บทบาทสื่อ อันมีผลต่อสถานการณ์การเมืองที่ไม่พึงประสงค์

โดย ธิดา ถาวรเศรษฐ

ผู้เขียนมีประสบการณ์ตรงในเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519 โดยระยะเวลาที่ใคร่จะเสนอต่อท่านผู้อ่าน คือ ระยะเวลาปี พ.ศ.2517-2519 นั่นคือ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ใหม่ๆ บทบาทนักศึกษาปัญญาชนอยู่ในฐานะผู้นำสังคมไทยสูงมาก แต่ระยะเวลานั้นเป็นระยะเวลาร่วมสมัยกับสงครามปลดปล่อยอินโดจีน โดยพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย และกระแสสังคมนิยมโลก ขึ้นสู่กระแสสูง

เมื่อนักศึกษา ปัญญาชน บางส่วนรับกระแสสังคมนิยมโลกเข้ามาเป็นแนวศึกษาใหม่ แสดงออกโดยการจัดนิทรรศการประเทศสังคมนิยม และการต่อต้านจักรพรรดินิยมสำคัญในยุคนั้นที่ก้าวเข้ามามีบทบาทในดินแดนแถบนี้ คือ สหรัฐอเมริกา

ทำให้ความกลัวแผ่ทั่วไปในกลุ่มชนชั้นสูง และผู้มีฐานะมั่งคั่งและหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งกลัวทฤษฎีโดมิโน กลัวไทยเป็นโดมิโนที่จะต้องล้มเป็นตัวต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามประเทศอินโดจีนสามารถเอาชนะสหรัฐอเมริกาที่ส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามเต็มที่ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด

ความขัดแย้งทางความคิดและความหวาดกลัวจึงขึ้นสู่กระแสสูงมาก ทำให้กระบวนการจัดตั้งการต่อสู้มีหลายรูปแบบ สื่อชนิดต่างๆ จึงเข้ามาร่วมส่วนในความขัดแย้ง โดยมีบทบาทที่เป็นนัยสำคัญ

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กระบวนการทำลายนักศึกษาปัญญาชนที่เป็นหัวหอกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

เหตุการณ์ที่ผู้เขียนพบโดยตนเองนั้น เกิดขึ้นในโครงการช่วยเหลือชาวนาชาวไร่ที่ทบวงมหาวิทยาลัยจัดร่วมกับสำนักนายกรัฐมนตรี

ในยุคนั้นเป็นยุคอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นรัฐมนตรีทบวงมหาวิทยาลัย ผู้เขียนในฐานะอาจารย์ที่เพิ่งจบการศึกษาเป็นที่ปรึกษาในโครงการ ได้ถูกขอร้องจากกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่เข้าไปร่วมโครงการที่อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ ให้ร่วมเดินทางและร่วมกับนักศึกษาในการดำเนินโครงการนี้ในเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

เหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นการร้องทุกข์ของบรรดาชาวนาที่ถูกนายทุนเงินกู้นอกระบบให้กู้โดยเซ็นชื่อหรือประทับนิ้วหัวแม่มือบนกระดาษเปล่า ทำให้กลายเป็นสัญญาเงินกู้เท็จ เพราะนายทุนเงินกู้ไปเติมตัวเลขหนี้สินตามใจชอบ สิบเท่าร้อยเท่า ทำให้ชาวนาต้องสูญเสียที่ดิน และกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวอย่างน่าอเนจอนาถอย่างที่ผู้เขียนไม่เคยนึกว่ามนุษย์ด้วยกันจะกระทำกันอย่างนี้ได้ถึงเพียงนั้น ภาพที่ชาวนานับร้อยชี้ตัวนายทุนนอกระบบ และร้องไห้ระงมในการนำเรื่องราวมาร้องทุกข์ ยังชัดเจนอยู่ในสมองของผู้เขียน แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายสิบปี

และก็ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ชั่วข้ามคืน หลังจากเราทำงานไปได้ 1-2 วัน ทั้งที่มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจากอำเภอ จากตำรวจ และหน่วยงานรัฐอื่นๆ ด้วยกัน โดยมีนักศึกษาเป็นผู้สัมภาษณ์รับเรื่องเท่านั้น

แต่มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับพากันประโคมข่าวว่า นักศึกษาบุกไปพร้อมด้วยระเบิด ปืนในย่าม เพื่อก่อความวุ่นวาย วินาศกรรม ที่อำเภอท่าตะโก ทั้งที่ในความจริงนักศึกษาชุดนั้นและผู้เขียนเอง ต้องคอยหลบหนีการประทุษร้ายต่อชีวิต โดยการนอนค้างคืนตามศาลาวัดต่างๆ โดยไม่ให้ใครทราบล่วงหน้าและเปลี่ยนสถานที่ทุกคืน

และหลังจากนั้น กลุ่มนักศึกษาอื่นๆ ที่ไปทำงานคล้ายกันในจังหวัดอื่นๆ ก็ถูกหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ในยุคนั้นกล่าวหาแบบเดียวกัน พร้อมเขียนบทความรับลูกต่อให้ผู้อ่านเกลียดชังกลุ่มนักศึกษาทั้งหมด

ผู้เขียนจะไม่พูดถึงการจัดตั้งนักศึกษาอาชีวะ และลูกเสือชาวบ้านให้เกลียดชัง และบุกมาทำลายนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเหตุการณ์ร่วมสมัยครั้งนั้น

เอาเป็นว่า ในวันสุดท้ายก่อนประเทศเข้าสู่หุบเหวของความแตกแยก การใช้สื่อวิทยุปลุกระดมคนให้บุกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการกล่าวหาว่าละครที่แสดงถึงการผูกคอพนักงานรัฐวิสาหกิจสองคนที่นครปฐม เป็นการแสดงที่หมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะมีการทำให้ภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์บางฉบับใกล้เคียงกับภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งต่อมาประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่านี่เป็นการแต่งเรื่องขึ้นทั้งสิ้น

ผู้เขียนพูดเท้าความถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงนี้เพราะต้องการเรียกร้อง “จรรยาบรรณของสื่อ” ที่ควรกลั่นกรองข่าวต่างๆ ก่อนนำลงต่อสาธารณชน และการเขียนขยายความ นำพา ชักจูง บนพื้นฐานของข่าวที่ไม่ตรงความจริง เพราะการกระทำเช่นนี้จะนำพาประเทศชาติประชาชนไปสู่ความพินาศหายนะอย่างร้ายแรง ดังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนนักศึกษาปัญญาชนจำนวนมากต้องหนีการกระทำอันเหี้ยมโหดไปอยู่ในเขตป่าเขายาวนาน และยกระดับความขัดแย้ง การต่อสู้ มีการสูญเสียมากมาย

ผู้ที่ประสบความเท็จโดยสมบูรณ์ของการนำเสนอข่าวเท่านั้นจึงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และเป็นห่วงชะตากรรมของประเทศชาติ เมื่อความเท็จถูกนำเสนอ และครอบครองสังคมที่สติปัญญาถูกบดบังครอบงำ

นอกจากนั้นผู้เขียนขอเสนอว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายห้ามมิให้คนกลุ่มเดียวกันเป็นเจ้าของสื่อหลายแขนง เช่น ห้ามมิให้เป็นเจ้าของสื่อหนังสือพิมพ์ (สิ่งพิมพ์) ไปพร้อมๆ กับเป็นเจ้าของสื่อวิทยุโทรทัศน์ คือทำหนังสือพิมพ์ไปพร้อมๆ กับทำโทรทัศน์วิทยุ และสื่ออื่นๆ เพื่อขจัดการครอบงำสื่อโดยกลุ่มคนชุดเดียวกัน ตามแบบอารยประเทศ

มิใช่ห้ามเฉพาะนักการเมืองมาเกี่ยวข้องกับสื่อเพียงอย่างเดียว

ที่มา มติชน วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11104 หน้า 6

แท็ก คำค้นหา