“ทรูวิชั่นส์” ปูทางรับโฆษณา บูมตลาดแมส-เพิ่มฐานสมาชิก

คอลัมน์ จับการตลาด
ประชาชาติธุรกิจ

 

แม้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีแซตเทลไลต์ทีวี รวมถึงผู้ผลิตคอนเทนต์หลายรายจะยังพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า หลังจากกฎหมายประกอบการวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ได้เปิดให้ธุรกิจเคเบิลทีวีมีโฆษณาได้นั้นถือเป็นโอกาสและช่องว่างในการสร้างรายได้ อีกทางหนึ่งด้วย

แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตคอนเทนต์ รวมถึง ผู้ให้บริการเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ต่างก็ หันมาลงทุนกับการผลิตคอนเทนต์เป็นจำนวนมาก

โดยเฉพาะ “ทรูวิชั่นส์” พี่ใหญ่แห่งวงการเคเบิลทีวีมีข่าวเล็ดลอดออกมาตั้งแต่ต้นปีแล้วว่า ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีรายนี้เตรียมผลิตคอนเทนต์ของตัวเองออกมาไม่ต่ำกว่า 20 ช่องรายการ

ว่ากันว่า นอกจากจะเป็นการปูพรมตลาดแมสแล้วยังเป็นการลงทุนเพื่อนำช่องรายการที่เป็นโลคอลคอนเทนต์เข้ามาจัดแพ็กเกจการขายเพื่อรับกับตลาดแมสที่กำลังขยายตัวอย่างมากอีกด้วย

โดยจะเห็นชัดเจนว่า หลังจากที่ “ทรูวิชั่นส์” ได้ทำแพ็กเกจ “ทรู โนเลต” และ “ทรูไลฟ์ พรีวิว” จำนวนสมาชิกของ ทรูวิชั่นส์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 6.5 แสนครัวเรือนเมื่อ 2 ปีก่อนเพิ่มเป็น 1.2 ล้านครัวเรือนเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 2 ที่ผ่านมา

แถมยังคาดการณ์ด้วยว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านครัวเรือนได้ภายในสิ้นปีนี้

เมื่อฐานสมาชิกเพิ่มขึ้นนั่นหมายความว่ารายได้ของ “ทรูวิชั่นส์” ก็เพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

ขณะที่ในอีกมิติหนึ่ง “ทรูวิชั่นส์” ก็ยังได้พยายามเจรจากับ อสมท เพื่อขอให้มีโฆษณาในช่องรายการที่ผลิตขึ้นเอง (local content) ได้ในสัดส่วน 6 นาที/ชั่วโมงตาม พ.ร.บ.ประกอบการวิทยุโทรทัศน์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

พร้อมเสนอเงื่อนไขเพิ่มค่าตอบแทนให้กับ อสมท อีก 6.5% ของรายได้จากค่าโฆษณา จากปัจจัยที่จ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท อยู่แล้วปีละ 6.5% ของรายได้

แม้ว่าผลการเจรจา อสมท จะยังไม่มีข้อสรุป แต่ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทาง “ทรูวิชั่นส์” ก็ได้เริ่มพูดคุยกับเจ้าของสินค้าและมีเดีย เอเยนซี่บ้างแล้วว่า ด้วยจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ขณะนี้ หากสามารถขายโฆษณาได้ควรจะตั้งราคาขายในอัตราเท่าไหร่ อย่างไร แล้วมีเดียเอเยนซี่สนใจแค่ไหน

เรียกว่า เตรียมตั้งรับสำหรับการขาย “โฆษณา” อย่างเต็มที่

“องอาจ ประภากมล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายคอมเมอร์เชียล “ทรูวิชั่นส์” บอกว่า ขณะนี้ทรูวิชั่นส์มีช่องรายการที่เป็นโลคอลคอนเทนต์แล้ว 20 ช่องรายการ ล่าสุดได้เปิดช่องใหม่ 2 ช่องรายการ คือ True Asian Series (ช่อง 22 ในระบบดิจิทัล) เป็นช่องรายการที่นำเสนอซีรีส์ยอดฮิตที่อยู่ในความทรงจำและเรื่องใหม่ๆ ที่เป็นที่นิยมมาแล้วทั้งในเกาหลี ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน รวมทั้งไทยครบทุกอารมณ์

และช่องรายการ Hay Ha (ช่อง 23 ในระบบดิจิทัล) ช่องที่นำเสนอรายการตลกขบขัน สนุกเฮฮา ลดความเครียด เพิ่มรอยยิ้ม พร้อมทั้งดึงผู้ผลิตที่มีศักยภาพ อาทิ ชวนชื่น ที่ผลิตรายการชวนชื่นโชว์ ลักษ์ 666 ที่ผลิตรายการสาระแนโชว์ เป็นต้น

โดย 2 ช่องใหม่ล่าสุดนี้ใช้งบฯลงทุนสูงไม่ต่ำกว่าช่องละ 100 ล้านบาท/ปี

“องอาจ” ย้ำว่า การลงทุนผลิตโลคอลคอนเทนต์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น เป็นการทำเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับแพ็กเกจการขาย และเพิ่มรายได้จาก “สมาชิก” เป็นหลัก เพราะมั่นใจว่าช่องโลคอลคอนเทนต์ที่มีอยู่จะช่วยให้ทรูวิชั่นส์ขยายฐานสมาชิกได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากอนาคตเคเบิลทีวีสามารถมีโฆษณาได้ และการเจรจากับอสมท เป็นผลสำเร็จ ช่องรายการที่เป็น “โลคอลคอนเทนต์” ที่มีอยู่แล้ว 20 ช่องก็จะสามารถมีโฆษณาได้

นั่นหมายความว่า นอกจาก “ทรูวิชั่นส์” จะเติบโตจากฐานสมาชิกที่เพิ่มขึ้นแล้ว รายได้จาก “โฆษณา” ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีอนาคตไม่น้อย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4037  หน้า 21

แท็ก คำค้นหา