สอนมวย “สาทิตย์” รื้อ-ล้าง-โละ “เอ็นบีที” ไม่ใช่แค่ “เครื่องมือ” การเมือง

สัมภาษณ์
โดย หทัยรัตน์ พหลทัพ

 

รัฐบาลที่มาใหม่ทุกยุค มักมีเทคนิคการ “ปั่นข่าว” ที่ผิดแผกแตกต่าง ทว่าสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ใช้เครื่องมือการสื่อสารภายใต้การกำกับให้ “รับใช้” รัฐบาลมากที่สุด

“กรมประชาสัมพันธ์” และ “เอ็นบีที” จึงเป็นสื่อที่ถูกลากไปตามนโยบายของแต่ละรัฐบาล

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีนโยบาย “ดึงหนาม” ที่เคย “ยอกอก” ออกไปให้พ้นทาง

ก่อนที่ยุคสมัยของ “เอ็นบีที” จะเปลี่ยนผ่าน “สมเกียรติ อ่อนวิมล” อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนจึงชำแหละเส้นสนกลในพร้อมกับเสนอแนะถึงทิศทางของเอ็นบีที ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยความหวังว่า เสียงนี้จะมีใครฟัง..?

– ช่อง 11 หรือเอ็นบีที ถือเป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลทุกชุดที่มักใช้เป็นกระบอกเสียง ในวันที่ 1 เมษายน จะมีการปรับผังรายการมีข้อเสนอแนะสำหรับการกำหนดทิศทางในรูปแบบใหม่หรือไม่

ความเห็นของผมตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าเทคโนโลยีโทรทัศน์หรือการส่งข่าวสารในโลกโลกาภิวัตน์มีมากมาย ไม่ต้องแย่ง ไม่ต้องเจียด ไม่ได้เบียดบังหรือแอบเข้ามาทำสัญญา ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ สำหรับผมเห็นว่าควรเป็นช่องที่รับใช้รัฐคือ ส่วนราชการเต็มที่ 1- % ใครมาเป็นรัฐบาลก็แล้วแต่ต้องใช้โทรทัศน์ช่องนี้สื่อข้อมูลข่าวสารของราชการ ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน รวมถึงศาล ซึ่งถือเป็น 3 องค์กรหลักของประเทศ แต่ต้องจัดสัดส่วนให้เหมาะสม ถ้าวางแนวคิดให้ชัด คนดูช่องนี้จะ happy เพราะข้อมูลจะเพียบ เป็นช่องที่หาความจริงจากทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลได้อย่างไม่ต้องห่วงว่า ประชาชนจะได้ข้อมูลไปบิดเบือนจนเกิดความขัดแย้ง เพราะประชาชนจะตัดสินเอง

– แต่ตอนนี้คุณสาทิตย์กำลังจะเปลี่ยนโลโก้ เป็นส่งสัญญาณว่าต้องการล้างภาพการเป็นสื่อของรัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

สำหรับผม โลโก้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ชื่อก็ไม่สำคัญ โครงสร้างวิธี ผลิตงาน เป้าหมาย วัตถุประสงค์สำคัญกว่า คงต้องหาวิธีการทำงานและวิธีบริหารจัดการว่าจะทำอย่างไร เราเถียงกันว่า สื่อของรัฐต้องอิสระหรือไม่ ผมต้องบอกว่าการเป็นสื่อมวลชน ความอิสระสำคัญมาก ถ้าสื่อไม่ว่าเป็นของใครไม่มีอิสระ ข้อมูลก็จะถูกบิดเบือน ถ้าสื่อเป็นสื่อของรัฐ 1- % แล้วไม่มีอิสระคนก็จะไม่ดู เพราะไม่มีมืออาชีพทำงานอยู่ และไม่มีกรอบความเป็นอิสระ ข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานราชการต่างๆ ก็จะเป็นข้อมูลที่เขาส่งมาเฉยๆ เพราะเขาเป็นนาย มันก็สูญเสียเป้าหมายของการสื่อความจริงของรัฐ

