สื่อสาธารณะสร้างสังคมคุณภาพ : มองบีบีซี เทียบทีวีไทย*

โดย สมชัย สุวรรณบรรณ

สื่อสาธารณะแบบบีบีซีมีประวัติที่ยาวนานและประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้ง ทุกวันนี้บีบีซีมิใช่เป็นแค่สถานีข่าว แต่เป็นสถาบันทางวัฒนธรรม เป็นแหล่งเพาะนักเขียนศิลปินรุ่นใหม่ เป็นห้องเรียนทางอากาศ เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บสมบัติของชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนเวลาเกิดวิกฤติคับขันเมื่อเกิดภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นเวทีกลางของการถกเถียงโต้แย้งทางความคิดที่หลากหลาย ป้อนข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริงสมดุลให้แก่ประชาชน เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าทางปัญญา-วัฒนธรรม กระตุ้นให้ตื่นตัวต่อสภาวะแวดล้อม และบทบาทล่าสุดเป็นหัวรถจักรฉุดลากสังคมอังกฤษให้เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ที่กำลังปฏิวัติระบบการสื่อสารไปทั่วโลกขณะนี้

มีการชี้นำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมไทยที่ว่าสื่อสาธารณะเป็นสิ่งล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสังคมไทยและในต่างประเทศกำลังจะเลิกกันไป แท้ที่จริงแล้ว หลายๆประเทศพยายามที่จะหาวิธีก่อตั้งสื่อสาธารณะในรูปแบบต่างๆกัน แต่สื่อสาธารณะที่ประสบความสำเร็จมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลง (Impact) เป็นที่ยอมรับกันไปทั่วโลกคือบีบีซีของอังกฤษ ขนาดรัฐบาลอังกฤษเองซึ่งบางครั้งบางคราวมีเรื่องขัดแย้งกับบีบีซีก็ยังยอมรับว่าบีบีซีเป็นThe Best of British Brand เป็นความภูมิใจของประเทศ

ทำอย่างไรหรือจึงจะเรียกว่าเป็นสื่อสาธารณะแบบบีบีซี

สื่อสาธารณะที่ดีจะต้องมุ่งรับใช้ผู้ชมผู้ฟังโดยไม่มองพวกเขาว่าเป็นลูกค้าหรือผู้บริโภค แต่มองว่าเป็นสมาชิกของสังคมที่ควรได้รับบริการที่มีคุณภาพ บริการดังกล่าวมีอยู่สามอย่างเป็นหลักใหญ่ๆ คือ หนึ่งให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแท้จริงและเป็นธรรม สองให้ความรู้การศึกษา และสามให้สาระบันเทิงที่มีคุณภาพและมีรสนิยม (Taste and Decency)

หลักการที่สื่อสาธารณะต้องถือเป็นภาระหน้าที่สร้างสรรค์เป็นค่านิยมทางบวกให้เกิดขึ้นในสังคมได้แก่

  • ค่านิยมประชาธิปไตย

– สื่อสาธารณะจะต้องสนับสนุนพัฒนาสังคมให้เป็นประชาธิปไตย ให้บริการข่าวสารการบ้านการเมืองที่เที่ยงตรง ลุ่มลึกรอบด้าน หลากหลาย สมดุล กระตุ้นให้มีการโต้เถียงอย่างมีวุฒิภาวะในหมู่กลุ่มความคิดที่แตกต่างกัน เพื่อให้ประชาชนได้ข้อมูลมากเพียงพอที่จะประเมินและสรุปตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผล เพราะการตัดสินใจหรือบทสรุปของเขานั้นอาจจะมีผล กระทบต่อส่วนรวมหรือชุมชนรอบตัวด้วย

  • ค่านิยมทางวัฒนธรรมและพลังสร้างสรรค์

– สื่อสาธารณะจะต้องเสริมสร้างและกระตุ้นให้ประชาชนชื่นชอบรักษามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ยกระดับความรู้สึกที่ดีๆ (Uplifting) ให้กับผู้ชมผู้ฟัง กล้าเสี่ยงที่จะสร้างสรรค์รายการที่แหวกแนวคิดใหม่ (Ground Breaking) เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงศิลปินรุ่นใหม่ๆทดแทนรุ่นเก่าที่ถดถอยไป เก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสชื่นชม และภาคภูมิใจ

