“บทบาทสื่อมวลชนกับการปฏิรูปการเมือง”

โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามูลนิธิอิศรา อมันตกุล จัดปาฐกถาพิเศษประจำปี 2552 ในหัวข้อ “บทบาทสื่อกับการปฏิรูปการเมือง” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยเชิญ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณฑิต เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เป็นผู้บรรยาย โดย ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ  พูดถึงบทบาทของสื่อในการปฏิรูปปประเทศไทยว่า

ในกระบวนการปฏิรูปดังกล่าว สื่อมวลชนอาจมีบทบาทสำคัญใน 2 ทางคือ สื่อผู้รายงานการปฏิรูปประการหนึ่ง และสื่อผู้ร่วมการปฏิรูปอีกประการหนึ่ง
1. ในฐานะ “สื่อผู้รายงานการปฏิรูปประเทศไทย”
ในฐานะนี้ สื่อมวลชนควรศึกษาติดตามทั้ง “เนื้อหาสาระ” และ “กระบวนการ” ปฏิรูป (ซึ่งสำคัญไม่แห้เนื้อหา) ให้ถ่องแท้ ควรเรียกร้องให้การดำเนินการของผู้เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ให้สาธารณชนติดตามได้ตลอดเวลา และควรเปิดพื้นที่สื่อให้ฝ่ายต่างๆ ได้มีโอกาสเสนอความคิดของตนให้สาธารณชนได้พิจารณาอย่างสมดุลบทบาทนี้ สื่อมวลชนทำหน้าที่ได้ดีตามควรอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องเน้นย้ำ
2. ในฐานะ “สื่อผู้ร่วมการปฏิรูป”
ในฐานะนี้ มีประเด็นสำคัญที่จะต้องถกเถียงกันเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอันเป็นทั้งเหตุและผลของวิกฤตที่ผ่านมาด้วย

ประเด็นแรกที่จะต้องทบทวนคือ เมื่อสื่อเป็นอิสระออกจากรัฐมาตามสมควรโดยเฉพาะตั้งแต่การมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาแล้ว แต่สื่อมวลชนหลายแขนงยังหาเป็นอิสระออกจากเจ้าของกิจการไม่ กล่าวคือ

 

-สื่อของรัฐหรือแผ่นดินจะต้องแยกออกจากสื่อของรัฐบาล ในขณะที่สื่อของรัฐและแผ่นดินต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของรัฐและแผ่นดิน ไม่เป็นฝักฝ่ายทางการเมือง แต่สื่อของรัฐบาลต้องทำหน้าที่เผยแพร่นโยบายและผลงานของรัฐบาล องค์กรเดียวกันไม่ควรทำหน้าที่ทั้ง 2 อย่าง เพราะในความเป็นจริง อำนาจทางการเมืองจะทำให้สื่อที่ทำหน้าที่รวมนี้กลับกลายเป็นสื่อที่ทำหน้าที่ “สื่อของรัฐบาล” เป็นหลัก
ดังนั้น ควรแยกสื่อที่มีบทบาทต่างกันนี้ออกเป็น 2 องค์กร และสื่อที่ทำหน้าที่สื่อของรัฐบาลก็ต้องมีความเป็นอิสระตามหลักความเป็นอิสระของสื่อ โดยเฉพาะจะต้องคุ้มครองข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ ในสื่อที่เป็นของรัฐและของรัฐบาล มีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างแท้จริง
-สื่อเอกชนควรต้องทบทวนอย่างจริงจังว่า แม้สื่อมวลชนอิสระออกจากรัฐ แต่ยังอยู่ภายใต้อำนาจของเจ้าของกิจการแล้ว ความเป็นอิสระแท้จริงก็ไม่เกิด ดังนั้น จึงต้องทบทวนโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อ ว่าสื่อประเภทใด (เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ) ควรเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ บรรษัทพิเศษ ที่ไม่มีบุคคลใดสามารถเป็นเจ้าของหุ้นได้เกินกว่าร้อยละห้า เพื่อป้องกันการครอบงำสื่อ และควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้มีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เช่นเดียวกับบุคคลากรภาครัฐ
ประเด็นที่ 2 ที่สมควรจะมีการปฏิรูปสื่อมวลชนอย่างจริงจังก็คือ การมีจรรยาบรรณและการควบคุมจรรยาบรรณอย่างจริงจัง โดยองค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนอย่างแท้จริง ให้ได้ความสมดุลกับเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและความคิดเห็น ประเด็นใหญ่ที่องค์กรวิชาชีพสื่อจะต้องให้ความสำคัญคือ

-การคุ้มครองผู้ที่ถูกสื่อละเมิด (เยาวชน หญิง ฯลฯ)

-การใช้สื่อไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจของเจ้าของกิจการ
ประเด็นที่ 3 ที่ควรจะต้องมีการพิจารณาอย่างจริงจังก็คือการคุกคามสื่อทุกรูปแบบ และความคุ้มครองที่รัฐและสังคมต้องมีให้สื่อผู้ทำหน้าที่เสมือน “สุนัขเฝ้าบ้าน” โดยเฉพาะในความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงนั้น สื่อมวลชนมักตกเป็นเหยื่อของการคุกคามโดยตลอด
ประเด็นที่ 4 อันควรได้รับการพิจารณาทบทวนอย่างแท้จริงก็คือ “ความหลากหลายและทางเลือก” โดยเฉพาะในสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งหากปล่อยให้เป็นไปโดยอิสระ สื่อก็จะตกอยู่ภายใต้ระบบพาณิชย์ของระบบทุน ทำให้การนำเสนอเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่ โดยละเลยสิทธิในทางเลือก และความหลากหลายของผู้บริโภคข้างน้อย ในเรื่องนี้อาจต้องทบทวนตัวกฎหมายหรือหลักเกณฑ์บางประการที่บางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส หรือ คานาดา ใช้อยู่ ในการบังคับให้ต้องใช้ภาษาหลักของประเทศ และต้องมีความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมในบรรดาเพลง และความบันเทิงรูปแบบอื่นที่นำเสนอต่อสาธารณะ หรืออาจใช้รูปแบบการจูงใจด้วยระบบภาษีอากร เช่น มีการลดภาษีเงินได้และไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มรายการที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและสร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค เป็นต้น

อ่านรายละเอียดต่อ คลิกที่นี่

 

แท็ก คำค้นหา