เรียกร้องกรรมการสรรหา กสช. เปิดรับผู้สมัครกสช. เพิ่มเติม

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหากสช. ทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครกสช. โดยให้เปิดรับสมัครใหม่เพิ่มเติมจากจำนวนผู้สมัครเดิม 103 คน

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กรรมการสรรหากสช. เปิดรับสมัครผู้สนใจสมัครเป็นกสช. เพิ่มเติม เ พื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยสรุปสาระสำคัญในแถลงการณ์ ดังนี้

 

สืบเนื่องจากคณะกรรมการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ที่มีนายสมพร เทพสิทธา เป็นประธาน ได้ประชุมและมีมติ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2547 ที่ผ่านมาว่าจะใช้แนวทางการคัดเลือกผู้สมัคร กสช. โดยพิจารณาจากผู้สมัครเดิม ซึ่งได้ยื่นสมัครตั้งแต่ปีพ.ศ. 2543 จำนวน 103 คน โดยไม่เปิดรับสมัครใหม่ ทั้งๆ ที่มีกรรมการสรรหา กสช.บางคนไม่เห็นด้วย ขณะที่องค์กรเอกชนและหน่วยงานต่างๆหลายแห่ง ได้ยื่นหนังสือแสดงความเห็นคัดค้านไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผลนั้น

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสรรหา ฯได้ทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้สมัครเป็นกสช. โดยเปิดกว้างรับผู้สมัครเพิ่มเติมแทนที่จะใช้จำนวนผู้สมัครเพียง 103 คนตามเดิม ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

1.ระยะเวลาที่ผ่านเลยมาเกือบ 4 ปี ทำให้สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆเปลี่ยนแปลงไปมาก กรรมการสรรหาฯเองก็ยอมรับว่า กรรมการฯบางคน ที่มาโดยตำแหน่ง ได้โยกย้ายไปแล้วต้องเปลี่ยนคนใหม่มาแทน อีกทั้งผู้สมัครบางคนในกลุ่มเดิมก็อยู่ในข่ายขาดคุณสมบัติด้านอายุ คืออายุเกิน 70 ปี นั่นยิ่งทำให้ตัวเลือกในการคัดสรรน้อยลงไปกว่าเดิม ที่สำคัญ ในช่วงเวลาดังกล่าว มีองค์กรเกิดใหม่และมีบุคคลอีกมากมายที่มีคุณสมบัติครบถ้วน พร้อมจะอาสาเข้ามาร่วมรับการคัดเลือก

 

2.แนวทางปฏิบัติของคณะกรรมการสรรหา กสช.ยังคงสวนทางกับมติที่ออกมา การกำหนดให้ผู้สมัครเดิมต้องเขียนใบสมัครใหม่ เพื่อยืนยันสิทธิในการสมัครต่อไป หากไม่แจ้งจะถือว่าสละสิทธิ เท่ากับเป็นลิดรอนสิทธิของผู้สมัครทั้ง 103 คน เพราะผู้สมัครดังกล่าวควรได้รับสถานะของตนโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแจ้งยืนยันแต่อย่างใด เมื่อมติและการปฏิบัติยังคงแปลกแยกแล้วคณะกรรมการสรรหาฯ ยังต้องการเดินหน้าให้ผู้สมัครชุดเดิมเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ได้ว่าจะยังคงสมัครหรือไม่ ยิ่งจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีผู้สมัครหน้าใหม่เพิ่มเติมเพื่อทดแทนผู้ที่ประสงค์จะถอนตัว รวมทั้งผู้สมัครที่จำเป็นต้องถอนตัวเพราะคุณสมบัติไม่ครบ

 

3.คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ว่ากระบวนการสรรหากสช.ฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีผู้สมัครกับกรรมการสรรหาบางคน มีส่วนได้ส่วนเสียกันและให้ยกเลิกกระบวนการดังกล่าว แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนว่าต้องการให้เกิดกระบวนการคัดเลือกใหม่ ที่โปร่งใสและเป็นธรรม ดังนั้นจำนวนผู้สมัครที่มีอยู่น้อย ก็เท่ากับปิดโอกาสกรรมการสรรหาฯ ที่จะคัดเลือกให้ได้คนดีอย่างแท้จริง และที่ร้ายกว่านั้น ยังอาจส่งผลให้ผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นคนกลุ่มเดิมที่มีปัญหา กระทั่งอาจนำไปสู่การร้องเรียนและศาลปกครองประกาศเป็นโมฆะซ้ำรอยที่ผ่านมาได้ กระบวนการสรรหา กสช.ก็จะล่าช้ามากขึ้นไปอีก

 

4.ข้อกังวลที่ว่าการเปิดรับสมัครเพิ่มเติมอาจเป็นการรอนสิทธิผู้สมัครเดิมนั้น แท้ที่จริงแล้ว ผู้สมัครเดิมมิได้เสียสิทธิของตนเองแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม กลับเป็นการเปิดโอกาสให้คณะกรรมการสรรหาฯ มีตัวเลือกมากขึ้นเมื่อมีผู้เสนอตัวหน้าใหม่เพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงประโยชน์ก็จะตกกับประชาชนในที่สุด เพราะต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายหลักของการได้มาซึ่ง กสช. เพื่อมากำกับดูแลสมบัติของชาติซึ่งมีมูลค่ามหาศาล ดังนั้นจึงต้องเลือกสรรผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ต้องการให้กระบวนการสรรหา กสช. เป็นไปด้วยความโปร่งใส สง่างาม สามารถตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ รับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ได้เตรียมยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระ วุฒิสภา และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ในวันพุธที่ 15 กันยายน 2547 เวลา 12.30 น. ณ อาคาร 2 ชั้น 3 สภาผู้แทนราษฎร ต่อไป

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

13 กันยายน 2547

 

แท็ก คำค้นหา