แถลงการณ์ร่วมผิดหวังกับการเลือกกสช.ของวุฒิสภา

แถลงการณ์ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง ”ผิดหวังกับ การเลือก กสช.ของวุฒิสภา ยืนยันเดินหน้าตรวจสอบการทำงานของกสช.ต่อไป”

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และองค์กรพันธมิตรสื่อ รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของวุฒิสภาที่ยังคงเดินหน้าลงคะแนนคัดเลือก กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.48) ท่ามกลางความสงสัยและคลางแคลงใจของฝ่ายต่างๆในสังคม ท่ามกลางหลักฐานที่เปิดเผยให้เห็นชัดเจนถึงความอ่อนด้อย ไร้ประสิทธิภาพของคณะกรรมการสรรหา กสช. และกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่าง กรรมการผู้คัดเลือกกับผู้ได้รับเลือก ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้แล้วก่อนหน้านี้ และเป็นเหตุให้กระบวนการสรรหาต้องล้มเลิกไปในครั้งแรก

ในครั้งนี้ วุฒิสภาตัดสินใจโดยไม่ให้ความสำคัญกับผลการตรวจสอบจากคณะอนุกรรมาธิการ ตรวจสอบคุณสมบัติ ฯ ที่ชี้ชัดถึงความมิชอบของกระบวนการสรรหาในหลายประเด็นจนมิอาจยอมรับได้ และละเลยไม่ฟังคำทักท้วงจากองค์กรวิชาชีพสื่อและภาคประชาชนที่ ได้ยื่นร้องเรียนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งค้นพบหลักฐานแสดงความไม่โปร่งใสระหว่างกรรมการสรรหา กับผู้สมัคร แม้ว่าผู้สมัครที่มีปัญหามิได้รับการคัดเลือก แต่ก็ยังมีผู้สมัครบางคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติกลับผ่านการพิจารณา และมีการระบุว่าการคัดเลือกผู้สมัคร ได้ถูกระบุไว้แล้วก่อนหน้านี้ดังนั้น วุฒิสภา จะต้องตอบคำถามต่อสังคมว่าจะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า การใช้วิจารณญาณในครั้งนี้ มีความชอบธรรม และจะไม่เป็นปัญหา ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ดังเช่นกรณีผู้ว่า สตง.

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและองค์กรพันธมิตร ขอเรียกร้องให้กสช. คนอื่นๆที่ได้รับการคัดเลือกมาโดยชอบ ได้ตระหนักถึงภารกิจและบทบาทหน้าที่อันสำคัญยิ่ง ในฐานะองค์กรอิสระ ได้จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรของชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และต้องยืนหยัดทำหน้าที่ของตนอย่างเป็นกลาง โปร่งใส มิยอมให้อำนาจทางการเมือง กลุ่มทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆมาแทรกแซงการทำงาน ไมว่าจะด้วยวิธีการทางตรงหรือโดยอ้อม เพื่อสร้างศรัทธาและความมั่นใจแก่ประชาชน

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยและองค์กรพันธมิตรสื่อ ขอเรียกร้องให้ประชาชนและทุกฝ่าย ได้จับตามองและช่วยกันทำหน้าที่ตรวจสอบ การทำงานของกสช.อย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามสาระที่จะกำหนดในพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะกฎหมายฉบับดังกล่าว จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้กสช.ได้ทำงานต่อไป

28 กันยายน 2548
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย

NGO ประณามวุฒิสภาชี้หมดความเชื่อถือ หมดหวังปฏิรูปสื่อเชื่อ “กสช.” ล้วนตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ “พิทยา” เตรียมฟ้องอาญา กก.สรรหา สปน. วุฒิสภา ละเมิดผลคำพิพากษา ศาล ปค.

Ngo ประณามวุฒิสภาจากผลการลงมติเลือก กสช. ระบุใช้มติอัปยศร่วมก่ออาชญากรรมทางสังคม เลือก กสช. โดยมองข้ามคำพิพากษาศาลปกครอง และคดีที่ยังค้างคาอยู่ และไม่สนใจรายงานด้านคุณสมบัติของผู้สมัคร กสช. เชื่อการปฏิรูปสื่อสิ้นหวัง เตือนนายก ฯ ระวังผลเรียนผู้ว่า กสช. ตอนนำรายชื่อประธาน กสช. ขึ้นทูลเกล้า ด้าน “พิทยา” ยันขอใช้สิทธิ์ฟ้องอาญากรรมการสรรหา สำนักปลัดสำนักนายก ฯ และวุฒิสภา ข้อหาละเมิดคำสั่งศาลปกครอง ไม่ยอมยุบเลิกกรรมการสรรหาที่หมดความชอบธรรม

