่ไม่เป็นมิตรกับสื่อ และไม่สร้างเสริมประโยชน์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะข้อความที่สื่อได้จากการทำข่าวนั้นไม่สามารถสร้างผลประโยชน์ได้ ไม่นำไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการตรวจสอบรัฐบาลได้

ไม่ว่าจะเป็น

(1) แง่มุมของการให้ความร่วมมือ – (none cooperate in conversation/inetview) ทั้งจากการไม่ตอบคำถาม การบ่ายเบี่ยงเลี่ยงประเด็น การให้เหตุผลแก้ตัว การปฏิเสธความผิด การฟ้องร้องและกล่าวโทษผู้อื่น การย้อมคำถามกลับไปยังตัวผู้ถาม การควบคุมบทสนทนาและการสื่อสารให้เป็นไปในทางเดียว

(2) การให้ความคิดเห็น ความรู้สึกมิใช่ข้อเท็จจริง (fact) ทั้งจากคุณภาพของข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงแต่เน้นให้ความคิดเห็นส่วนตัว การแสดงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวเช่นหงุดหงิด โกรธ และใช้กระบวนการตีรวนชวนทะเลาะมาบังหน้าการสนทนาเพื่อปกปิดข้อมูล-คำตอบ ซึ่งบางครั้งก็ใช้วิธีการการปฏิเสธว่าตนไม่สามารถให้ข้อมูลได้ การอ้างว่าคำถามของนักข่าวมิสามารถจะถามได้และเป็นการไม่สมควรถาม

(3) การให้ข้อมูลที่จำเป็น ถูกต้อง ครบถ้วน (accuracy) ทั้งจากการให้ข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์และตรงกับคำถาม ให้ข้อมูลเพียงบางส่วนหรือเพียงครึ่งเดียว การปกปิด เบี่ยงประเด็น การยกตัวอย่างเปรียบเทียบที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่จำเป็นกับคำตอบ การให้ข้อมูลมากเกินความจำเป็น

(4) การใช้ภาษาที่ไม่เป็นมิตร ขาดความสุภาพและขาดน่าเชื่อถือ (Aggressive, Impolite and incredibility) ทั้งจากภาษาพูด และอวัจนะภาษาที่แสดงออกถึงความก้าวร้าว รุนแรง ดุเดือด การใช้คำพูด เสียดสี ประชดประชัน สำนวนโวหารเหน็บแนม การใช้จากจังหวะคำพูดที่สะท้อนให้เห็นความต้องการปกปิด เบี่ยงเบนข้อเท็จจริง การให้ข้อมูลด้านเดียว

(5) การสื่อสารเพื่อเล่นเกมทางการเมือง ทั้งจากการโฆษณาประชาสัมพันธ์รัฐบาล การปกป้องและแก้ต่างรัฐมนตรี การโน้มน้าวใจผู้ฟังให้เชื่อ การกล่าวโจมตีกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งไม่ได้ส่งผลประโยชน์โดยตรงไปยังการดำเนินงานกิจการการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง ขาดเนื้อหาการดำเนินงานของรัฐตามนโยบายที่ประกาศหาเสียง  (politics game not public interest)

(6) ความไม่เข้าใจในสถานภาพและบทบาทของตนในกระบวนการสื่อสารทางการเมือง ไม่สอดคล้อง-ส่งเสริมต่อการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งจากพฤติกรรมการสื่อสารที่ไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อมวลชนในการรายงานข่าว ไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์ ไม่นำเอาคำวิจารณ์มาปรับปรุงแก้ไข ไม่เข้าใจธรรมชาติของสื่อ แทรกแซงสื่อด้วยการไม่ให้ความร่วมมือกับสื่อในการให้ข้อมูล ปกปิด เบี่ยงเบน เลี่ยงประเด็น มีพฤติกรรมคุกคามสื่อในลักษณะขู่ ท้าทายไปยังตัวบุคคลและสื่อหลายองค์กรว่าจะเอาเรื่อง เป็นพฤติกรรมคุกคามสื่อ ส่งผลต่อคุณภาพข้อมูลข่าวสารและความต้องการรู้ของประชาชน เท่ากับเป็นการแทรกแซงสื่อโดยอ้อม

และด้วยรูปแบบ พฤติกรรมการสื่อสารของนายสมัคร สุนทรเวช แสดงออกถึงความเพิกเฉย ไม่สนใจ มองไม่เห็นคุณค่าของสื่อมวลชนในสังคมประชาธิปไตย ด้วยการไม่เคารพศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของสื่อ

แท็ก คำค้นหา