การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

แถลงการณ์ร่วมสมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน
เรื่อง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง

ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ กำลังลุกลามนำไปสู่ความขัดแย้งในเกือบทุกภาคส่วนของสังคมไทย ขณะที่สิทธิเสรีภาพในการนำเสนอและแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นสาธารณะของสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นกลไกที่สำคัญยิ่ง ที่จะนำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคม แต่ปรากฏว่าการทำงานของสื่อมวลชนต่างๆ กลับถูกกลุ่มบุคคลที่อยู่ในอำนาจ ข่มขู่ และคุกคามอย่างหนัก ทั้งโดยการอาศัยกลไกอำนาจรัฐและพลังมวลชนที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการจัดตั้งโดยกลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ทางการเมือง ดังจะได้กล่าวต่อไปนี้

1. สื่อประเภทวิทยุ โทรทัศน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อในความควบคุมของรัฐได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรายงานเหตุการณ์ต่างๆอย่างตรงไปตรงมา และเป็นธรรมมากที่สุด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง หากแต่ความพยายามดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคคลากรด้านข่าวหลายกรณี ดังจะเห็นได้จากกรณีที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ผู้ดำเนินรายการ “ข่าววันใหม่”ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ถูกยกเลิกการทำหน้าที่พิธีกร ด้วยเหตุผลที่แท้จริงคือ นายบุญยอดได้แสดงความเห็นที่ทำให้ผู้มีอำนาจเชื่อว่าไม่เป็นผลดีต่อตนเอง จนทำให้ผู้เกี่ยวข้องปลดนายบุญยอดออกจากการเป็นพิธีกรอย่างกะทันหัน

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่ารายการ”สีสันวันหยุด” ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุความถี่ 94.0 เมกกะเฮิร์ทซ์ ดำเนินรายการโดยนางยุวดี ธัญญศิริ และนางอัมพา สันติเมทนีดล ก็ถูกถอดจากพิธีกรรายการดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า รายการนี้ ได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและพรรคไทยรักไทยอย่างตรงไปตรงมา

กรณีล่าสุด นายเฉลิมชัย ยอดมาลัย บรรณาธิการข่าวภาคเช้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ถูกคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง อันเนื่องมาจากการนำเสนอข่าวที่ทำให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลไม่พอใจ แม้ว่าจะมีการชี้แจงเหตุผลว่าไม่เกี่ยวกับการแทรกแซงหรือคุกคามสิทธิเสรีภาพของสื่อ เป็นเหตุผลด้านการบริหารงานภายใน แต่ในเบื้องลึกแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นวิธีการกล่าวอ้างเพื่อความชอบธรรมในการจัดการกับคนข่าว ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่พึงประสงค์

2. ในส่วนของหนังสือพิมพ์ มีหลักฐานปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีผู้อยู่เบื้องหลังให้มีการประท้วงการนำเสนอข่าว อาทิ กลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างที่ไปประท้วงหนังสือพิมพ์แนวหน้ากรณีที่เสนอข่าวว่าพวกเขาได้รับค่าจ้างในการออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนนายกรัฐมนตรี หรือกรณีที่มีพ่อค้า แม่ค้า และผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างมาวางพวงหรีดให้กับหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น และเรียกร้องให้รายงานข่าวอย่างเป็นกลาง ก็มีสิ่งที่ทำให้เชื่อได้ว่า มีผู้ดำเนินการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น โดยที่ชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมหลายคนแทบไม่รู้เรื่องราวของการเสนอข่าวที่อ้างว่าไม่เป็นกลางเลยว่านำเสนอในสื่อไหน เรื่องอะไร และเมื่อได

3. ในการให้สัมภาษณ์หรือกล่าวปราศรัยต่อประชาชนของนายกรัฐมนตรีหรือแกนนำรัฐบาลคนอื่นๆ ก็มักจะโจมตีสื่อมวลชนว่า ไม่ให้ความเป็นธรรม และทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง ตลอดจนถึงการกล่าวหาว่ามีการบิดเบือนการนำเสนอข่าวโดยปราศจากเหตุผลที่น่าเชื่อถือรองรับ อีกทั้งยังขาดความเข้าใจในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนและล่าสุดได้มีการประกาศฟ้องร้องหนังสือพิมพ์หลายฉบับในคดีหมิ่นประมาท ที่แม้ว่าจะเป็นสิทธิที่จะทำได้ตามกฎหมาย แต่ถือว่าเป็นรุปแบบหนึ่งในการปิดปากหนังสือพิมพ์ของนักการเมือง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยในฐานะที่เป็นองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอยืนยันว่า สื่อมวลชนทุกแขนงได้พยายามทำหน้าที่ในการรายงานและแสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้อย่างครบถ้วน รอบด้านและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และขอทำความเข้าใจว่า สื่อมวลชนทุกแขนงมีอิสระในการพิจารณาข่าวและแสดงความคิดเห็น ตลอดจนแสดงออกซึ่งจุดยืนต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ประชาชนผู้รับสาร มีสิทธิก็ที่จะเชื่อถือ เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กับสื่อนั้นๆเช่นเดียวกัน

ส่วนประเด็นที่มีกลุ่มบุคคลบางฝ่าย เรียกร้องให้สื่อมวลชนด้วยความเป็นกลางนั้น สมาคมวิชาชีพทั้งสองสมาคม อยากทำความเข้าใจว่า จำเป็นที่จะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยในบริบทที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถดูจากเนื้อที่หรือ เวลาในการนำเสนอเพียงด้านเดียว ทั้งนี้ ในกระบวนการทำงานของสื่อมวลชนนั้น จะมีข้อมูลจากทุกด้านหลั่งไหลเข้ามา สื่อจึงมีหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณาว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งใดคือความถูกต้อง สิ่งใดที่ไม่เป็นธรรม และนำเสนอไปตามที่แต่ละองค์กรพิจารณาด้วยความรอบคอบแล้ว ทั้งนี้ ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับข่าวสารข้อมูลย่อมมีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้

หากผู้ตกเป็นข่าวเห็นว่า การทำหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ฉบับใด ไม่เป็นตามกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ก็สามารถใช้ช่องทางการตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ผ่านช่องทางสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติได้ตลอดเวลา

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอยืนยันว่า องค์กรสื่อมวลชนทั้งหลาย จะยึดมั่นในหลักการทำงาน ด้วยความอิสระ เสรีภาพ และยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อสร้างหลักประกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เพราะเสรีภาพสื่อ ก็คือเสรีภาพของประชาชน นั่นเอง

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
www.tja.or.th

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
www.tbja.org

23 มีนาคม 2549

 

แท็ก คำค้นหา