ตรงนี้สามารถทำได้โดยให้โทรทัศน์ช่อง 11 แยกตัวออกจากการควบคุมของฝ่ายบริหาร ตั้งแต่อธิบดีเรื่อยไปจนถึงรัฐมนตรีหรือรัฐบาล พอเป็นอิสระปุ๊บ ก็เหมือนกับหน่วยงานอื่นๆ ที่มีความคล่องตัวและมีอิสระที่จะคิด ซึ่งคนเป็นสื่อที่แท้จะต้องเดินตามกรอบจริยธรรมของวิชาชีพ และต้องมีรายได้ตอบแทนที่ไม่แพ้สื่อที่ทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนและการทำงานต้องมีความยืดหยุ่นพอ แต่รัฐต้องเป็นบอร์ดใหญ่ ที่มีเป้าหมายให้ข้อมูลความจริงเกี่ยวกับรัฐบาลส่งตรงถึงประชาชน สามารถส่งความจริงโดยไม่ต้องเกรงใจต้นสังกัด ได้ความจริงในเชิงวิพากษ์ด้วย ถ้ารัฐมนตรีทำอะไรไม่ดี ก็ได้สัมภาษณ์เร็วกว่าใคร ก็ถามความจริงไม่ต้องเกรงใจ

– มองว่าถ้ามี พ.ร.บ.องค์การมหาชน จะทำให้เอ็นบีทีหลุดจากการเป็นสื่อใต้อาณัติของรัฐอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ก็ต้องเป็นสื่อในกำกับเหมือนมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่การเป็นสื่อต้องมีความเป็นอิสระ ถ้าไม่มีก็ทำงานไม่ได้และไม่มีใครเชื่อถือ เพราะการจะสื่อให้ประชาชนทั่วประเทศรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไร ศาลกำลังอะไร หรือสถาบันนิติบัญญัติทำอะไร ต้องมีความเป็นอิสระบนกรอบวิชาชีพ จริยธรรมวิชาชีพที่ทุกคนมีอยู่ เมื่อมีความน่าเชื่อถือรัฐบาลต้องให้งบประมาณ ไม่มีโฆษณา เพราะว่าคนมักจะคิดว่าโฆษณามีอิทธิพลต่อข่าวสารช่องนั้นๆ ซึ่งก็ใช่ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นเสมอไป

นอกจากนี้ ยังมีทางหนึ่งคือ เอางบฯที่ทีวีไทยใช้อยู่ย้ายมาช่อง 11 เสียก็จบ แล้วปิดช่องนั้นไปเลยแล้วเอาช่อง 11 มาเป็นศูนย์กลางการสื่อสารของ 3 สถาบันและประชาชน ซึ่งสามารถทำให้มีรายการที่เป็นประโยชน์สาธารณะได้ ไม่ต้องไปแย่งช่องอื่น

– ดูเหมือนว่าตอนนี้ทีวีสาธารณะกำลังไปได้ดี และมีเสียงตอบรับจากสังคมสูง

อันนี้เป็นความเห็นของผมเท่านั้น คืออยากให้มีช่องที่เป็นของรัฐ ไม่ใช่เสนอแค่ข่าวราชการอย่างเดียว ควรมีสารคดีอื่นๆ ด้วย แม้ไม่ยุบช่องทีวีไทย ทางเอ็นบีทีก็ต้องทำ สมมุติว่าผมไปบริหารช่องของรัฐผมก็จะทำ เพราะมีเงินแบบตายตัว หรืออย่างน้อยก็ต้องมีงบฯปีละ 3 พันล้านเหมือนกัน เพราะช่องนี้ยังไงก็ต้องทำเหมือนทีวีสาธารณะในคอนเซ็ปต์รวม แต่จะมีข่าวราชการเยอะกว่า ทำอย่างนี้รับรองเป็นประโยชน์แน่นอน เพราะคนดูรู้เลยว่านโยบายของช่องนี้เสนอข่าวสารของราชการแล้วก็ใช้เงินของรัฐ

ส่วนทีวีไทยทุกวันนี้ ในไอเดียผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี ปกติก็ไม่จำเป็นต้องมีทีวีสาธารณะ เพราะทีวีมีตั้งร้อยๆ ช่อง อยากดูรายการหรือสารคดีช่องไหนก็เลือกเอา การดูทีวีเพื่อเอาประโยชน์ไม่ต้องมีช่องใหม่ ความคิดเดิมของผม ตอนที่เป็นกรรมาธิการยกร่างกฎหมายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ผมบอกว่าไม่จำเป็นต้องมี เพราะไม่จำเป็นต้องนั่งดูช่องนี้ทั้งวัน วันหนึ่งก็ดูแค่ 2 ชั่วโมง

งานวิจัยระบุว่า มนุษย์ในโลกดูโทรทัศน์บวกลบแค่ 2 ชั่วโมง ดูได้อย่างมากก็แค่ 3-4 รายการ ดูข่าวประมาณครึ่งชั่วโมง จากนั้นไม่มีเวลาแล้ว ถ้าอยากจะทำทีวีสาธารณะก็ทำไป ต้องเปิดให้มีโฆษณา คิดว่าการระดมทุนไม่ยากและคิดว่ามีผู้ผลิตรายการดีๆ ตามกรอบทีวีสาธารณะที่เป็นปรัชญาแท้ๆ ได้ แต่คนที่ชนะประมูลต้องชนะด้วยคุณภาพรายการและยอมรับกรอบกฎหมายที่มีอยู่ แต่ให้มีโฆษณาเต็มที่ชั่วโมงละ 12 นาทีเหมือนทุกช่อง จะได้นำเงินมาทำสารคดีดีๆ

