เสวนาปฏิรูป กสทช. เพื่อการปฏิรูปสื่อ

เสวนาปฏิรูป กสทช. เพื่อการปฏิรูปสื่อ ชี้เร่งแก้กฎหมายปิดจุดอ่อนกสทช. สร้างกลไกตรวจสอบการทำงานได้“

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 3 ส.ค. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการ 60 ปี สมาคมนักข่าวฯ “ปฏิวัติคนข่าว ปฏิรูปสื่อ” โดยสมาคมนักข่าวฯ ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ เปิดการเสวนาเรื่อง” ปฏิรูป กสทช. เพื่อการปฏิรูปสื่อ” โดยมีนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
โดยน.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและนโยบายสื่อ ศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ กล่าวว่า การปฏิรูป กสทช.ในระยะสั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบการทำงานของกสทช.อย่างละเอียด โดยจะต้องไม่ทิ้งแนวคิดการปฏิรูปสื่อ ซึ่งยังคงต้องเป็นองค์กรอิสระ แต่มุ่งเน้นเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผูกขาดให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น มีหลักประกันในสิทธิการสื่อสาร กับคนทุกกลุ่มในสังคม เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงต้องจัดวางนโยบายและแผนปฏิบัติให้ตอบสนองต่อเป้าหมายอีกด้วย ส่วนในระยะยาว ต้องสร้างเครื่องมือวัดประสิทธิภาพขององค์กร ปรับปรุงกฎหมายที่มีจุดอ่อน สร้างเครื่องมือและกลไกที่สามารถตรวจสอบได้ และมีความโปร่งใส นอกจากนี้ต้องมีการปรับกระบวนการลงมติของกสทช. เพื่อลดความขัดแย้ง และเป็นเครื่องมือกำกับให้กสทช.ต้องใช้กฎหมายโดยมองเจตนารมณ์มากกว่าความคิด เห็น
 
ด้าน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ และการกำกับดูแลในการปฏิรูปสื่อของรัฐด้านกิจการวิทยุ ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจาก กสทช.เข้าไปดำเนินการส่วนนี้น้อย แต่ในส่วนของโทรทัศน์ กสทช.ได้นำเงื่อนไขของการทำโครงข่ายทีวีดิจิตอล แลกกับสัมปทานคลื่นความถี่ของรัฐ ภายใน 2-3 ปี โดยทุกช่องจะต้องเข้าสู่การแข่งขันของระบบใบอนุญาต ส่วนการปฏิรูปในกระบวนการแก้กฎหมาย เนื่องจากงานกำกับดูแลของกสทช. ยังมีปัญหาเรื่องการรับเรื่องร้องเรียนที่นำมาสู่การแก้ไขยังทำได้น้อย ดังนั้นจึงต้องพิจารณาว่า จะทำอย่างไรที่จะให้บุคคลที่ทำหน้าที่ในกสทช. ทำความเข้าใจเรื่องการกำกับดูแล การรับเรื่องร้องเรียนมากขึ้น
 
ทั้งนี้กสทช. ควรมีคณะกรรมการบุคคล ที่มีความเชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคณะกรรมการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรงยังมีน้อยมาก รวมไปถึงควรมีการกำกับดูแลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเน้นที่เชิงปริมาณ เช่น มีเรื่องร้องเรียนเท่านี้ สามารถแก้ปัญหาได้เท่าใด ส่วนเรื่องงบประมาณของกสทช. จำเป็นจะต้องปฏิรูปโดยด่วน เพื่อให้มีการแก้ไขเรื่องรายได้ของกสทช. ตามที่มีตัวเลขรายได้ที่สูงกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้ที่มาจากโทรคมนาคม ดังนั้น สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ต้องเข้าไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตามอาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายเสนอให้ค่าเลขหมายของโทรคมนาคมนั้น นำงบประมาณเข้าคลังของรัฐแทน รวมถึงอาจมีการพิจารณาให้การดำเนินงานต่าง ๆ ผ่านกระบวนการของสภา เช่นเดียวกับหน่วยงานรัฐอื่น ๆ ด้วย โดยจะต้องพิจารณาดูว่าจะยึดโยงอำนาจการตรวจสอบได้อย่างไร ซึ่งควรมีการฉันทามติร่วมกัน แทนการโหวตเสียงข้างมาก มีการเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงได้ และที่สำคัญ คณะกรรมการกสทช. จะต้องไม่อ่อนไหวกับกลุ่มผลประโยชน์อีกด้วย
 
ขณะที่นางภัทรา โชว์ศรี ผอ.สำนักตรวจสอบการเงินที่ 6 สำนักการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า กสทช.จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลรายงานประจำปี และงายวิจัยต่างๆ ต่อสาธารณะให้มากยิ่งขึ้น ตามที่กฎหมายกำหนดให้มีการเผยแพร่แก่สาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ตรงกัน อีกทั้งยังมีความล่าช้า นอกจากนี้อยากเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.กสทช. ให้การทำงานของ กสทช.อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตามสตง. ที่มีหน้าที่ตรวจสอบกสทช. จะพยายามดูแลตรวจสอบการใช้จ่ายเงิน จะมีการติดตามตรวจสอบต่อเนื่อง ทั้งนี้หากท่านใดมีข้อมูลที่อยากจะนำเสนอ ทางสตง.เปิดกว้างที่จะรับข้อมูล เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบต่อไป
 
ด้านนายวรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กสทช. ควรดำเนินการในเรื่องต่างๆ เพิ่มมากขึ้น อยากเห็นกสทช. ขับเคลื่อนด้วยความรู้ อย่างไรก็ตามในส่วนของงบประมาณจะต้องมีการตรวจสอบ ไม่ให้มีการสิ้นเปลืองเกินความจำเป็น และอยากให้กสทช.เป็นองค์กรที่เปิดพื้นที่สาธารณะ สร้างการถกเถียงในสังคม มีการทำประชาพิจารณ์ ก่อนจะมีการดำเนินงานในด้านนโยบาย ซึ่งที่ผ่านมาการรับฟังความเห็นของกสทช. ยังไม่ให้ข้อมูลที่รอบด้าน เนื่องจากถูกครอบงำโดยผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม อยากให้กสทช.ยึดมั่นในเจตนารมย์การปฏิรูปมากกว่าเอนเอียงตามอำนาจต่างๆ“

ที่มา : http://www.dailynews.co.th/politics/256883

แท็ก คำค้นหา