แถลงการณ์ร่วมเนื่องในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

เนื่องในโอกาสการฉลองการที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อให้ประชาชนของทุกประเทศได้ร่วมรำลึกถึงความสำคัญของการที่สื่อมวลชนจะต้องมีเสรีภาพ ซึ่งย่อมหมายถึงการที่ประชาชนจะมีเสรีภาพด้วย

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขอร่วมรำลึกถึงความสำคัญของเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมทั้งขอเรียกร้องมายังรัฐบาลไทยและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมหรือจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชนดังนี้

1. แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 จะมีบทบัญญัติรับรองเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนไว้ในมาตรา 3 ซึ่งระบุไว้อย่างคลุมเครือ และยากจะตีความให้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนได้อย่างชัดเจน จึงเป็นเรื่องง่ายที่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง จะนำเอากฎหมายที่มีเนื้อหาในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน มาใช้เพื่อข่มขู่หรือปิดกั้นการนำเสนอข่าวสารและความคิดเห็นอย่างเสรีของสื่อมวลชนทั้งหลาย โดยหลายครั้งนำไปสู่การ “ปิดกั้น” หรือ “เซ็นเซอร์ตัวเอง” ของสื่อมวลชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล โดยเฉพาะสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

2. จากการที่รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง พยายามให้เสรีภาพในการเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นแก่สื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ค่อนข้างมาก กลับปรากฏร่องรอยของความพยายามในการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อ “อินเทอร์เน็ต” ซึ่งถือเป็น “สื่อใหม่” ที่ตามข้อเท็จจริงแล้ว แทบจะไม่สามารถปิดกั้นได้เลย และนับวันจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ในการบริโภคข่าวสารของประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ

3. ด้วยเหตุนี้ จึงถือโอกาสเรียกร้องไปยังเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ทำงานอยู่ใน “สื่อกระแสหลัก” ให้ยอมรับ “การเกิดและการดำรงอยู่” ของสื่อใหม่ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว และเข้ามาเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการสื่อสารทางเดียว ไปสู่การสื่อสาร 2 ทางหรือหลายทาง ซึ่งต่างก็ต้องการเสรีภาพในการทำงาน ขณะเดียวกัน ก็ต้องตกอยู่ในภาวะที่สุ่มเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดปัญหาความไม่สงบและความมั่นคงของประเทศ

4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหลาย ดังมีรายชื่อข้างต้น จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมสื่อมวลชนยุคใหม่ และพยายามมองความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีนี้ในด้านดี เช่น ในฐานะเป็นเวทีเสรีที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี ดังนั้น การดำเนินการปิดกั้นเสรีภาพในโลกดิจิตอลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง

5. นอกจากปัญหาเสรีภาพของสื่อใหม่แล้ว ประเด็นปัญหาด้านสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนเดิม อาทิ การดำรงอยู่ของพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 และความล่าช้าในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฎิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งเสริมเสรีภาพสื่อมวลชน เช่นกันสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.tja.or.th
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย www.thaibja.org
สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย www.ctj.in.th
3 พฤษภาคม 2550
ประวัติความเป็นมาของวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พฤษภาคม

เมื่อปี พ.ศ.2534 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก้ ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เพื่อย้ำเจตนารมณ์และหลักการที่เป็นพื้นฐานของเสรีภาพสื่อมวลชนทั่วโลก ซึ่งก็คือเสรีภาพในการแสดงออก โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นวาระที่ประเทศต่างๆ รัฐบาล ประชาชน และสื่อมวลชนเองจะได้ร่วมกันปลุกจิตสำนึก พิจารณาและพัฒนาข้อคิดข้อเสนอต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน ทั้งยังเป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันเฉลิมฉลองและประเมินสถานการณ์ของเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชน

ถึงแม้การเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2536 แต่ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อปลายปี 2491 โดยบัญญัติเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ 19 ความว่า “ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงเสรีภาพภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และที่จะแสวงหา รับ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และความคิดเห็น ไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

สำหรับการเฉลิมฉลองวันเสรีภาพสื่อฯปีนี้ เน้นการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิพื้นฐานของมนุษยชนในการแสดงออก และเสรีภาพสื่อมวลชนเพื่อเป็นการประกันสิทธิที่จะหลุดพ้นจากความยากจน ทุกวันนี้มีผู้คนกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกที่มีรายได้ไม่ถึงวันละหนึ่งเหรียญสหรัฐ และอีกสองพันเจ็ดร้อยล้านคนมีรายได้น้อยกว่าวันละสองเหรียญสหรัฐ เมื่อพ.ศ. 2543 องค์การสหประชาชาติประกาศให้การขจัดความยากจนเป็นเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัศวรรษที่สำคัญที่สุด โดยกำหนดว่าจะลดจำนวน2558 ผู้ที่ยากจนที่สุดและหิวโหยลงครึ่งหนึ่งภายใน พ.ศ. 2558

สื่อมวลชนจะขจัดความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ได้โดยเสรีและปลอดภัย สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ(IFJ)แจ้งว่า เมื่อปีพ.ศ.2548 มีผู้สื่อข่าวและสื่อมวลชนถูกฆ่าตายในหน้าที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 150 คน สถิตินี้มีแนวโน้มว่าสูงขึ้นทุกปีต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว นักข่าวเป็นอาชีพที่เสี่ยงอันตรายมากขึ้นทุกที นอกจากการเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ภาคสนามแล้ว นักข่าวและสื่อมวลชนอื่นๆก็ยังเผชิญการข่มขู่คุมคาม ปีที่แล้ว มีสื่อมวลชนโดนกักกัน หรือจำคุกมากกว่า 500 คน และมีผู้สื่อข่าวบาดเจ็บหรือเสียชีวิตมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะสงครามในอิรัคได้คร่าชีวิตนักข่าวไปถึง 60 คน ในช่วงเดือนมีนาคม 2546 ถึง ธันวาคม 2548

แท็ก คำค้นหา