หุ่นเชิดภาค อสมท

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com

 

แม้จะล้มเหลวในการเข้ายึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 แต่กลุ่มพันธมิตรก็ประสบความสำเร็จในการเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล จนนายสมัคร สุนทรเวช ต้องเร่ร่อนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีไร้ทำเนียบ

แม้จะคุยว่า ยังรักษาสถานะทางการเมืองไว้ได้ แต่สำหรับต่างประเทศแล้ว การปล่อยให้ทำเนียบรัฐบาล (มีสำนักข่าวกรองแห่งชาติรวมอยู่ด้วย) ซึ่งเป็นหัวใจในการบริหารประเทศถูกยึดแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอ ความไร้เสถียรภาพและความไม่น่าเชื่อถือของรัฐบาล

เพราะไม่มีรัฐบาลประเทศใดในโลกที่จะปล่อยให้ทำเนียบต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายอื่นเพราะเท่ากับพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

การบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มพันธมิตรนั้น มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหลายบทหลายมาตราซึ่งรัฐบาลสามารถใช้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าจัดการกับผู้ที่กระทำผิดได้อยู่แล้ว

แต่เพราะความอ่อนแอ ไร้น้ำยา รัฐบาลจึงต้องยืมอำนาจของศาลแพ่งมาขับไล่กลุ่มพันธมิตรออกจากทำเนียบรัฐบาลแทน ซึ่งแม้กลุ่มพันธมิตรจะขัดขืนก็ไม่มีโทษในทางอาญาเพียงแต่โจทก์อาจมีคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งจับกุมและกักขังจำเลยจนกว่าการบังคับคดีจะเสร็จสิ้นเท่านั้น (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 297)

อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลอาจมองว่า การใช้อำนาจศาลแพ่งบังคับแทนที่จะใช้อำนาจฝ่ายบริหารขับไล่กลุ่มพันธมิตรออกจากทำเนียบเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลมากขึ้น

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังปั่นป่วน รัฐบาลก็เริ่มปฏิบัติการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์และวิทยุในเครือข่ายของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) อีกครั้งหนึ่ง

หลังจากที่นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเคยพยายามมาแล้วเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2551 ด้วยความพยายามเปลี่ยนตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แต่ไม่สำเร็จ โดยอ้างว่า บริหารงานขาดทุนมากที่สุดในรอบ 7 ปี โดยเฉพาะในเดือนมกราคม 2551

ในครั้งนั้นนายจักรภพขู่ให้นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ พิจารณาตัวเอง มิเช่นนั้น เมื่อมีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่แล้ว คณะกรรมการบริหารชุดใหม่จะเป็นผู้พิจารณา

แต่แล้วนายจักรภพก็ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีฯไปเสียก่อน

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ซึ่งมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ (บิดาเลขานุการของนายจักรภพ) เป็นประธาน มีมติเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 ว่า นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ทำผิดสัญญาจ้างโดยอ้างว่า ไม่ทำแผนธุรกิจประจำปี 2551 เสนอต่อคณะกรรมการบริหารโดยให้นายวสันต์ไปจัดทำกลับมาเสนอใหม่ภายในวันที่ 5 กันยายน 2551

แม้นายวสันต์ยืนยันว่า ได้เสนอแผนงานดังกล่าวแล้วตั้งแต่ปลายปี 2550 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารชุดก่อนแล้ว แต่คณะกรรมการบริหารชุดปัจจุบัน อ้างว่า แผนงานฉบับดังกล่าวไม่ใช่แผนธุรกิจของกรรมการผู้อำนวยการ แต่เป็นแผนงานของบริษัท อสมท แม้นายวสันต์พยายามอธิบายว่า แผนงานดังกล่าว ในฐานะผู้บริหารได้เป็นผู้ดำเนินการ แต่ทางคณะกรรมการบริหารไม่ยอมรับฟัง

แน่นอนว่า คณะกรรมการบริหารอาจจะนำข้ออ้างเรื่องทำผิดสัญญาจ้างดังกล่าวมาใช้ในการปลดนายวสันต์ออกจากตำแหน่ง

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้ออ้างที่จะปลดนายวสันต์ออกจากตำแหน่งนั้น ไม่ใช่เรื่องการบริหารงานขาดทุนเหมือนกับที่นายจักรภพอ้างในตอนแรกเพราะ ปรากฏว่า ผลประกอบการของ อสมท ในไตรมาสแรกของปี 2551 มีกำไรสูงกว่าปี 2550 โดยมีกำไรสุทธิ จำนวน 406 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68 ขณะที่ช่วงหกเดือนแรกของปี 2551 มีจำนวน 641 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36

เมื่อไม่สามารถนำเรื่องผลประกอบการมาเล่นงานนายวสันต์ได้ จึงหาเรื่องเล็กๆ เช่น เรื่องการทำแผนธุรกิจหรือไม่ มาเป็นข้ออ้างแทน ลักษณะจึงไม่ต่างจากนิทานอิสปเรื่อง “หมาป่ากับลูกแกะ”

ผู้ที่เป็นตัวตั้งตัวตีในการจัดการเรื่องนี้เป็นนักกฎหมายใหญ่ไร้จริยธรรมที่ร่อนเร่หาตำแหน่งใหญ่มาหลายหน่วยงาน ร่วมมือกับมือกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าต้องรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน

นักกฎหมายใหญ่ผู้นี้ เคยเป็นผู้ทำสัญญาจ้างพนักงาน อสมท ในแบบรับจ้างทำของ ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระเป็นการจ้างแรงงาน ทำให้พนักงานไม่ได้รับสวัสดิการที่ควรจะได้รับอยู่นานนับปี จนกระทั่งถูกเปิดโปง แต่สหภาพแรงงาน อสมท กลับยอมรับบุคคลคนนี้

ถ้าการปลดนายวสันต์สำเร็จ เดาได้เลยว่า กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ต้องเป็นบุคคลประเภทที่รัฐบาลสั่งได้ซึ่งแน่นอนว่า อสมท จะกลายเป็นกระบอกเสียงสำคัญของรัฐบาลและเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาลของผู้มีอำนาจในรัฐบาลเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ช่อง 11

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่า นอกจากจะมีรัฐบาลหุ่นเชิดที่ฟังคำสั่งอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว

ยังมีหุ่นเชิดภาค อสมท ที่ฟังคำสั่งจากอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11130 หน้า 2

แท็ก คำค้นหา