กลยุทธ์ฟื้นแบรนด์ประเทศไทย สื่อสาร-สร้างสรรค์ – ชัดเจน

รายงานโดย :เบ็ญจวรรณ รัตนวิจิตร

ความเสียหายซ้ำๆ ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการยึดสนามบิน ขัดขวางการประชุมอาเซียน และเหตุการณ์จลาจลกลางกรุงที่เกิดขึ้น

ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้มสูญสลายไป

จากนี้จึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่แค่รัฐบาลที่ต้องเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้กลับคืนมา โดยเฉพาะการสร้างแบรนด์ของประเทศไทยให้ล้างภาพความวุ่นวายทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติขาดความเชื่อมั่น ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวถึง 70% ของจีดีพี คงจะนิ่งเฉยไม่ได้

ปรีชา เชาว์โชติช่วง ประธานสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย มองว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยครั้งนี้ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องฟื้นฟู คือ คน การทำให้คนมีความรู้สึกในเรื่องส่วนรวม การสร้างจิตสาธารณะ ให้มีมากขึ้นในสังคมไทย และการคิดถึงประโยชน์ส่วนร่วมมากกว่าประโยชน์ของกลุ่ม ซึ่งวิธีการแก้ไขต้องใช้หลายมิติ แต่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดอยู่ที่คน ทำอย่างไรให้คนคิดให้ทะลุความขัดแย้งและนำไปสู่การคิดถึงผลประโยชน์ส่วนร่วมให้ได้

“ภาพลักษณ์ที่เสียไปครั้งนี้ ติดอยู่ในใจของนักลงทุน ตรงนี้ต้องรีบสร้างแบรนด์ อิมเมจของประเทศไทยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมให้ได้ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐ ภาคธุรกิจและประชาชน ที่ต้องคิดทำงานในเชิงสร้างสรรค์ สร้างความชัดเจนและสื่อสารในทิศทางเดียวกัน” ปรีชา กล่าว

เครื่องมือสำคัญที่สุดที่รัฐบาลต้องนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ คือ การสื่อสาร เป็นการสื่อสารทั้งภายในและภายนอก ด้วยการกำหนดทิศทางให้ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะทำให้ข้อความที่สื่อสารออกไปมีอิทธิพลทั้งคนในประเทศและในสายตาของชาวต่างชาติ

ขณะที่ ปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธาน กิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เสนอเช่นเดียวกันว่า การฟื้นฟูภาพลักษณ์ของประเทศ จำเป็นต้องใช้การสื่อสาร และเป็นการสื่อสารในโลกยุคใหม่ คือ ออนไลน์ โดยเฉพาะการใช้อิทธิพลของชุมชนออนไลน์ ประเภท Social Network หรือ ยูทูบ ที่จะทำให้ข้อความหรือภาพต่างๆ ถูกนำเสนอแบบส่งต่อกันไป และกระจายไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน จำเป็นต้องใช้การสื่อสารผ่านสื่อหลัก ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ทั้งในและต่างประเทศ ในรูปแบบของสปอต โดยเฉพาะพ่วงไปกับสปอตประชาสัมพันธ์ของการท่องเที่ยว ที่ซื้อสื่อในต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นซีเอ็นเอ็น หรือเครือข่ายอื่นๆ โดยที่ตัวนายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นพรีเซนเตอร์หลักในการออกสื่อเหล่านี้ให้มากขึ้น

“สิ่งแรกที่รัฐบาลควรทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศกลับคืนมา คือการทำสปอตขอโทษนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจากกรณีการปิดสนามบิน รวมถึงปัญหาความวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการประชุมอาเซียน ซึ่งกระทบประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ด้วย” ปารเมศร์ กล่าว

นอกจากนี้ รัฐบาลควรทำเป็นรูปธรรม ด้วยการจัดตั้งออนไลน์ วอร์รูมขึ้นมา และหาผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจประกอบไปด้วยสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงไอซีที ขณะที่นายกรัฐมนตรี ต้องเปิดเผยตัวตนกับคนในสังคมมากขึ้น ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ ทีวี สื่อออนไลน์

ในแง่ของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่ถือเป็นลูกค้าหลัก เพราะเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าประเทศถึง 70% ของจีดีพี การฟื้นฟูความเชื่อมั่นครั้งนี้ จะต้องอาศัยการทำโปรโมชันอย่างหนัก โดยรัฐบาลต้องร่วมมือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดใจนักท่องเที่ยวให้กลับมาโดยเร็ว

ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาที่พักแบบซื้อ 3 แถม 3 ระบบขนส่ง การยกเว้นวีซ่าและภาษีต่างๆ ในแง่นักลงทุนต่างชาติ ต้องอาศัยการ โรดโชว์เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ทั้งเรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน เพื่อเรียกภาพลักษณ์ประเทศไทยในด้านการท่องเที่ยวและประเทศที่เหมาะแก่การลงทุนในภูมิภาคนี้กลับคืนมา

นอกเหนือจากการใช้กระบวนการสื่อสารทั้งหมดแล้ว หากรัฐบาลไทยต้องการสร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศให้กลับมาได้ในระยะยาว คงต้องลงมือปฏิบัติทั้งการสร้างความเข้าใจกับคนในชาติ การออกกฎหมายที่ป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นี่คือแผนปฏิบัติการส่วนหนึ่งที่เสนอโดยนักสื่อสารการตลาดและหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูประเทศได้อย่างน้อยในอีก 6 เดือนข้างหน้า

ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2522

แท็ก คำค้นหา