นายพิทยา ว่องกุล ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (ครป.) อดีตผู้สมัคร กสช. แถลงถึงกรณีการสรรหา กสช. ของวุฒิสภาเมื่อ 27 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ได้สะท้อนว่าบทบาทในฐานะสภาตรวจสอบของวุฒิสภาไม่มีเหลืออยู่อีกแล้ว วุฒิสภาขาดซึ่งความรับผิดชอบและวุฒิภาวะ กลายเป็นสภาชะเลียทางการเมือง และถูกอำนาจการเมืองผลักดันอยู่เบื้องหลัง เป็นการละเมิดคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ด้วยการยอมรับบุคคล 2 คนที่เคยถูกศาลชี้ว่าเป็นต้นตอแห่งความเสียหายทางวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (พล.อ.ธงชัย นางสุพัตรา) ขณะที่คดีการฟ้องร้องโดยนายประมุท สูตะบุตร ผู้สมัคร กสช. อีกคนยังค้างคาอยู่ในศาลปกครอง

“นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภาเคยได้รับบทเรียนจากกรณีผู้ว่า สตง. มาแล้ว มาครั้งนี้นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหน้าที่นำรายชื่อประธาน กสช. ขึ้นทูลเกล้าก็ควรต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อพระราชอำนาจ และปัญหาที่จะตามมาในอนาคต เท่ากับว่าวุฒิสภาได้วางระเบิดเวลาให้นายกรัฐมนตรี และต้องถามหาความรับผิดชอบหากนายก ฯ จะนำรายชื่อดังกล่าวขึ้นทูลเกล้า” นายพิทยากล่าว

นายพิทยาในฐานะผู้สมัคร กสช. ที่ไม่เข้ารอบกล่าวด้วยว่า แม้ตนไม่ได้ยืนยันเจตนารมณ์ไปยังกรรมการสรรหา ว่าประสงค์จะได้รับการคัดเลือกต่อ แต่ได้ปรึกษาทนายความแล้วว่า ยังมีสิทธิ์ที่จะฟ้องร้องทางอาญาได้ ในฐานะที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรรมการสรรหา เนื่องจากโดยสภาพของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว กรรมการสรรหาชุดนี้ควรจะหมดสภาพ เพื่อให้มีการคัดเลือกกรรมการสรรหาชุดใหม่ ซึ่งตนเชื่อมั่นว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกรรมการสรรหาที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนจึงไม่ได้ยืนยันเจตนารมณ์ไป ทำให้ตนเสียสิทธิ์ที่ควรจะมีได้ ขณะนี้จึงได้ขอคำปรึกษาจากสภาทนายความ เพื่อใช้ผลของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในการดำเนินการฟ้องร้องทางอาญาต่อ 1. กรรมการสรรหา กสช. 2. สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และ 3. วุฒิสภา ที่ไม่ยอมจัดการปัญหาตามคำพิพากษาศาลปกครอง โดยการฟ้องครั้งนี้ตนหวังผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้เคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. กล่าวเสริมว่า เมื่อมองผ่านปรากฏการที่เกิดขึ้นทำให้เชื่อว่าการปฏิรูปสื่อสิ้นหวัง อยากเรียกร้องกลุ่มพลังสังคมที่ต่อต้านการฮุบสื่อมติชนและโพสต์ ให้ตระหนักว่าต่อไปนี้เขาไม่ต้องมาฮุบซื้อสื่อโดยตรงอีกแล้ว แต่ซื้อผ่านร่างทรงและตัวแทนคือ กสช. เหมือนการซื้อเสียงที่เปลี่ยนจากซื้อผู้มีสิทธิ์ มาเป็นการซื้อหน่วยเลือกตั้งและเจ้าหน้าที่ควบคุมการเลือกตั้งแทน

