ทนง โชติสรยุทธ์ : ชี้ศก.ทรุด-การเมืองดุ ธุรกิจสื่อโตสวนกระแส

สุรนันทน์ : คุณทนงทำหนังสือมา 34 ปี วงการหนังสือไทยพัฒนาไปอย่างไรบ้าง

ทนง : ผมคิดว่ามีสัญญาณที่ดีออกมาเยอะ อย่างเช่นเราเห็นภาพเลยว่าคนอ่านหนังสือเยอะขึ้น คนต่างจังหวัดที่บอกว่าไม่มีคนอ่านหนังสือเท่าไหร่นัก ตอนนี้ไม่มีแล้วครับ

สุรนันทน์ : ที่เขาบอกว่าปีหนึ่งคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 8 บรรทัด

ทนง : ไม่แล้วครับ อันนั้นเป็นข้อมูลเก่า ตอนนี้คือคนอ่านเยอะขึ้น คิดดูง่ายๆ อย่างพัทยา ซึ่งเมื่อก่อนร้านหนังสือเปิดแล้วส่วนใหญ่จะไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้เราเปิด 7 สาขา ในพัทยาและ จ.ชลบุรี เปิดไปแล้วทั้งหมด 17 สาขา

สุรนันทน์ : แยกออกไหมครับว่าเป็นหนังสือประเภทไหน คนก็บอกผมว่าคนอ่าน การ์ตูนไม่ใช่อ่านหนังสือ แต่ถ้าเข้าซีเอ็ดก็จะเป็นวิชาการหน่อยไม่ใช่หรือ

ทนง : ที่จริงตอนนี้เป็นสัญญาณที่ดีหมด เพราะว่าหนังสือแทบทุกแนวขายได้หมด หนังสือแทบทุกแนวสามารถติดอันดับหนังสือขายดี ประจำสัปดาห์ ประจำวัน ตั้งแต่หนังสือธรรมะ หนังสือความรู้ หนังสือคอมพิวเตอร์ หนังสือคู่มือเตรียมสอบ หนังสือเป็นการ์ตูนความรู้ คือ ไม่ใช่การ์ตูนธรรมดา หนังสือการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

ทุกวันนี้จะบอกว่าหนังสือแทบทุกแนวมีสิทธิจะขึ้นอันดับหนังสือขายดีได้ เมื่อก่อนนี้พอเราจะคุยกันว่าหนังสือขายดี พิมพ์มา 3,000 เล่ม กว่าจะขายได้ ตอนนี้ภาพนั้นไม่ใช่แล้ว หนังสือที่มีแนวโน้มจะขายได้ตอนนี้พิมพ์เป็นหมื่นเล่มแล้ว

สุรนันทน์ : เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมการอ่านของคนไทยก็เริ่มดีขึ้น

ทนง : ผมว่าเริ่มดีขึ้น จุดหลักของเรื่องนี้ก็คือว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้หนังสือขายดีมากขึ้นคนอ่านหนังสือมากขึ้น เป็นเพราะจำนวนร้านหนังสือในเมืองไทยมีมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้คนไทยที่เดิมจะซื้อหนังสือแต่ละทีต้องดิ้นรน คือไม่มีโอกาสได้เห็น แต่พอมีโอกาสได้เห็นเพราะว่าร้านหนังสือเปิดตามศูนย์การค้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ พอคนไม่มีอะไรทำก็เดินเข้าไปคอยเพื่อนที่ร้านหนังสือ ก็เห็นว่าหนังสือเล่มนี้น่าสนใจ หนังสือเล่มนี้ไม่เคยคิดว่าจะมีมาก่อนพอเห็นก็ซื้อ เพราะฉะนั้นร้านหนังสือทำให้คนเข้าใกล้ร้านหนังสือมากขึ้น

สุรนันทน์ : จะถึงอย่างที่ฝรั่งหรือญี่ปุ่นเขาเป็นไหม เขาไปไหนก็ถือหนังสือเล่มหนึ่งเปิดอ่าน คนไทยจะมีถึงขนาดนั้นไหม

ทนง : เรายังไม่ถึงจุดนั้น เพราะว่าการอ่านหนังสือของคนไทยเรายังน้อยกว่าเขาอยู่เยอะ แต่ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก

สุรนันทน์ : หนังสือที่ซีเอ็ดทำมีทุกประเภทหรือเปล่า

ทนง : ก็ไม่ทุกประเภท เราทำเฉพาะประเภทที่เราคิดว่าเป็นการทำแล้วส่งเสริมคุณภาพของคนไทยให้เก่งขึ้น ให้มีความสามารถมากขึ้น