* ปรับปรุงจากบทความ”สื่อสาธารณะสร้างสังคมคุณภาพ”, “อยากจะโคลนบีบีซี ต้องดูที่ดีเอ็นเอ”และ”ไทยพีบีเอส-โอกาสทองของการปฏิรูปสื่อ”

โดยสมชัย สุวรรณบรรณ

  • ค่านิยมทางปัญญาและการศึกษา

– สื่อสาธารณะจะต้องสนับสนุนให้บริการด้านการศึกษาทั้งในระบบ(ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการทุกระดับอายุ) และนอกระบบสำหรับผู้พ้นวัยเรียน หรือผู้ด้อยโอกาส หรือผู้พิการ สื่อสาธารณะจะต้องเสริมสร้างสังคมที่ตื่นตัวในการเรียนรู้ และเปิดโอกาสฝึกฝนให้ผู้ที่ต้องการสร้างทักษะให้แก่ตนเอง เพื่อความก้าวหน้าในชีวิตการงาน

  • ค่านิยมทางสังคมรอบตัวและชุมชน

– สื่อสาธารณะจะต้องสร้างความเข้าใจในหมู่คนต่างๆ ของสังคมที่อาจจะมีทั้งจุดร่วมและความแตกต่างหลากหลาย โดยใช้พื้นฐานความเข้าใจ ความอดกลั้น ผูกโยงความคิดที่แตกต่างให้หันหน้าเข้าหากันเพื่อสร้างความกลมเกลียว สื่อสาธารณะจะต้องเสริมสร้างสปิริตชุมชนให้ตระหนักถึงภาวะแวดล้อมและภัยที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อชุมชนรอบตัว

แต่การที่จะโคลนบีบีซีให้เกิดขึ้นในสังคมไทยให้สำเร็จนั้นจะต้องเข้าใจว่าดีเอ็นเอของ บีบีซีมีลักษณะเช่นไรเสียก่อน จึงจะมองเห็นลู่ทางว่าจะโคลนอย่างไรให้ใกล้เคียงที่สุดแม้ว่าบีบีซีจะมี พรบ. พิเศษที่เรียกว่า Royal Charter ที่เป็นเกราะคุ้มครองไม่ให้มีการแทรกแซงทางการเมือง และกำหนดวิธีหาเงินทุนไม่ให้กลุ่มผลประโยชน์เข้าไปมีอิทธิพลชี้นำ ซึ่งคนทำงานในบีบีซีไม่ต้องห่วงเรื่องการหาเงินกำไรปันผลให้ผู้ถือหุ้น หรือสนองนโยบายนักการเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการมีกฎหมายคุ้มครองให้แล้ว จะทำให้องค์กรสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะประสบความสำเร็จมีชีวิตยืนยาวและเป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในและต่างประเทศ

ผู้บริหารคนแรกของบีบีซีคือ นายจอห์น รีธ (John Reith) เป็นต้นแบบที่สร้างค่านิยม Values และขนบธรรมเนียม Traditions ให้คนบีบีซีรุ่นต่อๆมาถือปฎิบัติจนเรียกขานกันเป็นค่านิยมแบบ Reithian Values นั่นคือความซื่อตรงสุจริต Integrity ยึดมั่นในหลักศีลธรรมจริยธรรมและความเป็นอิสระ ถือเป็นวัฒนธรรมองค์กรสืบทอดกันมา

ยุคแรก ๆ ที่ยังไม่มีโทรทัศน์ บีบีซีเป็นเพียงสถานีวิทยุ ประเทศอังกฤษในยุคนั้นเกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสมาพันธ์แรงงาน มีประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ เกิดความตึงเครียดระส่ำระสาย เมื่อบีบีซีนำประกาศของรัฐบาลมาออกอากาศกล่าวหาว่าสมาพันธ์แรงงานกำลังสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ ขณะเดียวกันก็นำประกาศของสมาพันธ์แรงงานมาออกอากาศประกาศจุดยืนและเหตุผลที่ต้องเรียกให้สมาชิกผละงานทั่วประเทศ ให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย แต่เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลซึ่งเป็นฝ่ายรัฐบาลในยุคนั้นโกรธบีบีซีมาก ที่เปิดโอกาสให้ผู้นำแรงงานสื่อสารกับประชาชนโดยตรง

