ปฏิกิริยา “สื่อเทศ” กับเหตุปะทะในไทย

สื่อเทศมองไทย – ภาพความรุนแรงจากการปะทะกันของพันธมิตรและนปช.วันที่ 2 ก.ย. ถูกสำนักข่าวต่างประเทศรายงานทั่วโลก

สื่อต่างประเทศต่างให้ความสนใจสถานการณ์ในไทยและรายงานข่าวกันชนิดเกาะติดขอบเวที ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวรอยเตอร์ส เอพี เอเอฟพี ที่รายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ เช่นเดียวกับเว็บไซต์ของสื่อยักษ์ใหญ่ อาทิ ซีเอ็นเอ็น บีบีซี นิวยอร์ก ไทม์ส วอยซ์ ออฟ อเมริกา เดอะการ์เดี้ยน เทเลกราฟ อัลจาซีรา บลูมเบิร์ก ไฟแนนเชียล ไทม์ส ต่างก็ให้น้ำหนักกับสถานการณ์ความรุนแรงในเมืองไทย โดยใส่รายงานข่าวดังกล่าวไว้ในหน้าแรกของเว็บไซต์

วอลล์สตรีต เจอร์นัล วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การเมืองของไทยไว้ในบทบรรณาธิการ โดยพาดหัวว่า “Thailand”s New (Old) Politics” ซึ่งบทวิเคราะห์ชิ้นนี้ได้ตั้งข้อสังเกตถึงบทบาทของฝ่ายที่มีส่วนตอกลิ่มความรุนแรงให้หยั่งลึกว่า ผู้นำม็อบที่ให้คำมั่นว่าจะเข้ามาสร้างสรรค์ประชาธิปไตยและระบบการเมืองที่ขาวสะอาด อาจจะกลายเป็นผู้ทำลายสิ่งนี้เสียเอง เพราะเมื่อย้อนดูถึงการต้อนรับรัฐประหารที่เกิดขึ้น และการเสนอการเมืองใหม่ที่ให้มีการเลือกตั้ง 30% ส่วนที่เหลือ 70% มาจากการแต่งตั้ง

ขณะที่ฝ่ายนายกฯสมัครก็ปฏิเสธความต้องการของกลุ่มต่อต้านที่ต้องการให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่าตนเองมาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง แต่นายสมัครก็มีส่วนผลักดันให้การเมืองเข้าสู่มุมอับรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังจากสั่งให้ตำรวจสลายการชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล จนเป็นชนวนให้เกิดการปะทะกันขึ้น

เช่นเดียวกับบทบาทของพรรคฝ่ายค้านที่มีส่วนทำให้การเมืองเดินสู่มุมอับ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกร้องให้นายสมัคร ลาออกและจัดเลือกตั้งใหม่ ซึ่งหากฝ่ายค้านต้องการจะปกป้องประชาธิปไตยไว้จริงก็ควรจะเรียกร้องให้ม็อบยอมสลายตัวมากกว่า

วอลล์สตรีตฯระบุว่า แทนที่จะมัวเล่นเกมอันตรายอยู่เช่นนี้ ทางที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูประชาธิปไตยของไทยไม่ใช่การกำจัดให้หมดไป แต่ควรจะทำให้ประชาธิปไตยเติบโตผ่านการถ่ายโอนอำนาจอย่างสันติ

ส่วน “เอมี คัซมิน” รายงานเรื่องนี้ไว้ในไฟแนนเชียล ไทม์ส โดยหยิบยกความเห็นของนายสุนัย ผาสุก ตัวแทนจากองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ (Human Rights Watch) ที่มองว่า การประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลอาจจะนำไปสู่ความรุนแรง

โดยนี่อาจนำไปสู่การใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯหลายพันคนที่ชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล หลังจากความพยายามของตำรวจเมื่อวันศุกร์ที่ 29 ส.ค.ไม่ประสบผลสำเร็จ จนนำไปสู่ เหตุปะทะ

ด้าน “รอยเตอร์ส” ระบุว่า เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯทำให้ทหารต้องออกมาบนท้องถนนอีกครั้ง แม้ภารกิจครั้งนี้จะเป็นไปเพื่อแบ่งเบาภาระของตำรวจ แต่การออกมาของทหารซึ่งแม้จะไม่มีอาวุธ แต่นี่ก็ได้ทำให้เกิดภาพที่คล้ายกับเหตุการณ์รัฐประหารยึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2549

ขณะที่ “โจนาธาน เฮด” ผู้สื่อข่าวของบีบีซีประจำประเทศไทยระบุว่า มีทางออกสำหรับวิกฤตการเมืองไทยไม่กี่หนทาง เพราะรัฐบาลยังคงได้รับเสียงสนับสนุนจากคนในชนบท และน่าจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาบริหารประเทศอีกหากมีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งกลุ่มพันธมิตรฯก็จะไม่สนับสนุนการเลือกตั้งดังกล่าว

เช่นเดียวกับ “อัลจาซีรา” ที่รวบรวมทางออกสำหรับวิกฤตครั้งนี้ไว้หลายแนวทาง รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน แม้รัฐบาลจะให้ทหารออกมาช่วยสลายการชุมนุม แต่ทหารก็น่าจะไม่ใช้ความรุนแรงกับประชาชน

นอกจากนี้ยังมีแนวทางที่นายกฯลาออก แล้วให้พรรคฝ่ายค้านขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลแทน ซึ่งหากล้มเหลวก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส่วนอีกแนวทางหนึ่งคือให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช่วยยุติความขัดแย้ง แต่โฆษกรัฐบาลก็ยืนยันว่า พระองค์ไม่ได้กดดันให้นายกฯลาออกแต่อย่างใด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 04 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4033  หน้า 17

แท็ก คำค้นหา