สุรนันทน์ : แต่ชื่อเสียงของซีเอ็ดมาจากหนังสือวิชาการ ทำไมจึงเริ่มต้นตรงนั้น

ทนง : ตอนนั้นคงเป็นเพราะว่าผู้ก่อตั้งก็คือ วิศวกร เราก็เห็นภาพว่าหนังสือความรู้ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หายากไม่มีใครทำเลย พอเราเข้าไปทำ เราก็พบอีกว่านอกเหนือจากหนังสือที่ว่านี่แล้ว หนังสือด้านการบริหารจัดการก็ไม่มี เราก็เลยจำเป็นต้องทำเพิ่ม แล้วเราก็รู้อีกว่าหนังสือสำหรับเด็กดีๆ ไม่มีอีก ก็เลยต้องขยายมาเรื่อยๆ ตามโจทย์ที่เราพบในแต่ละช่วงแต่ละปี

ตอนนี้ซีเอ็ดก็เลยทำหนังสือหลายด้าน รวมทั้งหนังสือทางด้านภาษาอังกฤษ เพราะคนไทยมีปัญหาในเรื่องของการเรียนภาษาอังกฤษ จะทำอย่างไรให้เด็กไทย 10-15 ล้านคน ให้เก่งภาษาอังกฤษได้ในภาพใหญ่ทั่วประเทศ ในขณะที่เราไม่มีงบประมาณ เราไม่มีครูที่มีคุณภาพ เราไม่มีบรรยากาศของสังคมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จะทำอย่างไรภายใต้บริบทของคนไทย

สุรนันทน์ : หนังสือส่วนใหญ่เป็นภูมิปัญญาของคนไทยหรือว่าแปลมา

ทนง : มีทั้งสองส่วน ผมว่าตัวนี้อาจจะเป็นโชคดีของเมืองไทยด้วย ก็คือว่าสำนักพิมพ์ในเมืองไทยนอกเหนือจากเขียนกันเองแล้ว เรายังไปควานหาหนังสือที่ดีๆ ของโลกมา ไม่ว่าจะเกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส เรามีคนไปกว้านหาหนังสือดีๆ มาแล้วมาพิมพ์เป็นภาษาไทยให้คนไทยอ่าน สำนักพิมพ์ทั้งหลายมีบทบาทตรงนี้อยู่แล้ว

สุรนันทน์ : แสดงว่าเรามีคลังภูมิปัญญาที่คนจะไปค้นคว้าหาความรู้ได้

ทนง : ใช่ครับ ขอเพียงแค่เดินเข้าไปในร้านหนังสือแล้วจะเห็นหนังสือดีๆ เยอะแยะไปหมด

สุรนันทน์ : อย่างตอนนี้เรานั่งอยู่ในงานบุ๊กแฟร์เมืองไทย บุ๊กแฟร์เมืองไทยได้มาตรฐานหรือเปล่า

ทนง : ผมว่ายังแตกต่างกันอยู่ เพราะว่าในบุ๊กแฟร์ของต่างประเทศนั้น เขาไม่ได้เน้นการขายหนังสือเป็นหลัก จะเน้นเรื่องการขายสิทธิเป็นหลัก คุณขายสิทธิให้กับประเทศต่างๆ มาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปพิมพ์ แต่ของไทยบทบาทตรงนี้เราน้อยเป็นเรื่องการซื้อขายมากกว่า ของเราส่วนใหญ่คนที่มา คือ คนที่ซื้อหนังสือหลากแนวและหาซื้อในร้านหนังสือไม่ค่อยได้

สุรนันทน์ : แต่วันหนึ่ง อย่างซีเอ็ดมีภูมิปัญญาดีๆ ขายลิขสิทธิ์ได้ เข้าสู่โลกได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี

ทนง : เราจะมีสำนักพิมพ์ไทยที่ไปเปิดบูธในงานบุ๊กแฟร์ของโลก เพื่อไปขายลิขสิทธิ์ให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งตอนนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยตอนนี้กำลังทำหน้าที่นี้อยู่ ซึ่งปรากฏว่าในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาขายได้เยอะขึ้น ก็ถือว่าเราเริ่มขายวัฒนธรรมของเราแล้ว

