แถลงการณ์ คัดค้านการรวมกสช.และกทช.

เครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปสื่อไทยซึ่งประกอบด้วย สมาคมวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ ภาควิชาการ องค์กรเอกชนและภาคเอกชน รวม 26 องค์กรดังมีรายนามข้างท้าย ขอคัดค้านการหลอมรวมองค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดสรรคลื่นความถี่กิจการวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อ และมาตรา 40ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ปิดกั้นโอกาสการเข้าถึง สื่อของผู้ประกอบการรายย่อยและภาคประชาชน ไม่มีหลักประกันป้องกันการผูกขาดสื่อโดยรัฐและทุนขนาดใหญ่

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 คือทำลายการผูกขาดสื่อวิทยุโทรทัศน์ จัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็น ธรรม เปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆเข้าถึงการใช้คลื่นความถี่อย่างทั่วถึงและกว้างขวาง จึงเป็นเหตุให้กำหนดมีสององค์กรคือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.)และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เพื่อแยกการกำกับดูแลกิจการสองกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน แต่ปัญหาความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาที่ผ่านมาทำให้ กสช.ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ กทช. ที่เกิดขึ้นแล้วก็ถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงาน เท่ากับว่ายังไม่เคยมีการทดลองใช้โครงสร้าง 2 องค์กรอย่างแท้จริง

แนวคิดรวมองค์กรเป็นการรวมอำนาจ ที่ควรแยก เป็นอิสระจากกันให้มาอยู่ด้วยกันภายใต้องค์กรเดียว ทำให้ การถ่วงดุลอำนาจและความเป็นอิสระไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ นอกจากนี้ ยังปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงสื่อของผู้ประกอบการรายย่อยและภาคประชาชน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ได้

อำนาจเดิมของสององค์กร คือกำหนดนโยบายและกำกับดูแล แต่อำนาจขององค์กรใหม่นี้ ถูกลดลงเหลือเพียงหน้าที่กำกับดูแล โดยให้การกำหนดนโยบาย รวมทั้งวิธีการให้ได้มา การตรวจสอบและประเมินผล คณะกรรมการใหม่เป็นของรัฐบาลจึงเป็นการ เพิ่มอำนาจรัฐ แต่ลดทอนอำนาจของภาคประชาชน ทำให้องค์กรดังกล่าวมีโอกาสถูกครอบงำและไม่ปลอดจากการแทรกแซง

2.การหลอมรวมองค์กรทำให้กระบวนการปฏิรูปสื่อถูกลดทอนความสำคัญลง เนื่องจากคุณลักษณะเฉพาะของกิจการโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์แตกต่างกัน องค์กรใหม่ให้น้ำหนักกับการจัดการเทคโนโลยีมากกว่าเนื้อหา จึงทำลายอุดมการณ์ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพด้านวิทยุโทรทัศน์ นอกจากนี้การกำกับดูแลด้านเนื้อหาวิทยุโทรทัศน์ ยังเป็นประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประชาชนทั่วไป จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ ควรมีองค์กรรับผิดชอบโดยตรง และเป็นอิสระจากการจัดการด้านโทรคมนาคม เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะป้องกันการแทรกแซงและผูกขาดโดยทุนธุรกิจและฝ่ายการเมือง

3.องค์กรเดียว จะควบรวมอำนาจมหาศาล ประชาชนขาดหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

เมื่อรวมองค์กรจะทำให้เกิดการผูกขาดทั้ง 3 อำนาจคือ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ในหน่วยงานเดียวกัน ทำให้กระบวนการถ่วงดุลและคานอำนาจเชิงหลักการและโครงสร้างซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเดิมไม่อาจเกิดได้อย่างสมบูรณ์ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 23 (11) และ (12) ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของกสช. กินความกว้างขวางไปถึงการรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร จึงต้องมีองค์กรเฉพาะมาดูแล

4. การกำหนดให้มี “องค์กรหนึ่ง” ตามมาตรา 47 ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการลิดรอนสิทธิอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากข้อกำหนดดังกล่าวมีความสำคัญและส่งผลกระทบอย่างมากต่อส่วนรวม จึง ควรให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ควรให้เป็นความรับผิดชอบและให้อิสระกับอำนาจนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง

ก่อนหน้านี้ แม้จะมีกระบวนการประชาพิจารณ์ แต่ก็จัดทำด้วยความเร่งรีบ ไม่ได้รับฟังความเห็นจากทุกกลุ่มอย่างกว้างขวางเพียงพอ อีกทั้งยังมีลักษณะชี้นำและมีข้อสรุปล่วงหน้าไว้แล้วว่าต้องการรวมองค์กร ซึ่งขัดกับหลักการประชาธิปไตย อีกทั้งการกำหนดระบุ องค์กรเดียว ไม่ยืดหยุ่นและไม่รองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

5.ตามรายงานที่มีการศึกษาวิจัย ตัวอย่างการหลอมรวมองค์กรในต่างประเทศยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลดีอย่างแท้จริง และยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางของนานาชาติ องค์กรหลายแห่งซึ่งได้ดำเนินตามแนวทางดังกล่าวก็ประสบปัญหา อีกทั้งประเทศไทยก็มีสภาพแวดล้อมและบริบททางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน จึงควรพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆประกอบด้วย

ด้วยเหตุผลและข้อมูลดังกล่าว 26 องค์กรดังรายนามข้างท้ายนี้ ขอยืนยันถึงความจำเป็นที่ต้องแยกให้มีองค์กรอิสระเป็นสององค์กรเพื่อกำกับดูแลจัดสรรคลื่นความถี่โทรคมนาคม และวิทยุโทรทัศน์ เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและยืนยันเจตนารมณ์ของประชาชนในการปฏิรูปสื่อ ตามมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 และควรมีการปฏิรูปกรรมสิทธิ์องค์กรสื่อของรัฐอย่างเร่งด่วน โดยองค์การของรัฐที่เป็นเจ้าของสื่อ สามารถริเริ่มการปฏิรูปได้ทันทีตามเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อของประชาชนที่วางแนวทางไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540

19 มิถุนายน 2550

เครือข่ายสนับสนุนการปฏิรูปสื่อไทย ประกอบด้วย
สภาสถาบันนักวิชาการสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (สสมท.)
คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
สาขาวิชาการสื่อสารมวลชน คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เครือข่ายปฏิรูปสื่อภาคประชาชน
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
สมาคมผู้ประกอบวิชาชีพวิทยุท้องถิ่นไทย
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.)
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)
ขบวนการตาสับปะรด
สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
เครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ
เครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนา
เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ 17 จังหวัด
สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน
เครือข่ายสื่อภาคประชาชนคนอีสาน
สมาพันธ์วิทยุชุมชนภาคตะวันออก

แท็ก คำค้นหา