ต้นกำเนิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

คอลัมน์ เคียงข่าว
มติชนรายวัน

 

พระราชกำหนด(พ.ร.ก.)การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2548 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร โดยนิยามคำว่า สถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า เป็นสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัย รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่กระทบต่อสาธารณชน อาจเรียกว่า ครอบคลุมตั้งแต่เกิดการขบถ เกิดจลาจล เกิดภัยธรรมชาติ เกิดสึนามิ

สำหรับช่วงเวลาที่มีการออก พ.ร.ก. เนื่องจากเกิดเหตุความไม่สงบในคืนวันที่ 14 กรกฎาคม 48 โดยคน ร้ายได้ลอบวางระเบิดและวางเพลิงในพื้นที่เขตเทศบาลเมืองยะลาพร้อมกัน 20 จุด ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ให้ออก พ.ร.ก.ดังกล่าว มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำกฎหมายมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในแนวทางสันติวิธี โดยมียกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วออกเป็น พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยเปลี่ยนอำนาจจากฝ่ายทหารมาอยู่ในฝ่ายพลเรือนคือนายกรัฐมนตรี และเป็นความรับผิดชอบในระดับของคณะรัฐมนตรี ซึ่งต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภา

อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายดังกล่าวในระดับ พ.ร.ก.ถูกคัดค้านมากจากหลายภาคส่วนอาทิ นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส.ว. สภาทนายความ คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เนื่องจากเห็นว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ และขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ มีการตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 218 หรือไม่ในการออกกฎหมายฉบับนี้ในระดับ พ.ร.ก. โดยมีการโต้แย้งว่า ควรออกเป็นกฎหมายระดับ พ.ร.บ.เพื่อให้ผู้แทนปวงชนร่วมพิจารณาเนื่องจากเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ดีก็มีการเดินหน้าบังคับใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และมีการประกาศขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี เรื่อยมาจนถึงประกาศฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2551

ล่าสุดที่มีเหตุการณ์ปะทะกันของนปช. และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม.เมื่อเวลา 07.00 น. วันที่ 2 กันยายน

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 03 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11134 หน้า 9

แท็ก คำค้นหา