จดหมายเปิดผนึก เรื่อง ขอให้มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ

จดหมายเปิดผนึก

15 สิงหาคม 2557

 

เรื่อง      ขอให้มีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ

เรียน     หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

 

สืบเนื่องจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ ) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) รวม 6 องค์กร พบว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ ไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน กล่าวคือ มีการใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดทำป้ายหรือสื่อโฆษณาที่มีเนื้อที่โฆษณาตัวบุคคล อันได้แก่ นักการเมืองและข้าราชการมากกว่าจะนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือมีสาระที่ประชาชนควรรับรู้ การกระทำดังกล่าวถือเป็นความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดิน อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน เนื่องจากากรใช้งบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์นั้น ไม่มีมาตรฐานราคาที่แน่นอน จึงง่ายต่อการกลบเกลื่อนการใช้งบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลหรือทุจริต

 

ยิ่งไปกว่านั้น การใช้งบประมาณในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นจำนวนมาก โดยไม่มีการควบคุมดังกล่าวของหน่วยงายของรัฐยังส่งผลให้รัฐมีอิทธิพลอย่างมากเหนือสื่อมวลชนในฐานะผู้ซื้อสื่อ ทำให้สื่อมวลชนสูญเสียความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เปิดเผย หรือตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐ โดยนัยนี้ 6 องค์กรจึงเห็นควรให้มีการออก “กฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ” ซึ่งมีสาระสำคัญเช่น

 

กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่ต้องการโฆษณาโดยใช้งบประมาณของรัฐ หรือรายได้ตามกฎหมายเฉพาะของหน่วยงานของรัฐแต่ละแห่ง ส่งโฆษณาที่ต้องการเผยแพร่ไปให้หน่วยงานที่จะได้มีการกำหนดต่อไป (ต่อไปนี้เรียกว่า “หน่วยงานที่กำหนด”) พิจารณาอนุมัติก่อน ทั้งนี้ห้ามมิให้มีการเผยแพร่โฆษณาก่อนที่หน่วยงานนั้นจะได้รับอนุมัติ จากหน่วยงานที่กำหนด เว้นแต่เป็นกรณียกเว้นตามที่กฎหมายระบุ

 

  • กำหนดให้โฆษณาครอบคลุมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อภาพยนตร์ สื่อออนไลน์ ป้ายโฆษณา ตลอดจนงานอีเวนต์

 

– กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดพิจารณาอนุมัติให้มีการเผยแพร่โฆษณาได้เฉพาะในกรณีที่

 

  • โฆษณานั้นเป็นวิธีการที่สมเหตุสมผลในการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหรือประเทศ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของประชาชน ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายหรือบริการของรัฐบาล หรือข้อมูลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือภาพลักษณ์โดยรวมของประเทศ

 

  • โฆษณานั้นมีข้อความระบุว่าเป็นโฆษณาที่จัดทำขึ้นโดยใช้งบประมาณของรัฐ และระบุชื่อหน่วยงานผู้ลงโฆษณา

 

  • โฆษณานั้นไม่มีชื่อ เสียง ภาพของบุคคลตามที่กฎหมายระบุ กล่าวคือ นักการเมือง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่ขององค์กรอิสระ

 

  • โฆษณานั้นไม่มีลักษณะมุ่งเน้นสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลหรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม

 

– กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดต้องมีคำสั่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติภายในระยะเวลา 7 วัน โดยคำสั่งของหน่วยงานที่กำหนดถือเป็นที่สุด อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่หน่วยงานที่กำหนดไม่มีคำสั่งภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้ถือเป็นการอนุมัติโดยปริยาย

 

– กำหนดให้หน่วยงานที่กำหนดมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการควบคุมโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในทางนิเทศศาสตร์ รัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นๆ ขึ้น เพื่อดำเนินการตามกฎหมายนี้

 

– กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการใช้จ่ายด้านการประชาสัมพันธ์ประจำปี ซึ่งรวมถึงการซื้อพื้นที่และเวลาในการโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุ โทรทัศน์และการจัดอีเวนต์ โดยมีการระบุเนื้อหาสาระและความจำเป็นที่จะต้องประชาสัมพันธ์ ช่องทางในการประชาสัมพันธ์ และวงเงินที่ต้องใช้ในรายกิจกรรม

 

– กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทำรายงานประจำปี เพื่อแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ

 

ในการนี้ 6 องค์กรเชื่อว่าหากมีการออก “กฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ” ได้ดังที่กล่าวมานี้ จะช่วยควบคุมและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐในส่วนของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้เป็นไปโดยคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน อีกทั้งยังจะช่วยให้สื่อมวลชนสามารถดำรงความอิสระ และทำหน้าที่ในฐานะผู้ติดตาม รวบรวม ประเมิน และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชันให้สังคมรับทราบได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้มีการออกกฎหมายดังกล่าว โดย 6 องค์กรจะร่วมกันดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อนำเสนอในโอกาสต่อไป

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

แท็ก คำค้นหา