เปิดรัฐสภาแก้วิกฤต…คิดผิดหรือถูก

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

จนถึงเช้าวันนี้ สถานการณ์การเมืองไทยคลี่คลายไปอย่างไร คงทราบจากพาดหัวข่าวกันแล้วนะครับ ผมอ่านสถานการณ์ล่วงหน้าก่อนการประชุมรัฐสภา ก็ผิดบ้าง ถูกบ้าง อย่างนี้แหละ

ความเคลื่อนไหวที่แม้จะผ่านเลยไปแล้วแต่ผมอยากชวนคุย ชวนคิด คือแนวทางการแก้วิกฤตด้วยการเปิดประชุมรัฐสภาวาระพิเศษ ที่ผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลเสนอและนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เห็นชอบด้วยนั้น เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่

ทำไมพรรคร่วมรัฐบาลถึงเลือกทางออกนี้ แทนที่จะประกาศถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยไม่ต้องมีการประชุมรัฐสภา

ผมวิเคราะห์ว่าเหตุผลเบื้องหน้า ก็คือข้ออ้างที่บอกว่าเพื่อให้ความขัดแย้ง ถูกนำเข้าไปแสวงหาทางออกร่วมกันในที่ประชุมรัฐสภา

แต่เบื้องหลัง เจตจำนงที่แท้จริง คือโอกาสที่จะได้เป็นรัฐบาลต่อไปและเพื่อไม่ให้นายสมัครรู้สึกว่าถูกบีบโดยตรง เช่น ครั้งหนึ่งในอดีต นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย เคยประสบมาแล้ว ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่นายบรรหารฮึดสู้ แก้ลำพรรคร่วมรัฐบาลด้วยการยุบสภาในที่สุด

สถานการณ์ของนายสมัครกับพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นไปทำนองนั้น เพราะลึกๆ แล้วพรรคร่วมรัฐบาลไม่อยากให้ยุบสภา ต้องเสียเงินเลือกตั้งใหม่ แต่หากให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างกว้างขวางอาจทำให้นายสมัครโอนอ่อนยอมตัดสินใจลาออก โดยพลพรรคพลังประชาชนยังมีอำนาจต่อรองสูงกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ต่อไป

และเนื่องจากพรรคพลังประชาชนถูกต่อต้านอย่างหนัก การแข็งขืนที่จะเสนอคนของพรรคขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมตรีต่อจากนายสมัคร อาจถูกต่อต้านไม่สิ้นสุด โอกาสของหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะนายบรรหาร จึงมีสูงกว่าใครเพื่อน

ปัญหาอยู่ที่ว่า นายทุนพรรคพลังประชาชนจะสนับสนุนนายบรรหารหรือไม่ ผมอ่านเกมว่าพรรคพลังประชาชนไม่มีทางเลือกอื่น การเลือกหนทางนี้ย่อมดีกว่าถูกยุบสภา ต้องลงเลือกตั้งใหม่

ยกเว้นแต่ว่า นายสมัครไม่ยอมเจ็บคนเดียว และประกาศยุบสภาให้เจ็บตัวด้วยกันทั้งหมด

และทำให้เกิดคำถามว่า ระหว่างถอนตัวเพื่อบีบให้นายสมัครลาออกหรือยุบสภาทันที กับการให้เปิดประชุมรัฐสภา แนวทางใดถูกต้อง เกิดประโยชน์กว่ากัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ วันนี้ เป็นคำตอบได้ดี ว่าพรรคร่วมรัฐบาลตัดสินใจถูกหรือผิด

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงของสถานการณ์ความขัดแย้ง รุนแรง พัฒนาไปไกลและลึกเกินกว่าแนวทางที่พรรคร่วมรัฐบาลคิด

การเสนอทางออกด้วยการเปิดประชุมรัฐสภาบนพื้นฐาน ที่มีผลประโยชน์ของตัวแฝงอยู่ในประโยชน์ส่วนรวม อาจเป็นการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาลก็เป็นได้

โดยรูปแบบอาจจะถูก แต่โดยเนื้อหาแล้วผิด เพราะแทนที่จะเป็นเวทีหาทางออกให้กับความขัดแย้ง กลับกลายเป็นเวทีด่ากราดพันธมิตร และทะเลาะกันเองระหว่างพรรคพลังประชาชน กับฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก ยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงลุกลามไปใหญ่

ขณะเดียวกัน เป็นเวทีปลอบขวัญ ปลุกใจ และเติมเชื้อเพลิง ให้นายสมัครฮึกเหิมขึ้นมาอีก ตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉิน สั่งสลายการชุมนุมครั้งใหญ่ ซึ่งผมภาวนาว่าขออย่าให้เหตุการณ์จบลงอย่างนั้นเป็นอันขาด และเชื่อว่ากองทัพเลือกข้างประชาชนผู้บริสุทธิ์และชอบธรรม

ผมทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามตัวเองว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไร สรุปง่ายๆ เพราะปากแท้ๆ พูดแล้วไม่ทำตามที่พูด พูดว่า แก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ช่วงปลายสมัยรัฐบาล แต่ไม่ทันไรเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ พูดว่าชุมนุมก็ชุมนุมไป แต่พอข้ามวันตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุม รื้อเวทีผู้ชุมนุม ฯลฯ

แทบไม่ต้องพูดถึง การประกาศตัวเป็นนอมินีและไม่มีวันทรยศหักหลังอดีตนายกรัฐมนตรี กับการดำเนินนโยบายที่ถูกสงสัย ล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดการชุมนุมต่อต้านบานปลายจนควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ หมดสภาพของฝ่ายบริหารในที่สุด

ถามว่า ทางออกต่อไปเป็นอย่างไร ผมเสนอให้จับตาข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา นิด้าที่ว่า ให้รัฐสภามีมติงดใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 171 วรรค 2 ที่ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ครับ สุดท้ายแล้วสถานการณ์จบลงอย่างไรก็ตาม อดหวนคิดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ได้ เวรกรรมมีจริง ใครทำกรรมอะไรไว้ ย่อมได้รับผลแห่งกรรมนั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 01 กันยายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11132 หน้า 2

แท็ก คำค้นหา