จุดยืนสื่อ ในสถานการณ์ความขัดแย้ง

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
มติชนรายวัน

 

ลองสำรวจตรวจตราอย่างพินิจพิเคราะห์ดูซิว่า ในท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคมที่แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย จากกรณีความขัดแย้งทางการเมือง สื่อมวลชนได้ทำหน้าที่อย่างไร สื่อไหนสมควรได้รับการยอมรับอย่างมีเหตุผล มีหลักวิชาทั้งวิชาการและวิชาชีพว่าเป็น “สื่อของมวลชน” อย่างแท้จริง ไม่ใช่สื่อของพรรคและพวกที่มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายเฉพาะเพื่อพรรคและพวกของตนเอง

มีคนเรียกร้องให้สื่อวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ต้องการเห็นสื่อไม่ยั่วยุ ไม่ทำให้เหตุการณ์ขัดแย้งนั้นบานปลายจนนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นนองเลือด เสียงเรียกร้องนั้นมาจากคนทั่วไปและนักวิชาการบางส่วน ซึ่งฟังดูก็น่าจะเข้าท่า แต่ถ้ามองให้ลึกถึงแก่นแท้ มองให้กว้างอย่างรอบด้าน ใช้ประสบการณ์ในอดีตมาประกอบการพิจารณาก็จะพบ “ความจริงแท้” ที่อธิบายสถานการณ์ความขัดแย้งและบทบาทหน้าที่ของสื่อได้อย่างไม่ผิดพลาด และสุดท้ายการจะเรียกร้องอะไร อย่างไรก็จะไม่กลายเป็นความเพ้อเจ้อ เลื่อนลอยจนตกเป็นเครื่องมือของบางฝ่ายไปโดยไม่รู้ตัว

กล่าวสำหรับสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลัก ประกอบด้วยหนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ ทั้ง 3 สื่อนี้มีความแตกต่างกัน โดยหนังสือพิมพ์เป็นสื่อของเอกชน มีประวัติการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของวิชาชีพหนังสือพิมพ์และการแสดงออกในการพูด การแสดงความคิดเห็น การชุมนุมเรียกร้องของประชาชนมาช้านาน ถูกจับติดคุกติดตะราง ถูกปิดโรงพิมพ์ ถูกฆ่าตายมาจำนวนไม่รู้เท่าไร

ในขณะที่วิทยุ และโทรทัศน์ถือเป็น “สื่อของรัฐ” กล่าวคือ ผู้มีอำนาจรัฐได้นำคลื่นความถี่ที่ใช้ส่งกระจายเสียงทางวิทยุและโทรทัศน์มาใช้ในการกระจายเสียงและแพร่ภาพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพ อากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ อสมท ฯลฯ โดยถือสิทธิว่า วิทยุทุกคลื่น (ทุกสถานี) โทรทัศน์ทุกช่องเป็นของรัฐบาล (แม้บางสถานีจะให้สัมปทานเอกชนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเงิน) ก็จะต้องเสนอข่าวและรายการต่างๆ ที่ไม่กระทบกระเทือนหรือสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ปกครองประเทศ

สื่อของรัฐถูกคาดหวังจากรัฐบาลว่าจะไม่เสนอข่าวและรายการที่เกิดความเสียหายกับรัฐบาลโดยไม่สนใจว่ารัฐบาลทำดี ทำชั่วอย่างไร ไม่นำพาว่า ปฏิกิริยาของภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเป็นแบบไหน แต่ในแง่ของมวลชนนั้นมีสิทธิพูดได้อย่างเต็มปากว่า คลื่นความถี่ที่อยู่ในอากาศเป็น “ทรัพยากรสื่อสารของชาติ” และต้องถูกใช้ “เพื่อประโยชน์ของสาธารณะ” ทั้งมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ “สื่อของรัฐ” หันกลับมาเป็น “สื่อของมวลชน”

ในตำราวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ถือว่า หนังสือพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์เป็น “สื่อมวลชน” เพราะนำเสนอข่าวสารและเรื่องราวไปสู่สาธารณชน ซึ่งจำแนกแยกแยะไม่ได้ว่าเป็นใคร กลุ่มไหน และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า สื่อมวลชนไม่เกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครอง

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยก็เคารพในสิทธิเสรีภาพของสื่อในการพิมพ์ การโฆษณา ถือเป็นเนื้อเดียวกับเสรีภาพของคนทุกคนในการพูด การแสดงความคิดเห็น การเขียน การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตรงกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ประกาศเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 และรัฐธรรมนูญของไทยฉบับต่างๆ รวมถึงฉบับปัจจุบันก็บัญญัติไว้ชัดแจ้ง นี่เองจึงมีคำกล่าวที่ว่า “เสรีภาพหนังสือพิมพ์คือเสรีภาพประชาชน” และเปลี่ยนมาเป็น “เสรีภาพสื่อมวลชนคือเสรีภาพประชาชน” เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยที่มนุษย์ต้องดำรงชีวิตอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดยสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่อประชาชน ด้วยความแตกต่างในโครงสร้างและจุดกำเนิดของสื่อแขนงต่างๆ รวมทั้งจากอดีตที่ผ่านมา สื่อของรัฐถูกกล่าวหาและประณามว่า ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเวลาเกิดข้อขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ดังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสื่อ” แต่น่าเสียดายที่จนถึงวันนี้แทบไม่มีความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์เกิดขึ้นกับวิทยุและโทรทัศน์

ต้องยอมรับว่า ความขัดแย้งทางความคิดของคนในปัจจุบันนั้นมีอยู่จริง เป็นสภาวะที่ร้าวลึกจนน่าเป็นห่วงและอาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงขั้นเกิด “สงครามกลางเมือง” แม้ว่า ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันอาจจะเกิดถ้าหากนักการเมืองที่เป็นฝ่ายรัฐบาลยั่วยุอยู่ทุกวัน เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ คอยให้ท้ายอันธพาลกวนเมือง ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะข้าราชการฝ่ายปกครอง ตำรวจ ก็นิ่งดูดายไม่หาทางป้องกันหรือปราบปราม ดังกรณีการล้อมปราบที่หนองประจักษ์ จังหวัดอุดรธานี

ถามว่าสื่อจะวางตัวหรือมี “จุดยืน” อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ ก่อนจะตอบต้องย้อนกลับไปในช่วง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาล ตอนนั้นถ้าสื่อไม่หลอกตัวเองต้องยอมรับว่า สื่อทุกแขนงโดยเฉพาะวิทยุและโทรทัศน์ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ แต่สุดท้ายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณก็เผชิญวิกฤตเพราะความฉ้อฉลและความเลวร้ายต่างๆ มีมากเกินกว่าที่ใครหรือสื่อใดจะปกปิด หรือบิดเบือนได้

การเกิดวิกฤตครั้งใหม่ในรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นความต่อเนื่องของสถานการณ์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณและพวก รวมทั้งพรรคพลังประชาชนจะถูกตรวจสอบโดยองค์กรอิสระถูกพิพากษาโดยศาลยุติธรรม มีโทษถึงติดคุกและยุบพรรค ทำให้พรรคพลังประชาชนต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา เป็นเหตุให้ถูกต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ไม่ว่าสื่อใด มิอาจวางตัวอยู่ตรงกลางได้ ตรงกันข้ามสื่อต้องแสดงจุดยืนเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น “สื่อของมวลชน” ให้สมกับการเป็นวิชาชีพที่ยืนอยู่กับความจริง นำเสนอข่าวอย่างมืออาชีพ นั่นคือรอบด้านและเจาะลึก ไม่เลือกเสนอข่าวแต่เฉพาะที่เป็นผลดีต่อฝักฝ่ายของรัฐบาล โดยเฉพาะโทรทัศน์ช่องต่างๆ ควรจะรู้ว่าการเสนอข่าวสารในปัจจุบันไม่ได้แสดงออกซึ่งการมีฝีมือและปัญญาสมกับการเป็นสื่อของมวลชนเลย จึงมีเสียงบ่นระคนการก่นด่าเมื่อดูข่าวโทรทัศน์ นี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่คนหันไปดู ASTV มากขึ้นทุกวันแถมยังบริจาคเงินให้อีกด้วย

จากคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร คนละ 3 ปี และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน 2 ปี ในความผิดฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีบริษัท ชินคอร์ปฯ ควรจะทำให้สื่อและสถาบันต่างๆ ตื่นขึ้นมาจากความหลงผิดแล้วทำหน้าที่ด้วยจุดยืนที่จะทำให้สังคมหูตาสว่าง ยืนเคียงข้างความถูกต้อง ไม่ยอมเป็นมือเป็นไม้ของฝ่ายฉ้อฉลอีกต่อไป

ทั้งนี้ มิใช่เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ล่อแหลมต่อการเกิดเหตุวุ่นวายและการนองเลือดเท่านั้น หากแต่เป็นการธำรงสถานะของการเป็นสื่อของมวลชนเอาไว้ ก่อนที่จะถูกก่นด่าและถูกประณามจากคนในสังคมมากไปกว่านี้

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11107 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา