“ไม่อยากเห็นประเทศไทยเหมือนไอร์แลนด์เหนือ”

โดย ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์

คงไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปฟื้นฝอยหาตะเข็บเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ว่า มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร ตั้งแต่ช่วงวันหยุดสงกรานต์มากระทั่งถึงเหตุการณ์พยายามลอบสังหารคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ในขณะที่กำลังมีการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (ที่มีความร้ายแรง)

สิ่งที่น่ากล่าวถึงในวันนี้ เป็นประเด็นเกี่ยวกับ “ความขัดแย้งแตกแยก” ของคนหลายๆ กลุ่ม ในสังคมที่เหมือนกับว่าโอกาสที่จะกลับคืนสู่ความเป็นปกติเหมือนเดิมช่างยากเย็นหนักข้อขึ้นไปเรื่อยๆ

บางคนโทษ “สื่อ” บางคนโทษ “ฝ่ายบริหาร” บางคนมองว่า “การใช้อำนาจรัฐเป็นต้นเหตุ” ซึ่งแน่นอนว่า ในอีกมุมมองหนึ่งต่างเชื่อว่า อดีตนายกรัฐมนตรี “ทักษิณ ชินวัตร” รวมทั้งกลุ่มบุคคลแกนนำ “เสื้อแดง” เป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งที่ยากยิ่งต่อการประสานรอยร้าวนี้

ทำให้เห็นว่าสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน มีความละม้ายคล้ายคลึงกับกรณีความรุนแรงถึงขั้นเสียเลือดเนื้อในการแบ่งฝักฝ่ายเป็น “โปรเตสแตนต์ (Protestants)” กับ “คาทอลิก (Catholic)” ในไอร์แลนด์เหนือ ที่ต้องสู้รบกันมายาวนานกว่าสามสิบปี

แม้ว่าความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือจะเป็นเรื่องของความไม่ลงรอยกันทางด้านความเชื่อทางศาสนาและเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ มาในวันนี้ ประเทศไทยของเราเองก็มองฝ่ายตรงข้ามของกันและกันเหมือนว่า “ต่างมิใช่คนไทย มิได้มีสายเลือดเชื้อสายเผ่าพันธุ์เป็นคนไทย” คำก่นด่าประณามและเรียกร้องให้เข่นฆ่ากำจัดอีกฝ่ายให้พ้นทางของตนหรือกลุ่มพวกของตนมีปรากฏอยู่เกือบทุกเว็บไซต์ที่เปิดให้มีการร่วมแสดงความคิดความอ่านทางการเมือง

นอกจากสีเสื้อที่แตกต่างกันและไม่อาจยอมรับเข้ามาเป็นพวก ยังมีเรื่องของความไม่ลงรอยกันในเชิงสถาบัน ซึ่งทั้ง “กองทัพไทยและตำรวจ” รับไปเต็มๆ กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาในวันนี้ ฝ่ายที่ชอบหรือเชื่อมั่นในการไม่ใช้ความรุนแรงก็ใช้ยุทธวิธีต่างๆ นานา เพื่อให้เห็นว่าการใช้กำลังสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ขณะที่กลุ่มเครือข่ายองค์กรภาคเอกชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ออกมาโจมตีกองทัพและตำรวจเช่นกันที่ระงับเหตุล่าช้า และไม่ใช้ความเด็ดขาดในการยุติปัญหาแถมด้วยการนินทาเรื่อง “เกียร์ว่าง” ไม่ใส่ใจหรืออาจมีใจโน้มเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

เรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ทำให้ทุกวันนี้ การแก้ปัญหาได้เพิ่มความสลับซับซ้อน เหมือนกับมีบุคคลบางส่วนต้องการให้ปัญหาคงอยู่เช่นนี้ต่อไป จะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลส่วนตัวประการใดก็ตาม บนความขัดแย้งนี้มีนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่ามีคนคาดหวังจะได้ประโยชน์บางอย่างจากความขัดแย้ง ทำให้การดำรงสภาพความแตกแยกได้กลายเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดทางฝ่ายคนเสื้อแดงเองมีบางส่วนเข้ามอบตัวกับทางการ แต่อีกส่วนหนึ่งประกาศที่จะใช้วิธีการ “จรยุทธ” ไม่ต่างกับกลุ่มก่อการร้ายเลือกใช้ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐเมื่อตนเองมีกำลังที่อ่อนด้อยกว่า ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปในสังคมไทยที่เคยเป็นสังคมที่ปกติสุข

ผู้เขียนเองได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อีเมล” จากเพื่อนฝูงทั้งที่เป็นสื่อมวลชนและนักวิชาการชาวต่างชาติ ยอมรับว่าหลายคนบ่นเสียดาย “โอกาส” ของประเทศไทยที่บางคนบอกว่าเป็น “โศกนาฏกรรม (tragic event)” ทั้งปัญหาความรุนแรงที่รอยัลคลิฟบีช หน้ากระทรวงมหาดไทย มาถึง “สงกรานต์ไฟ” และการจงใจก่อให้เกิดเหตุการณ์ยิงถล่มคุณสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อไม่นานมานี้

สังคมต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่มีทั้งคนที่ต้องการ “เปลี่ยนแปลง” และ “ไม่แน่ใจกับการเปลี่ยนแปลง” ความตึงเครียดจึงเกิดขึ้น เพราะมนุษย์โดยปกติวิสัยมักไม่ชอบกับการอยู่กับ “ความไม่แน่นอน” ต้องการทำทุกอย่างให้ชัดเจน สามารถคาดคะเนหรืออย่างน้อยมีความมั่นใจได้ว่าตนเอง “ปลอดภัย” ในสถานการณ์ต่างๆ

เราไม่อยากเห็นกรุงเทพฯ หรือประเทศไทยไม่ว่าส่วนไหนภาคใดกลายเป็น “พื้นที่ต้องห้าม” สำหรับคนไทยด้วยกันไม่ว่าเขาหรือเธอจะมีสังกัดอยู่ฟากฝ่ายไหน ผมไม่อยากเห็นนายกรัฐมนตรีไปที่ใดแล้วมีคนออกมาขับไล่ทุบทำลายข้าวของกระทั่งมีคนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยถึงสาหัสอย่างที่เห็นเป็นข่าว ซึ่งความคิดที่จะให้ “เทศกิจ” หันมาพกอาวุธเหมือนตำรวจย่อมไม่ใช่การเกาถูกที่คัน เพราะมีแต่คนต้องการเอาปืนออกไปจากท้องถนน (keep guns off the street) ไม่ใช่ยังเข้าเกียร์ถอยหลังเอาปืนยัดใส่มือเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่สมเหตุสมผล ขณะเดียวกัน ก็ไม่อยากเห็นคนไทยด้วยกันต้องมาฆ่าแกงกันเพียงเพราะทัศนคติ อุดมการณ์ทางการเมืองมีจุดยืนที่แตกต่างกัน

สถานการณ์ในวันนี้ จะไม่ให้ประเทศเราอยู่ใน “วังวน” แห่งการ “แย่งชิงอำนาจ” ทุกฝ่ายต้องหยุด ต้องไม่ปลุกระดม ไม่เรียกร้องอะไรเกินจริง บรรยากาศภายใต้การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า “สื่อ” ถูกควบคุมทั้งอย่างที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ สิ่งที่ดีที่สุด คือ การที่ประชาชนได้รับรู้ “ความจริง” อย่างไม่บิดเบือนของทุกฝ่าย ส่วนตัวเข้าใจภาระหน้าที่ของรัฐ แต่การควบคุมสื่อเพื่อใช้ในการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง เพราะการ “ตอบโต้ไปมา” อย่างหาที่สิ้นสุดมิได้ รังแต่จะสร้างความแตกแยกให้ขยายวงกว้างออกไป หากรัฐบาลและฝ่ายตรงข้าม “ไม่พากันติดกับดักแห่งอำนาจ” ก็คงจะพอมองเห็นแสงสว่างในการแก้ไขปัญหาอยู่บ้าง

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552 เวลา 16:14:52 น

 

แท็ก คำค้นหา