สุรนันทน์ : วงการหนังสือของโลกช่วงที่ผ่านมารวมทั้งเมืองไทย เริ่มมีเด็กรุ่นใหม่เริ่มอ่านจากเว็บ คือได้มีการอ่าน แต่จะไม่เป็นหนังสือรูปเล่มอย่างนี้ หรือผมเข้าใจผิด เด็กก็อ่านในเว็บด้วย แล้วก็ซื้อหนังสือด้วย

ทนง : ที่จริงมีทั้งสองอย่าง คือ มีคนกลุ่มหนึ่งตอนนี้น้ำหนักการอ่าน คือ อ่านในเว็บมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะทางด้านหนังสือพิมพ์จะเริ่มอ่านผ่านทางเว็บมากขึ้น หนังสือก็จะเป็นพวกวรรณกรรม คือมีคนแต่ง มีคนเขียน แล้วก็ลองโพสต์ขึ้นไปบนเว็บให้คนลองอ่านดู พอพบว่าเล่มไหนที่มีคนอ่านมากขึ้นเขาก็เอาออกมาพิมพ์เป็นหนังสือ เพราะอย่างน้อยก็มีป๊อปปูลาร์โหวต บอกว่าเล่มนี้มีคนอ่านเยอะ แสดงว่าถ้าพิมพ์เป็นเล่มก็คงประสบความสำเร็จ

สุรนันทน์ : แล้วในอนาคตจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์บุ๊กไหม

ทนง : ผมคิดว่ายังต้องใช้เวลา เพราะแม้แต่อเมริกาเองที่ตลาดอีบุ๊กถือว่าคึกคักที่สุดในโลก แต่ขณะเดียวกันธุรกิจหนังสือก็ยังเติบโตด้วยอัตราที่ไม่ตกลงกว่าเดิม แต่หนังสือจะช้ากว่าหนังสือพิมพ์นิดหนึ่ง คือ หนังสือพิมพ์ต้องการความเร็ว บางคนต้องการความเร็วก็อาจจะใช้เว็บ เพราะว่าเว็บข่าวจะอัพเดตตลอดเวลา ถ้าเป็นหนังสือไม่จำเป็นขนาดนั้น ฉะนั้นหนังสือจะกระทบช้ากว่า ผมเชื่อว่าตรงนี้คงต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

สุรนันทน์ : กระบวนการผลิตหนังสือที่เมื่อก่อนบอกว่าของแพง ต้นทุนแพง เดี๋ยวนี้ยังมีปัญหาอยู่ไหมครับ

ทนง : ก็ยังแพงอยู่ แต่โดยหลักการจริงๆ ก็ยังถือว่าพอรับได้ในเรื่องของการลงทุนพอรับได้ ปัญหาอยู่เพียงแค่ว่าทำอย่างไรให้ฐานตลาดใหญ่ขึ้น เพราะตรงนั้นจะมีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งแต่เดิมสมัยก่อนเราเคยคุยว่าพิมพ์มา 3,000 เล่ม แล้วเมื่อไหร่จะขายหมด แต่ตอนนี้ฐานใหญ่ขึ้น แทนที่กระดาษแพงขึ้นแล้วทำให้เราซื้อหนังสือแพงขึ้นปรากฏว่าตอนนี้กระดาษแพงขึ้น แต่หนังสือถูกลง เป็นเพราะว่าเราพิมพ์ด้วยจำนวนที่มากขึ้น ทำให้ไปชดเชยกับบางอย่างที่แพงขึ้นได้

สุรนันทน์ : คุณทนงมองว่า 1-2 ปีนี้ ธุรกิจหนังสือจะไปอย่างไรบ้าง

ทนง : ปีนี้สัญญาณออกมาว่า ปีนี้น่าจะดีกว่าปีก่อน ต้องยอมรับว่ามีปัญหาหลายอย่างทั้งการเมือง ทั้งเศรษฐกิจอะไรต่างๆ รุมเร้าจนกระทั่งวูบไปช่วงหนึ่ง แต่ปีนี้แปลกตรงที่การเมืองยังดุเดือด เศรษฐกิจก็ดูเหมือนหนักขึ้นกว่าเดิมเยอะ แต่ว่าดูแล้วเหมือนกับมีกระแสที่คนอยากจะซื้อหนังสือ อีกส่วนหนึ่งในปีนี้สำนักพิมพ์ทั้งหลายที่มาร่วมงานทุกคนพร้อมใจกันลดราคา 30% ถึง 70% นอกจากนั้นยังมีของแถมอีก ผมคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีมากๆ สำหรับคนที่รักหนังสือ

ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์  วันพุธที่ 1 เมษายน 2552

 

แท็ก คำค้นหา