แถลงการณ์ คัดค้านการสรรหา กสช.ที่ไม่โปร่งใส

เตรียมยื่นหนังสือประธานวุฒิสัปดาห์หน้า

วันนี้ (14 ก.ย.48)สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกแถลงการณ์ค้านการสรรหากสช.ที่ไม่โปร่งใส โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์ คัดค้านการสรรหา กสช.ที่ไม่โปร่งใส

เรื่อง คัดค้านการสรรหากสช.ที่ไม่โปร่งใส

จากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) โดยนายสมมาตร์ สถิตเสถียร และรศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี กรรมการสรรหากสช. มีความสัมพันธ์กับนายชั้น พูนสมบัติ ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นกสช. ในรอบ 14 คนสุดท้ายและนายอนันต์ บุญเจริญ หนึ่งในผู้สมัครรอบ 37 คน โดยนายสมมาตร์ นายอนันต์ และนายชั้น เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท KCS ประเทศไทย จำกัด และมีรศ. อรุณีประภา เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในบริษัทดังกล่าวฯ ซึ่งในขั้นตอนการลงคะแนนก่อนหน้านี้ปรากฏว่า กรรมการสรรหาฯ ทั้งสองไม่ยอมเปิดเผยความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างตนกับนายชั้น โดยแจ้งแต่เพียงความสัมพันธ์กับนายอนันต์ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการสรรหาฯ ครั้งที่ 8-9/2547 ก็ได้มีมติไปแล้วว่า มิให้กรรมการสรรหาฯ ลงคะแนนเลือกนายอนันต์เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลางตามมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 และศาลปกครองสูงสุดได้มีแนวคำพิพากษาไว้แล้วในการตัดสินให้การสรรหารอบแรกมิชอบด้วยกฎหมาย โดยฐานความผิดลักษณะเดียวกัน

การปกปิดข้อมูลดังกล่าว แสดงให้เห็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ของทั้งผู้สมัครและกรรมการสรรหาฯ จนกลายเป็นการกระทำผิดซ้ำสอง ทั้งๆ ที่ กสช.คือบุคคลสำคัญซึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของสังคมโดยรวม นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ทำให้เห็นความอ่อนด้อย ไม่รอบคอบและไร้ประสิทธิภาพของคณะกรรมการสรรหาฯ ที่ไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการตรวจสอบหลักฐานข้อมูลประสบการณ์ความเชี่ยวชาญของผู้สมัคร บางรายไม่แจ้งรายละเอียดแต่กรรมการสรรหาฯ กลับระบุว่าเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น จึงไม่ทราบว่าใช้เกณฑ์ใดพิจารณาทั้งๆ ที่ความเชี่ยวชาญของผู้สมัครคือหัวใจที่จะทำให้รู้ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมจะเป็นกสช.หรือไม่

และยังมีประเด็นกรรมการสรรหาฯ บางรายที่เคยต้องคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุดครั้งก่อนว่ามีส่วนได้เสียกับผู้สมัครบางคน ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกผู้สมัครคนเดิมในรอบใหม่โดยอ้างว่าเกษียณอายุราชการแล้วความสัมพันธ์กับผู้สมัครจึงหมดไป แต่สิ่งที่เป็นคำถามคือถ้าเป็นเช่นนั้นเท่ากับต้องพ้นสภาพจากกรรมการสรรหาฯด้วยหรือไม่ เพราะได้เข้ามาทำหน้าที่โดยเป็นผู้แทนในตำแหน่งซึ่งได้มาก่อนเกษียณอายุราชการนั่นเอง

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เคยปฏิเสธข้อเสนอขององค์กรวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชน นักวิชาการและองค์กรเอกชนที่เรียกร้องให้เปิดรับสมัครใหม่ เนื่องจากเวลาที่ผ่านไปหลายปีทำให้จำนวนผู้สมัครลดลงจาก 103 คน เหลือเพียง 36 คน ซึ่งสะท้อนให้เห็นเจตนาแฝงเร้น ที่ต้องการปิดกั้นโอกาสของประชาชนมิให้ได้ผู้มีความสามารถมาทำงาน

ในเมื่อกระบวนการสรรหาไม่ตรงไปตรงมาเช่นนี้แล้ว จะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้อย่างไรว่า จะได้คนดี และซื่อสัตย์มาทำงานให้สาธารณะอย่างแท้จริง สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะสมาคมวิชาชีพของผู้ปฏิบัติงานข่าวในวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ขอคัดค้านการกระทำใดๆ ที่มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง และขอเรียกร้องให้วุฒิสภา ซึ่งเป็นสถาบันอันทรงเกียรติของสังคมที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้ทำหน้าที่ตรวจสอบกลไกการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใช้วิจารณญาณอย่างรอบคอบในการพิจารณาครั้งนี้ เพราะได้เคยสร้างบรรทัดฐานที่ดีในการเลือกคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทช. มาแล้ว หากยังคงยืนยันที่จะเลือก กสช.จากรายชื่อที่เสนอมาท่ามกลางความคลางแคลงใจของสังคม ก็อาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกับการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และมิอาจสร้างความไว้วางใจ ความศรัทธาและเชื่อมั่นจากประชาชนได้อีกต่อไป

14 กันยายน 2548

หมายเหตุ ในสัปดาห์หน้า สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พร้อมกับเครือข่ายพันธมิตรจะยื่นหนังสือร้องเรียนโดยตรงไปยังประธานวุฒิสภา

 

แท็ก คำค้นหา