ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที ก่อนเศรษฐกิจชาติหายนะ

บทบรรณาธิการ
กรุงเทพธุรกิจ

เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมและการปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเกิดการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายสิบคน ซึ่งในวานนี้ (5 ก.ย.) ถือว่าเป็นวันที่ 5 แล้วที่พระราชกำหนดดังกล่าวบังคับใช้ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์การชุมนุมได้ ดังนั้น จึงมีสภาพไม่ต่างกับไม่มีพระราชกำหนดอยู่เลย

การออกพระราชกำหนดฉบับนี้ เพื่อควบคุมสถานการณ์ ยังเป็นข้อกังขาของสังคมว่ามีความจำเป็นถึงขั้นนั้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าลักษณะของพระราชกำหนดเช่นนั้น เท่ากับประกาศว่าประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.อยู่ในสถานการณ์ความวุ่นวายและไม่สามารถควบคุมได้ แต่เหตุการณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขึ้นเป็นเพียงการปะทะกันระหว่างสองกลุ่มที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน ซึ่งอยู่ในวิสัยของเจ้าหน้าที่ที่จะสามารถป้องกันได้ ยิ่งกว่านั้น ยังมีข้อสงสัยอีกว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ของคนในรัฐบาลเสียเอง เพื่อนำพระราชกำหนดมาใช้ปราบปรามการชุมนุมต้านรัฐบาล

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อมีการแต่งตั้ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการ จึงประกาศท่าทีว่าจะไม่มีการใช้กำลังเพื่อสลายการชุมนุม แต่ป้องกันการปะทะระหว่างคนสองกลุ่มไม่ให้เกิดความรุนแรง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่ตามมาของพระราชกำหนดฉบับนี้ หาใช่เรื่องการเมืองไม่ แต่เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง เพราะอย่าลืมว่า การออกพระราชกำหนดเช่นนี้ ได้สร้างความหวาดวิตกและกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศอย่างรุนแรงต่อนักลงทุน ทั้งคนไทยและต่างชาติ ดังที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าการเมืองส่งผลมากกว่าที่คาดไว้

แม้ว่านายสมัครต้องการใช้พระราชกำหนดแก้ปัญหาการเมืองอย่างรวดเร็ว แต่ขณะนี้ ยังไม่มีแนวโน้มว่าการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรที่ปักหลักในทำเนียบรัฐบาล และความขัดแย้งของคนในสังคมจะเข้าในกรอบกติกา ซึ่งสถานการณ์ดูเหมือนจะยืดเยื้อไปอีกนาน แต่ผลกระทบด้านอื่น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ส่งผลกระทบทันที ที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนด ซึ่งจะเห็นได้จากธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศในขณะนี้ และเชื่อว่าผลกระทบด้านอื่นๆ ทางธุรกิจจะตามมาอีกมาก ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่ากลุ่มธุรกิจต่างๆ จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้

เราเห็นว่ารัฐบาลต้องยกเลิกพระราชกำหนดฉบับนี้ในทันที เพราะสถานการณ์การเมืองก็ไม่ดีกว่าช่วงก่อนหน้านั้นแต่อย่างใด แต่พระราชกำหนดฉบับนี้ กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง และถือเป็นการกระทำทางการเมืองของนายสมัคร ที่สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น แม้จะด้วยความหวังดีในการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ดังนั้น สิ่งที่นายสมัครต้องรับผิดชอบอันดับแรกในขณะนี้ ก็คือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แม้จะปฏิเสธความรับผิดชอบการปะทะกันของม็อบ ซึ่งเราเห็นว่าก็เพียงพอให้นายสมัครต้องลาออก แต่หากยังดื้ออยู่ นายสมัครก็ควรยกเลิกพระราชกำหนดทันที

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 6 กันยายน พ.ศ. 2551 05:00:00

แท็ก คำค้นหา