หลังจากนั้นหลายยุคหลายสมัย ไม่ว่าจะเป็นสงครามโลก วิกฤติการณ์คลองสุเอซ สงครามฟอล์กแลนด์ที่บีบีซีรายงานข่าวจรวดเอ็กโซเซต์ของอาเยนติน่าจมเรือรบอังกฤษ จนนายกรัฐมนตรี มาร์กาแรต แทชเชอร์โกรธจนตัวสั่น เพราะทำให้ประชาชนเสียขวัญ ต่อมาสงครามอ่าวเปอร์เซียร์ และกรณีล่าสุดกรณี ดร. เคลลี่ เปิดโปงความไม่ถูกต้องของข้อมูลข่าวกรองอาวุธร้ายแรงของอีรักที่ทำให้รัฐบาลนายกรัฐมนตรีโทนี่ แบลร์ปะทะกับผู้บริหารบีบีซี จนต้องแตกหักไปข้างหนึ่ง ประธานกรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่ยื่นใบลาออกพร้อมกัน

จะเห็นว่าในภาวะวิกฤติหลายๆกรณี บีบีซียึดมั่นในหลักการความเป็นอิสระ เที่ยงตรงไม่ลำเอียง ให้ความเป็นธรรม เอาผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ตั้งแต่ยุคของนายรีธ และผู้บริหารบีบีซีต่อๆมาก็เล็งเห็นว่าสื่อมวลชนที่มีจริยธรรมจะทำให้โลกน่าอยู่มากขึ้น ได้กำหนดเป็นวัตถุประสงค์ขององค์กรว่าบีบีซี จักต้องเป็นสื่อมวลชนที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในโลก (Most Trusted Broadcaster) โดยมุ่งที่จะเพิ่มพูนความไพบูลย์ให้กับประชาชน (To Enrich Peoples’ Lives) ผ่านช่องทางบริการที่ให้ข่าวสาร ให้ความรู้การศึกษาและให้ความบันเทิงอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้บีบีซีจะยึดถือผลประโยชน์สาธารณะเป็นตัวชี้นำในการผลิตรายการหรือให้ข่าวสาร

พนักงานบีบีซี ทุกคนก่อนเริ่มต้นเข้าทำงานจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมซักซ้อมให้เข้าใจหลักจริยธรรมและค่านิยมแบบบีบีซี ทั้งนี้ไม่ใช่พนักงานในสายข่าว (Journalism) อย่างเดียว ยังรวมไปถึงงานผลิตรายการทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็นสารคดี ละคร บันเทิง ตลก รายการสำหรับเด็กเยาวชน การถ่ายทอดสด กีฬา ดนตรี แม้กระทั้งรายการตอบคำถามชิงโชค ก็ต้องมีหลักจริยธรรมกำกับ โดยเฉพาะในส่วนสายข่าวบีบีซี ได้รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือคู่มือที่เรียกว่า Editorial Guidelines: The BBC’s Values and Standards*ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องยึดเป็นคำภีร์การทำงานทุกลมหายใจเข้าออก นี่แหละคือ ดีเอ็นเอวัฒนธรรมการทำงานของบีบีซี

ตัวอย่างจาก หนังสือแนวปฏิบัติและกรอบจรรยาบรรณของบีบีซี เช่น :

……บีบีซี จะไม่ติดป้ายใครต่อใครว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะการติดป้ายดังกล่าวอาจจะเป็นอุปสรรคในการแสวงหาข้อเท็จริง เรามีหน้าที่รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของคนอื่นที่จะตัดสินว่าใครก่อเหตุอะไรกับใคร…..

…….เราต้องวางตัวให้ปลอดจากอคติ เรารายงานข้อเท็จจริงโดยปราศจากสีสัน ไม่ปรุงแต่ง……

…….นักข่าวบีบีซีจะต้องมีความรู้เท่าทันสามารถซักค้านผู้ที่มาให้สัมภาษณ์ ซึ่งอาจจะแสดงความคิดเห็นที่อื้อฉาวหรือชวนวิวาทได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ไม่อ่อนข้อ…..

