ร้องวิษณุให้กรมประชาสัมพันธ์ทบทวนการให้วิทยุชุมชนมีโฆษณา

นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ยื่นหนังสือต่อดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ตรวจสอบมาตรการที่กรมประชาสัมพันธ์ รับจดทะเบียนวิทยุชุมชนและให้มีโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 6 นาที ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

1.การกำหนดมาตรการใดๆเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่นั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.)มิใช่บทบาทหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ในการออกใบอนุญาต แต่หากระหว่างที่ยังไม่มีกสช. กรมประชาสัมพันธ์จะทำหน้าที่กำกับดูแลเพื่อมิให้เกิดความยุ่งเหยิงหรือฉวยโอกาสใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยมิชอบ ก็ควรกำหนดระเบียบเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แต่มิใช่การใช้ช่วงเวลาการรอมาเปิดเสรีธุรกิจวิทยุกระจายเสียงและเป็นผู้อนุญาตให้มีคลื่นวิทยุใหม่เกิดขึ้นโดยไม่จำกัด

 

นอกจากนั้น การออกประกาศดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการผลิตและ ขายเครื่องส่ง ซึ่งแต่เดิม กลุ่มเรียนรู้วิทยุชุมชน พยายามจำกัดให้เป็นไปเพียงเพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ ผลพวงจากมาตรการดังกล่าวคือ การใช้ระเบียบราชการสนับสนุนการขายและรับติดตั้งเครื่องส่งวิทยุโดยที่ยังไม่มีมาตรการควบคุมที่รัดกุมและชัดเจนเพียงพอ อันอาจเป็นช่องทางให้เกิดการฉ้อฉลจากสถานการณ์นี้

 

2. การอนุญาตให้วิทยุชุมชนมีโฆษณา เท่ากับปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ของภาคประชาชน เพราะก่อนหน้านี้ มีกลุ่มประชาชนที่ทดลองออกอากาศวิทยุชุมชน ภายใต้ชื่อจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนกว่า 130 สถานีทั่วประเทศภายใต้หลักการว่า เป็นสื่อที่คนในชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน คือ ร่วมใช้ ร่วมดูแล และร่วมรับประโยชน์ โดยใช้ระบบอาสาสมัครและไม่หารายได้จากการโฆษณาทั้งนี้ เพื่อให้วิทยุชุมชน เป็นเครื่องมือที่ประชาชนได้ใช้สิทธิในการสื่อสารอย่างเสรีและเพื่อประโยชน์ต่อชุมชน อย่างแท้จริง แต่มิใช่เพื่อเป็นพื้นที่ในการแสวงหาผลกำไร ทั้งนี้พวกเขาสามารถหารายได้จากหลายรูปแบบ เช่น การระดมทุน หรือการรับบริจาคโดยไม่มีเงื่อนไข แต่รายได้จากโฆษณา จะเป็นแรงจูงใจที่สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจวิทยุกระจายเสียงซึ่งต้องจ่ายค่าเวลาในอัตราที่สูง หันมาประกอบธุรกิจวิทยุชุมชนแทนเพราะต้นทุนต่ำกว่ามาก อันส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในสถานีหลักเพราะมีการตัดราคาโฆษณา เป็นการสร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในธุรกิจวิทยุกระจายเสียง ขณะที่ กลุ่มภาคประชาชน ซึ่งเรียนรู้ลองทำงานวิทยุชุมชนมาร่วม 2 ปี ต้องการให้ภาครัฐร่วมมือสร้างความชัดเจนที่แตกต่างระหว่างวิทยุเพื่อธุรกิจกับวิทยุเพื่อสิทธิในการสื่อสาร ดังนั้นจึงดูเหมือน ว่ามาตรการของกรมประชาสัมพันธ์ ช่วยสร้างประโยชน์ให้กลุ่มฉวยโอกาสมาใช้พื้นที่ของภาคประชาชนมาประกอบการเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและยังอาจส่งผลต่อการอธิบายคุณสมบัติผู้ประกอบการภาคประชาชนและ ลักษณะการประกอบการใน พ.ร.บ. การประกอบกิจการฯ ที่ยังไม่ประกาศใช้ การกระทำของกรมประชาสัมพันธ์ จึงไม่สอดคล้องต่อเจตนารมณ์ที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพซึ่งมีสมาชิกจากผู้ประกอบการวิทยุและโทรทัศน์ทั่วประเทศ มีความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งกับผู้ประกอบการวิทยุรายย่อยในภาคธุรกิจ และกระบวนการเรียนรู้ภาคประชาชน จึงขอเรียนเสนอและยืนยันในแนวคิดว่า “วิทยุชุมชน ต้องไม่มีโฆษณา” หากกรมประชาสัมพันธ์ต้องการสนับสนุนหรือ เตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจวิทยุขนาดเล็ก โดยไม่ขึ้นอยู่กับคลื่นความถี่ในสถานีหลัก ก็ควรแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนและแยกจากสัดส่วนของภาคประชาชน อีกทั้งการกำหนดมาตรการใดๆ ในอนาคต ควรเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบและผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคประชาชน ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นและตัดสินใจในทุกขั้นตอน ทั้งนี้ตามหลักการในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และ การปฏิบัติราชการอย่างมีธรรมาภิบาล

 

และวันนี้เวลา 13.00 น. รองนายกรัฐมนตรีจะไปร่วมประชุมกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

 

29 พฤศจิกายน 2547

แท็ก คำค้นหา