เจาะถุงเงินสนธิ (ลิ้ม) กลางสมรภูมิโค่นรัฐบาล ASTV “ขาดทุน” บักโกรก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า อานุภาพของ สื่ออินเทอร์เน็ต และการก่อกำเนิดของเอเอสทีวี คือมูลค่าทางการตลาดในการต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทว่า ชั่วโมงนี้ศึกสุดท้ายของพันธมิตรฯกับรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อาจเป็น ศึกสุดท้ายของสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสื่อในเครือผู้จัดการก็เป็นได้ ?

เพราะจากคำพูดล่าสุดของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ (เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา) ที่แจ้งถึงความคืบหน้ายอดบริจาคเงินจากประชาชนทั่วประเทศเพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายและเป็นค่าจ้างพนักงาน ASTV บ่งบอกถึงสถานะของสื่อในค่ายบ้านพระอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี

“หลังจากเปิดรับบริจาคมา 6 วัน มียอดเงินบริจาค 6,600,000 บาท นอกจากนี้ยังมีทองคำแท่งหนัก 80 บาท คิดเป็นมูลค่าล้านบาทเศษ ทั้งนี้ผมได้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมหากในวันนี้ พรุ่งนี้ จะไม่ได้อยู่” พล.ต.จำลองกล่าว

นอกจากนี้ หากย้อนกลับมาดูข้อมูลจำเพาะของ บริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าช่วง 3 ปีแห่งการสู้รบ ผลประกอบการทางธุรกิจของเอเอสทีวีและสื่อในเครือผู้จัดการ ไม่ใคร่ดีนัก อยู่ในสถานะ “ขาดทุน” มากกว่า “กำไร”

ทั้งนี้ พบว่าบริษัทเอเอสทีวีก่อตั้งเมื่อ วันที่ 13 ธันวาคม 2549 ด้วยทุนจดทะเบียนครั้งแรก 1 แสนบาท ต่อมา 6 กุมภาพันธ์ 2550 ในช่วงการเมืองแบ่งข้างอย่างดุเดือด จึงมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 250 ล้านบาท

พลิกดูงบกำไรขาดทุน พบว่าปี 2550 เอเอสทีวีขาดทุนสุทธิ 661,498 บาท สินทรัพย์และหนี้สินเท่ากันคือ 249.3 ล้านบาท และปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 11,915 บาท

ขณะที่ บริษัท ไทยเดย์ ด็อท คอม จำกัด แม่ข่ายใหญ่ในการบริหารบริษัท ผลิตสื่อวิทยุ โทรทัศน์ เว็บไซต์ หนังสือ นิตยสาร ในเครือผู้จัดการ ที่มีนายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล บุตรชายนายสนธิ เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็อยู่ในสถานะรอมร่อไม่ต่าง

บริษัทไทยเดย์ฯก่อตั้งวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ด้วยทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ต่อมาเปลี่ยนแปลงทุน เพิ่มเป็น 60 ล้านบาท (2 กันยายน 2546) ผลประกอบการปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 142.6 ล้านบาท ปี 2548 ขาดทุนสุทธิ 236.6 ล้านบาท ปี 2547 ขาดทุนสุทธิ 62.5 ล้านบาท

มีก็แต่ช่วงปี 2546 ที่บริษัทมีกำไร 4.1 ล้านบาท และปี 2545 มีกำไร 3.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่สัมพันธภาพระหว่างกลุ่มผู้จัดการและรัฐบาลไทยรักไทยขณะนั้นเป็นไปด้วยดี

นอกจากนี้ บริษัท ภูเก็ตบลูสกาย จำกัด ที่นายจิตตนาถเป็นกรรมการ ก่อตั้งวันที่ 8 มีนาคม 2547 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 49/1 อาคารบ้านเจ้าพระยา ชั้น 3 ถนนพระอาทิตย์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ทำธุรกิจ ซื้อ จัดหา รับเช่าซื้อ ก็พบว่าขาดทุน ติดต่อกัน

โดยปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 23,316 บาท ปี 2548 ขาดทุนสุทธิ 4,263 บาท และปี 2547 ขาดทุนสุทธิ 1,727 บาท

หรือกระทั่งห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรพัฒน์ คอมมิค บริษัทผลิตและจำหน่ายหนังสือการ์ตูน ของนายจิตตนาถ ผลประกอบการในแง่ธุรกิจก็ไม่ค่อยสวยนัก โดยปี 2549 ขาดทุนสุทธิ 2.3 ล้านบาท ปี 2548 ขาดทุนสุทธิ 5.2 ล้านปี 2547 ขาดทุนสุทธิ 16,740 บาท ปี 2546 ขาดทุนสุทธิ 754,209 บาท และปี 2545 ขาดทุนสุทธิ 735,530 บาท

กล่าวสำหรับสนธิ หัวเรือใหญ่ของ ผู้จัดการ เขาเป็นบุรุษที่ประสบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ก่อนหน้านี้ในช่วงวิกฤตปี 2540 เขาเคยถูกฟ้องล้มละลาย แต่หลังจากนั้น 3 ปี เขาก็พ้นจากภาวะ ล้มละลาย นำผู้จัดการกลับมาผงาด อีกครั้งหนึ่ง

แต่วันนี้ เขาถูกศาลออกหมายจับพร้อมกับแกนนำพันธมิตรฯอีก 8 คน ความผิดฐานเป็น “กบฏ”

นักข่าวค่ายพระอาทิตย์รายหนึ่งเล่าว่า “ถึงวันนี้ยังไม่ได้ยินคำชี้แจงอย่างเป็นทางการถึงอนาคตของผู้จัดการจากปากสนธิ ลิ้มทองกุล”

นักข่าวยอมรับว่า ขณะนี้บริษัทไทยเดย์ฯที่ผลิตเอเอสทีวีนั้นมีปัญหาด้านการเงินจริง แต่ก็ยังสามารถจ่ายค่าตอบแทนนักข่าวได้ตามปกติ ไม่เหมือนก่อนเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 กันยาฯ 2549 ที่นักข่าวส่วนใหญ่ทำงานด้วยอุดมการณ์ล้วนๆ

กล่าวได้ว่า สถานการณ์สื่อผู้จัดการ นาทีนี้ ก็มิได้ปลอดโปร่งไปกว่าม็อบพันธมิตรฯที่ทำเนียบเท่าใดนัก ?

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4032 หน้า 32

แท็ก คำค้นหา