…….เราจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ว่าการรายงานของเราได้รวบรวมความเห็นทัศนะที่สำคัญจากทุกหมู่เหล่า กว้างขวาง หลากหลาย ครอบคลุม จะต้องมีการวัดหรือชั่งน้ำหนักความเห็นและทัศนะเหล่านั้นให้ออกไปในลักษณะสมดุล ต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือความเห็น

การออกกฎหมายคุ้มครองความเป็นอิสระหรือตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลกันออกมาหลายๆชุดอันเป็นความพยายามที่จะสถาปนาสื่อสาธารณะไม่ได้หมายความว่าจะสามารถจำลองความเป็นบีบีซีขึ้นในประเทศไทยได้สำเร็จ ถ้ายังไม่เข้าถึงลักษณะดีเอนเอของบีบีซี สิ่งที่จะเป็นตัวคุ้มครองความเป็นอิสระของสื่อคือ ค่านิยมและมาตรฐาน (Values and Standards)ขององค์กร และศักดิ์ศรีความซื่อตรง (Integrity) ของผู้ปฎิบัติงานต่างหากที่จะเป็นเกราะคุ้มครองและสูตรสร้างความน่าเชี่อถือ

ใครก็ตามที่ต้องการให้เกิดสถาบันสื่อแบบบีบีซีในประเทศไทย ไม่ควรมองแต่การจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เท่านั้นเพราะบีบีซีไม่ใช่เป็นเพียงสถานีข่าว แต่ควรมองให้ทะลุไปเลยว่าจะสร้างสรรค์สถาบันวัฒนธรรมที่มีหน้าที่ปกป้องมรดกไทย ให้การศึกษายกระดับ สติปัญญาของผู้คนในประเทศ แบบบีบีซี ที่มีอิทธิพลต่อสังคมอังกฤษ

ทุกวันนี้บีบีซีเป็นสถานีถ่ายทอดกีฬานอกสถานที่ซึ่งโดดเด่นที่สุดในโลก มีบริการให้การศึกษาทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตทั้งปริมาณและคุณภาพมากที่สุดในโลก มีภาระกิจที่ต้องถ่ายทอดงานสำคัญของประเทศเช่นราชพิธีที่มีกระบวนการขั้นตอนที่พิถีพิถันให้ทั้งสาระและความรู้แก่คนรุ่นหลัง มีวงดนตรีซิมโฟนี่ออเคสตร้าของตนเอง มีโครงการพัฒนาและกระตุ้นความสำนึกของประชาชนต่อสภาวะแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆและกลุ่มประชาชนในท้องถิ่นกระจายทั่วประเทศ เป็นบ่อเพาะเลี้ยงพลังสร้างสรรค์ และต้นแบบความคิด Creativity and Originality เพื่อผลิตศิลปินและผลิตผลงานสื่อรุ่นใหม่ๆ

การก่อตั้งทีวีไทยหรือไทยพีบีเอส ให้เป็นทีวีสาธารณะเป็นโอกาสทองของการสานต่อการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย เพราะการแข่งขันด้านสื่อในประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามิได้ทำให้มาตรฐานในเชิงเนื้อหาสาระเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด ที่ดีขึ้นก็เป็นเรื่องของรูปแบบที่วูบวาบฉาบฉวย

รายงานข่าวประจำวันทางทีวีทุกวันนี้ จะออกมาคล้าย ๆ กัน เหมือนๆ กันทุกช่อง ออกมาอย่างสุกๆ ดิบๆ สวนไปสวนมา ขาดการตรวจสอบ ขาดการคัดกรอง แยกแยะว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรเป็นข้ออ้าง อะไรเป็นสาระ อะไรเป็นโวหาร ขาดการชั่งตวงให้น้ำหนักตามความเหมาะสม ขาดการจัดอันดับ จัดวาระ (News Agenda) และกระบวนการรวบรวมเนื้อหา เพื่อมัดเป็นก้อนให้ได้ครอบคลุมรอบด้าน (TV News Packaging) พร้อมกับการให้คำอธิบายและบริบทของข่าวนั้น (Context and Perspective) นักข่าวทุกวันนี้หากินแบบวันต่อวันได้อะไรมาก็สาดออกไปที่จอทีวีให้ผู้ชมอย่างนั้น ขาดๆ วิ่นๆ แย่งชิงเอาความเร็วไว้ก่อน ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันที่ทำให้คุณภาพดีขึ้น