– หากให้ทีวีไทยให้นายทุนเข้ามาประมูลคลื่นและทำรายการเหมือนครั้งที่เป็นไอทีวี จะทำให้เกิดเหตุการณ์ย้อนกลับ เหมือนที่คุณทักษิณเข้าซื้อหุ้นไอทีวีหรือไม่

ก็ช่างปะไร ก็ให้เป็นโทรทัศน์การค้าเหมือนช่องอื่นๆ แต่การเป็นโทรทัศน์สาธารณะแบบการค้าต้องมีกรอบกฎหมายและมีบอร์ดควบคุม คือกฎหมายเดิมไม่ต้องทิ้ง พ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะใช้อย่างเดิม แต่ยกเลิกมาตราที่ว่าด้วยการใช้เงินภาษีสรรพสามิตแล้วเขียนใหม่ว่า ให้ใช้เงินจากงบฯโฆษณาและให้เอกชนร่วมประมูลแข่งขันโดยไม่คิดค่าตอบแทนคือ ไม่ต้องมีค่าสัมปทาน แต่ว่าต้องชนะประมูลด้วยรูปแบบรายการที่มีคณะกรรมการตามกฎหมาย อาทิ สภาผู้ชม รัฐบาล บอร์ด ฯลฯ คุม ผู้ชนะคือ ผู้ที่มีคุณภาพและผลิตรายการที่มีคุณภาพ

– ก่อนจะไปถึงตรงนั้นเอ็นบีทีภายหลังวันปรับผังรายการควรจะเป็นอย่างไร

ดูรูปการณ์ตอนนี้ก็มีข่าวแพลมๆ ว่าจะมีคนอื่นเข้ามาแทรก อาทิ บริษัทวอร์ชด็อกของ อ.เจิมศักดิ์ (ปิ่นทอง อดีต ส.ว.) หรือมีเนชั่นเข้ามา ผมก็ไม่แน่ใจว่าข้อมูลเหล่านี้ถูกต้องแค่ไหน อาจจะมีมูลก็ได้ โดยหลักการไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็เท่ากับไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย เพราะช่อง 11 อยู่ที่เดิม แม้จะเปลี่ยนโลโก้ เปลี่ยนชื่อก็ไม่ใช่ประเด็น

– ดูเหมือนว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็เข้ามาใช้ช่อง 11 เป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้วล้างภาพความเป็นรัฐบาลเก่าออกไป

การจะให้บริษัทดิจิตอลมีเดีย ออกแล้วมีบริษัทใหม่เข้ามานั้น ก็ไม่ใช่การเปลี่ยนโครงสร้าง แต่เปลี่ยนคนทำงาน ข้อสมมติฐานเดิมคือ ต้องเอาคนอื่นมาอยู่ดี เพราะช่อง 11 ไม่พร้อม ดูจากข้อมูลกลุ่มดิจิตอลมีเดียเขาก็อยู่ช่อง 11 มานานจนทำให้คนช่อง 11 ทำอะไรไม่เป็นแล้ว คนเก่าๆ โยกย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว ถ้าคุณให้บริษัทใหม่เข้ามาจะเป็นใครก็ตาม เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้วไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามพวกนี้ก็ต้องออกอยู่ดี เพราะรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาก็ต้องเข้ามาล้างบางอยู่แล้ว

ถ้าคุณสาทิตย์ไม่เปลี่ยนโครงสร้าง ใครถูกพรรคประชาธิปัตย์หนีบมาก็ต้องออกเช่นกัน กลายเป็นว่า ช่อง 11 เป็นที่ทำมาหากินของคนภายนอก ไม่ใช่เป็นที่สร้างโครงสร้างใหม่ของสื่อสารมวลชนหรือของรัฐ ไม่ได้สร้างอะไรให้กับกรมประชาสัมพันธ์ว่าเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือในนามราชการ วิธีที่จะทำต้องออก พ.ร.บ.องค์การมหาชน ถ้ายังทำไม่ทันก็ทำด้วยนโยบายก็ได้ โห! สั่งทุกวันทำไมจะไม่ได้

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 05 มีนาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11317 หน้า 11

แท็ก คำค้นหา