แถลงการณ์ กรณี พีทีวี เอเอสทีวีและปัญหาไอทีวี

แถลงการณ์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กรณี พีทีวี เอเอสทีวีและปัญหาไอทีวี

ความสับสนและวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ สื่อมวลชนมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายกรณี บางประเด็นถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณี สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี พีทีวี ที่นำไปสู่ความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ อีกทั้งยังมีปัญหากรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งล่าสุด คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้สำนักปลัดสำนักนายกฯ บอกเลิกสัญญาสัมปทานได้ หากไม่สามารถชำระหนี้ค่าปรับและค่าสัมปทานค้างจ่ายได้ภายในวันที่ 6 มีนาคม 2550 ท่ามกลางความวิตกว่า ไอทีวีจะถูกนำกลับไปเป็นสื่อภายใต้กำกับของรัฐ และอาจถูกแทรกแซงได้ทั้งจากอำนาจทางการเมืองและกลุ่มทุน

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างมาก จึงมีข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

1.ขอให้รัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการอย่างยุติธรรม โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในกรณี พีทีวี เอเอสทีวีและโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม รวมทั้งสื่ออื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ยังไม่มีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสช.)และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ให้ยึดกระบวนการทางกฎหมายและหลักการเดียวกันเป็นสำคัญ

2. กรณีสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หากบมจ.ไอทีวี ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด และสำนักปลัดสำนักนายกฯ จะยึดสัมปทานคลื่นความถี่กลับคืนมา พร้อมตั้งคณะกรรมการบริหารคลื่นเพื่อดูแลเป็นการชั่วคราวนั้น สมาคมฯขอเรียกร้องให้ การดำเนินการใดๆ ต่อสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ให้ยึดเจตนารมณ์การก่อตั้ง ไอทีวีเป็นสำคัญ คือดำรงสถานะความเป็นสถานีข่าวสารและสาระและสนองตอบประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ นอกจากนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่สังคมเชื่อถือ ยอมรับได้ ต้องเป็นอิสระในการทำงานโดยไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดและรัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจนว่าคณะทำงานดังกล่าวมีระยะเวลาทำงานนานเท่าใด ในเวลาเดียวกัน กองบรรณาธิการข่าวและฝ่ายรายการก็ต้องไม่ถูกแทรกแซง

3. หากรัฐบาลต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพื่อมาอุดหนุนหรือดำเนินการใดๆ ในอันที่จะคลี่คลายปัญหาในสถานีโทรทัศน์ไอทีวี จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประชาชน

4. สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เคยมีบทบาทเด่นในด้านการนำเสนอข่าวสารสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นผู้ที่บริหารสถานีต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นใคร ควรใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้สถานีได้แสดงบทบาทหน้าที่สื่อมวลชนที่รับใช้สาธารณะเต็มที่

5. บทเรียนที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่าสื่อโทรทัศน์ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากกับสังคม ได้ถูกนำไปใช้และตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ต่างกรรม ต่างวาระ หากรัฐบาลจริงใจในการปฏิรูปสื่อก็ต้องประกาศนโยบายอย่างชัดเจนและปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างในการสนับสนุนและส่งเสริมสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่เพื่อสังคมอย่างแท้จริง ด้วยความเป็นธรรม

28 กุมภาพันธ์ 2550
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย(www.thaibja.org)

แท็ก คำค้นหา