ประเพณีที่แปลกอีกอย่างหนึ่งของสื่อในประเทศไทยก็คือ มักจะส่งนักข่าวเด็กๆ หน้าใหม่ๆ อ่อนประสบการณ์ไปประจำแหล่งข่าวสำคัญ ๆ เช่นที่ทำเนียบและสภา ในขณะที่สื่อระดับโลก เช่น บีบีซี หรือ ซีเอ็นเอ็น มักจะส่งนักข่าวอาวุโสที่มีประสบการณ์มากๆ บางครั้งขนาดบรรณาธิการข่าวการเมือง ไปประจำทำเนียบไวท์เฮ้าซ์หรือทำเนียบดาวนิ่งสตรีท ที่สภาคองเกรส หรือ สภาเวสต์มินสเตอร์ เพราะนักข่าวที่มีชั่วโมงบินมากๆ จะได้กลิ่นข่าวที่เป็นของจริงและดูทิศทางของข่าวได้ชัด นอกจากนี้ยังสะสมภูมิหลังและบริบทของข่าวไว้มากพอ ที่จะงัดออกมาใช้ประกอบในการตีความหมายข่าว (Interpretation) และอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจง่ายว่า ข่าวนั้นจะมีผลกระทบต่อผู้ชมและสังคมอย่างไร

การที่สำนักข่าวระดับโลก ส่งนักข่าวชั่วโมงบินสูง ไปประกบแหล่งข่าวสำคัญระดับผู้นำประเทศ ก็เป็นการแข่งขันในเรื่องฝีมือ ว่าใครจะสามารถแกะหรือขุดข่าวสำคัญออกจากแหล่งข่าวสำคัญคนนั้นได้มากกว่าใครหรือก่อนใคร และมีขีดความสามารถที่จะแยกแยะข่าวจริง ออกจากข่าวปั่น ไม่ถูกจูงจมูกอย่างง่าย ๆ

สิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ทำให้ระบบการเมีองไทยอ่อนแอก็เพราะสงครามข่าวสารที่อยู่ในวังวนของ วาระข่าวหัวสี (Tabloid News Agenda) ที่มุ่งแต่เอาความมัน ความสะใจ กระพือให้เกิดความรู้สึกเป็นปรปักษ์ทำลายล้างกัน เพื่อเรียกความฮือฮาเพิ่มเรตติ้ง ขายลีลาของผู้นำเสนอข่าว มากกว่าเนื้อหาสาระของข่าว วิธีการทำงานข่าวตามวาระข่าวหัวสี ยังเป็นการเปิดเวทีให้ตัวละครทางการเมืองบางคนหลอกนักข่าวสร้างความสำคัญให้แก่ตัวเองมากกว่าความเป็นจริง (Larger Than Life) ทำให้ประชาชนหลงเชื่ออย่างผิดๆ

มีนักการเมืองฝรั่งคนหนึ่งพูดว่า สื่อโสโครกทำให้การเมืองโสโครก แต่ก็ถูกสวนกลับจากสื่อว่า นักการเมืองโสโครกต่างหากที่ทำให้สื่อโสโครก อยากถามว่าเมืองไทยของเราใครโสโครก

การก่อตั้งทีวีไทยหรือไทยพีบีเอส จึงเป็นความหวังใหม่ในการปฎิรูปสื่อ ให้เป็นสถานีที่มีการวางกรอบจรรยาบรรณอันเป็นมาตรฐานสากล ยึดถือหลักการตามวิชาชีพ สร้างสิ่งแปลกใหม่ให้เป็นทางเลือก สำหรับประชาชน สร้างค่านิยมสาธารณะทางประชาธิปไตย ให้ข่าวสารที่แท้จริง ให้ความรู้การศึกษาเสริมสร้างปัญญา พิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและมรดกของชาติ ส่งเสริมค่านิยมทางบวกของชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสื่อสาธารณะ

 

แท็ก คำค้นหา