แถลงการณ์ร่วมเรื่อง ปัญหาการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์

ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2510 มาเป็นเวลากว่า 5 ปี เป็นที่ประจักษ์ แล้วว่าการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร โดยมีสาเหตุหลักมาจากผู้มีอำนาจรัฐยังคงเห็นประโยชน์จากการควบคุมสื่อไว้เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ขณที่ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อขนาดใหญ่ก็พอใจ กับสภาพการณ์ปัจจุบันที่แบ่งสรรผลประโยชน์ อย่างลงตัว ดังนั้น การผลักดันให้เกิดสื่อทางเลือก ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการปฏิรูปสื่อ เช่น วิทยุชุมชน จึงป็นไปด้วยความยากลำบาก

 

กลุ่มองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชน สื่อภาคประชาชน สื่อมวลชนอิสระ และนักวิชาการ นักศึกษาด้านสื่อสารมวลชนจากทั่วประเทศ ได้มาร่วมชุมนุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ในการสัมมนา “ติดตามการรณรงค์การปฏิรูปสื่อ” ระหว่างวันที่ 7-8 ธันวาคม 2545 ณ สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมีความเห็นพ้องต้องกันในการแสดงจุดยืนต่อกระบวนการปฏิรูปสื่อดังนี้

 

1.ให้ผู้มีอำนาจในรัฐบาลตัดสินใจใช้อำนาจตามกฎหมาย ยกเลิกกรรมการสรรหาและกระบวนการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุแห่งชาติ (กสช.) ที่ได้ดำเนินมาอย่างไม่โปร่งใสโดยเร็ว พร้อมทั้งเริ่มต้นกระบวนการสรรหาใหม่โดยกำหนดหลักเกษฑ์มิให้คณะกรรมการสรรหา เป็นผู้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกันกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

2.ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี มีลักษณะขัดต่อเจตนารมณ์ของมาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากมีบทบัญญัติที่เอื้อต่อกลุ่มธุรกิจสื่อขนาดใหญ่และผู้ประกอบการสื่อภาครัฐซึ่งอาจทให้ผู้ประกอบการภาคประชาชน ไม่ได้ดำเนินการโดยเสรีอย่างแท้จริง เช่น การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ประกอบการบริการสาธารณะและบิรการชุมชนหารายได้, การกำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบการวิทยุชุมชน, การให้กรมประชาสัมพันธ์มีคลื่นความถี่โดยไม่ต้องขออนุญาต, การไม่กำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริการธุรกิจ,การไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระได้รับการจัดสรรเวลา และการไม่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพควบคุมกันเองด้านจริยธรรม เป็นต้น ดังนั้น ในการพิจารณาร่างกฏหมายดังกล่าวในขั้นตอนนิติบัญญัติ จะต้องมีตัวแทนของภาคประชาชน และภาควิชาชีพเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมาธิการ ในสัดส่วนที่เหมาะสม และเปิดโอกาสให้คณะกรรมาธิการได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ประกอบการพิจารณากฎหมายอย่างกว้างขวาง

 

3.เรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิของชุมชนในการเรียนรู้ และใช้สิทธิในการสื่อสาร โดยสนับสนุนการเกิดขึ้นของวิทยุชุมชน ที่เกิดจากความต้องการของชุมชนกันเองอย่างแท้จริง และไม่เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อย่างจริงจัง พร้อมทั้งเร่งรัดประกาศหลักเกณฑ์ การจัดตั้งจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน หรือสถานีทดลองวิทยุชุมชน ตามแนวทางที่คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายโดยเร็ว ขอให้รัฐบาลกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติการข่มขุ่ รบกวนและจับกุมผู้ดำเนินการจุดปฏิบัติการเรียนวิทยุชุมชน หรือสถานีทดลองวิทยุชุมชน ที่ปฏิบัติการมติคณะรัฐมนตรีโดยทันที

 

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เครือข่ายวิทยุเพื่อประชาสังคม สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ สมาพันธ์วิทยุชุมชนคนอีสาน เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคกลาง เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันออก, เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคตะวันตก สหพันธ์วิทยุ กทม. และปริมณฑล กลุ่มนักจัดรายการวิทยุอิสระ กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาด้านสื่อสารมวลชน

 

8 ธันวาคม 2545

แท็ก คำค้นหา