“พฤติกรรมของวุฒิสภาเป็นการท้าทายความรู้สึกของประชาชน อาจเป็นเพราะเหลือวาระเพียง 5 เดือนเศษ จึงทำอะไรเต็มที่โดยไม่ต้องแคร์ประชาชนอีกแล้ว เป็นการก่ออาชญากรรมทางสังคมซ้ำซาก ต่อเนื่องจากกรณีคุณหญิงจารุวรรณ มณฑกา ผู้ว่า สตง. ขอประณามมติการเลือก กสช. เป็นมติอัปยศขาดเหตุผลที่สังคมจะรับได้ และขอชื่นชม สว. 6 คนที่ตัดสินใจไม่เลือกเพราะทนกระบวนการที่ไม่ถูกต้องไม่ได้ และจากนี้จะมีการประชุมกรรมการ กสช. เพื่อเลือกประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องนำชื่อขึ้นทูลเกล้า ฯ อยากให้นายก ฯ อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4881/2511 ซึ่งระบุว่า การที่นายก ฯ จะนำเรื่องใด ๆ ขึ้นทูลเกล้า ฯ เรื่องนั้นจะต้องมีข้อยุติทางกฎหมาย มีความชัดเจนตามแบบแผนราชการ ซึ่งกรณีประธาน กสช. นี้จะเป็นการวัดใจนายก ฯ อีกครั้ง” นายสุริยะใสกล่าว

นายต่อพงษ์ เสนานันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการรรรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ได้อ่านแถลงการของ คปส. ว่า คปส. รู้สึกผิดหวังอย่างมาก ต่อการตัดสินใจเลือกว่าที่ กสช. ทั้ง 7 คน เพราะผลการเลือกดังกล่าวเป็นไปตามที่คาดหมายไว้ตามโผ เนื่องจาก 6 ใน 7 รายชื่อ เป็นรายชื่อตัวเก็งเดิมที่ผ่านเข้ารอบมาตั้งแต่การสรรหา ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2544 และมีข้อครหาก่อนที่จะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ว่าการสรรหานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นที่มาของคำพิพากษาให้ยกเลิกเป็นโมฆะ ในปี พ.ศ. 2546

“บัดนี้ เวลาผ่านไป 5 ปี กรรมสรรหาชุดใหม่ แต่ประกอบด้วยคนกลุ่มเดิมเป็นส่วนใหญ่ ได้ดำเนินการสรรหา ครั้งใหม่ที่เต็มไปด้วยข้อครหามากมายเช่นเดิม ถึงแม้จะมีกระบวนการตรวจสอบอย่างหนัก แต่ในวันนี้ กลุ่มคนดังกล่าวก็สามารถผ่านเข้ามาเป็นว่าที่ กสช. ได้ในที่สุด คปส.รู้สึกผิดหวังที่การทำงานตรวจสอบการสรรหา กสช. ที่ผ่านมา ถือว่าไร้ความหมาย เพราะไม่สามาระนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย เพราะท้ายที่สุด สังคมไทย กำลังจะได้ ว่าที่ องค์กรกำกับดูแลสื่อวิทยุ – โทรทัศน์ หรือ 7 อรหันต์ กสช. ที่มีภาพสะท้อน ดังต่อไปนี้

1. อดีตข้าราชการ ในกลุ่มสื่อของรัฐ เช่น สื่อเครือกองทัพ กรมประชาสัมพันธ์

2. เป็นกลุ่มคนที่ใกล้ ชิดสนิทสนมกับ กลุ่มทุนสื่อวิทยุ- โทรทัศน์

3. เป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยปรากฏวิสัยทัศน์เรื่องการปฏิรูปสื่อ

4. เป็น กลุ่มคนที่มีข้อครหา เรื่อง การมีผลกระโยชน์ทับซ้อน และสำคัญที่สุดคือ

5. เราไม่มีตัวแทนของ กลุ่มชุมชน คนท้องถิ่น และ ตัวแทนผู้บริโภค เลย”

“ดังนั้นโอกาสที่ กสช. จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระ สง่างาม และมีความกล้าหาญในการ ปฏิรูปสื่อวิทยุ –โทรทัศน์ ให้เป็นประโยชน์ของรัฐและทุนนั้น คงเป็นไปได้น้อยมาก คปส. ขอส่งสัญญาณเตือน กลุ่ม วิทยุชุมชน นักวิชาชีพสื่อ และ ผู้ประกอบการสื่อรายย่อย ที่ต้องเร่งรวมตัวผนึกกำลังกันเพื่อตรวจสอบและต่อรองกับการใช้อำนาจของ กสช. ในอนาคต อีกทั้งส่งสัญญาณเตือนประชาชนและสังคมไทย ให้ช่วยกับจับตากระบวนการปฏิรูปสื่อต่อจากนี้ เพราะการใช้อำนาจตามกฎหมายของ กสช. ในการชี้ชะตา ระบบวิทยุและโทรทัศน์ไทย อาจกลายเป็นภัยคุกคามต่อสื่อและประชาชน อย่างที่เราไม่อาจคาดเดา” แถลงการณ์ระบุ

ที่มา มงคล บางประภา น.ส.พ. บางกอกโพสต์

แท็ก คำค้นหา