แถลงการณ์คัดค้านการแปรสภาพกรมประชาสัมพันธ์

แถลงการณ์คัดค้านการแปรสภาพกรมประชาสัมพันธ์
โดย 5 องค์กรพันธมิตรการปฏิรูปสื่อ

การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2548 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างกรมประชาสัมพันธ์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( ก.พ.ร ) เสนอ และมีมติเห็นชอบในหลักการให้แปรสภาพสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) และสถาบันการประชาสัมพันธ์ เป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Units-SDU) นั้น

5 องค์กรพันธมิตรการปฏิรูปสื่อ คือ สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงคัดค้านนโยบายรัฐบาลในการแปรสภาพกรมประชาสัมพันธ์ ดังกล่าวทั้งนี้เพราะการอ้างเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานในลักษณะนี้ถือเป็นหักล้างเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียง และ โทรทัศน์ของภาครัฐ ซึ่งควรถือเป็นสื่อสาธารณะของประชาชน แต่มีกรมประชาสัมพันธ์ทำหน้าที่ดูแลแทนอยู่ในปัจจุบัน

5 องค์กรพันธมิตรการปฏิรูปสื่อ เห็นว่านโยบายนี้นับเป็นการแสดงความพยายามอีกครั้งของรัฐบาลในการใช้อำนาจบริหารบิดเบือนเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ ก่อนที่จะมีองค์กรอิสระคือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ…..

อีกทั้งนโยบายของรัฐครั้งนี้ยังสะท้อนวาระซ่อนเร้นชัดเจนว่าอาจจะนำไปสู่การเปิดช่องทางให้ภาคธุรกิจใกล้ชิดการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากสื่อสาธารณะซึ่งเป็นสมบัติของชาติและประชาชน แม้รัฐบาลจะมีการอ้างเรื่องการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน แต่หากการดำเนินการ ยังคงมีเงื่อนไขเรื่องการหารายได้จากการโฆษณาและผลกำไรไม่สิ้นสุดแล้ว ในที่สุดประโยชน์ที่ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และ สังคม จะได้รับจากสื่อวิทยุกระจายเสียง และ วิทยุโทรทัศน์ ก็ต้องตกอยู่ในเงื่อนไขของกลไกการตลาด อย่างที่เคยเป็นมา
ทั้งที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญรวมทั้งที่ปรากฏในกฎหมายประกอบที่ประกาศใช้แล้ว คือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2543 และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 40 ได้กำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ประกอบการด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ พึงทำหน้าที่เพื่อบริการสาธารณะหรือประชาชน เช่นเดียวกับบริการอื่น ที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบดูแลให้ประชาชน เช่น การศึกษา สุขภาพฯ แต่เหตุที่สื่อวิทยุกระจายเสียง และ โทรทัศน์ เป็นช่องทางหารายได้ได้ ดังนั้น แทนที่จะปรับปรุงสื่อ ภาครัฐ ให้เตรียมพร้อมที่จะเป็นเสื่อเพื่อบริการสาธารณะอย่างไม่เปิดช่องทางการหารายได้หรือแสวงหาประโยชน์อื่นใด รัฐบาลกลับพยายามดำเนินการให้สื่อภาครัฐห่างไกลจากการเป็นของประชาชน

เพื่อแสดงถึงการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลในทางที่ชอบ และ เพื่อสนองเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญในการปฏิรูปสื่อที่เป็นธรรม 5 องค์กรพันธมิตรการปฏิรูปสื่อ จึงใคร่ขอให้ คณะรัฐมนตรี และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวนและยุติการดำเนินการใดๆต่อเนื่องจากมติ ค.ร.ม ที่อ้างข้างต้นนี้ อีกทั้งขอให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการปฏิรูปสื่อด้วยการดำเนินการออกกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ฯ อย่างคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ภาคประชาชน อีกทั้ง เปิดโอกาสให้ภาคสาธารณะได้รับคำชี้แจง แสดงความคิดเห็น และการร่วมตัดสินใจในแนวทางการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ของภาครัฐ ให้เป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะ อย่างแท้จริง

สถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชน
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย
23 ธันวาคม 2548

แท็ก คำค้นหา