ถามหาผู้คุมโฆษณาทางโทรทัศน์ ในรายการเด็ก

วิทยา กุลสมบูรณ์
หนังสือพิมพ์มติชน
การถือกำเนิดของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ได้สร้างผลกระทบที่ภาคประชาสังคมด้านผู้บริโภคและเครือข่ายครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กและเยาวชน ไม่คาดคิดมาก่อน

เป็นการสร้างโอกาสที่ถูกนำมาใช้เป็นข้อเลี่ยงสำหรับการดำเนินการบังคับใช้กฎกติกาของการควบคุมโฆษณาทางโทรทัศน์วิทยุต่างๆ หลายต่อหลายฉบับ

เช่น การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การจัดระดับรายการโทรทัศน์ หรือเรตติ้ง การควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และรวมไปถึงการโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็ก

กรมประชาสัมพันธ์ได้ออกประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์และระยะเวลาสำหรับการโฆษณาและบริการธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเด็กทางสถานีวิทยุโทรทัศน์” ลงวันที่ 18 มกราคม 2551 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551

ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีการตีความสาระในกฎหมายว่า อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งเคยมีอำนาจในการควบคุมดูแลการโฆษณาทางโทรทัศน์มาโดยตลอดนั้น ขณะนี้ไม่มีอำนาจในการควบคุมกำกับการโฆษณาทางโทรทัศน์

ผลที่ปรากฏในขณะนี้คือ มีการละเมิดกฎกติกาต่างๆ ที่ระบุไว้ในประกาศกรมประชาสัมพันธ์ เช่น ละเมิดการโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็ก รวมไปถึงการโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยที่กรมประชาสัมพันธ์ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีอำนาจตามกฎหมายและต้องรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

ขณะเดียวกัน มีการตีความอีกทางหนึ่งว่า ขณะนี้อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการโฆษณาดังกล่าวอยู่ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่าย กทช.ก็ทำแบบเดียวกันกับกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อรอดูว่าอำนาจในการกำกับดูแลการโฆษณาเป็นของใคร ด้วยสูตรการทำงานแบบเดียวกัน กทช.ก็ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและรอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

เป็นเรื่องประหลาดเกินคาด ที่ประกาศสำคัญๆ ที่กรมประชาสัมพันธ์เคยดูแลอยู่จะปลาสนาการไปได้โดยง่าย และทำให้ขณะนี้ดูประหนึ่งว่า การโฆษณาทางโทรทัศน์และวิทยุอยู่ในภาวะไร้องค์กรควบคุม หรือสุญญากาศ ดังที่มีการกล่าวประชดประชันกันอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา คณะทำงานต่อเนื่องด้านคุ้มครองผู้บริโภค ในคณะอนุกรรมการด้านสาธารณสุข คุณภาพชีวิต และการคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จัดการประชุมเรื่อง ใครคุมเรตติ้งและโฆษณาในภาวะเปลี่ยนผ่านกฎหมาย ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ และ กทช. ต่างก็แจ้งว่า รอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ

อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายสองท่านที่เป็นวิทยากรในการประชุม ได้แก่ ศาสตราจารย์พิชัยศักดิ์ หรยางกูร อดีตอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คุณนคร ชมพูชาติ จากสภาทนายความ ต่างมีความเห็นว่า ภาครัฐต้องไม่ปล่อยให้สังคมอยู่ในภาวะไร้การควบคุมปกป้องเด็กและเยาวชนในการโฆษณา

ทั้งนี้ รัฐต้องแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้บริโภคตามประกาศกรมประชาสัมพันธ์ที่เคยได้บัญญัติไว้

ทำให้ควรต่อการตั้งคำถามว่า ในภาวะเช่นนี้ หากไม่มีองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่ควบคุม กล่าวคือ ไม่มีการควบคุมจากรัฐนั่นเอง การละเมิดในช่วงดังกล่าวนี้ จะทำให้ถือได้ว่ารัฐละเลยเพิกเฉยได้หรือไม่ ประชาชนมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลปกครองในการละเมิดของรัฐต่อกรณีนี้หรือไม่

จากการมองเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ในขั้นแรก ภาคประชาสังคมด้านผู้บริโภคและเครือข่ายครอบครัว ได้จัดทำข้อเสนอต่อ นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องดังกล่าวจะหายไปโดยไม่ได้รับความสนใจแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในท่ามกลางภาวะปล่อยปละละเลยคล้ายสุญญากาศที่มีผลเสียต่อเด็กและเยาวชนดังกล่าว เพื่อให้มีการปกป้องสิทธิเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้บริโภค ข้อเสนอสามประการต่อไปนี้ อาจเป็นทางออกที่จะทำให้เกิดการควบคุมกำกับที่ดี และให้ประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนได้โดยเร็ว

ประการแรก สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกช่องจะต้องไม่ปล่อยปละละเลย อย่างน้อยต้องทำการตักเตือนผู้ละเมิดประกาศ หามิเช่นนั้นแล้วก็จะดูเหมือนเป็นการรู้เห็นเป็นใจ ที่จะเปิดโอกาสให้มีการโฆษณาและบริการธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะการปล่อยให้มีการส่งเสริมการขายต่อเด็ก โดยการใช้ของเล่น ของแถม ของแจก ของแลกซื้อ การชิงรางวัล และการเล่นเกม ในช่วงโฆษณาในรายการเด็ก ซึ่งยังพบอยู่มากในหลายช่อง

ประการที่สอง หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับ กทช. จำเป็นจะต้องออกมาทำหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะเป็นโอกาสของฝ่ายที่ต้องการหลบเลี่ยงและขยายปัญหาดำเนินการโฆษณาสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เป็นเด็กและเยาวชนมากไปกว่านี้ โดยอ้างว่ารัฐไม่มีหน้าที่ควบคุม

ประการที่สาม ทางออกที่สำคัญและอาจจะเป็นไปได้มากที่สุดหากหน่วยงานภาครัฐที่ต้องดูแลแต่ไม่มีใครทำหน้าที่ ก็คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จำเป็นต้องใช้อำนาจหน้าที่ที่มีตามกฎหมายเข้าดำเนินการในภาวะเปลี่ยนผ่าน เพราะไม่มีหน่วยงานใดดูแล ทั้งนี้ ประกาศเหล่านี้ก็มิได้มีการจัดทำขึ้นใหม่ หากแต่เป็นประกาศเดิมที่เคยมีอยู่

ที่สำคัญก็คือ สคบ.มีอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ในมืออยู่แล้ว โดยที่จำเป็นต้องใช้อำนาจดังกล่าว เนื่องจากไม่มีหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดที่เห็นว่าตนเองมีอำนาจในปัจจุบัน

หมายเหตุ

กรมประชาสัมพันธ์ได้ออกประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์และระยะเวลาสำหรับการโฆษณาและบริการธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเด็กทางสถานีวิทยุโทรทัศน์” ลงวันที่ 18 มกราคม 2551 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 โดยมีเนื้อหาดังนี้

1.คำว่า “รายการสำหรับเด็ก” หมายถึง รายการโทรทัศน์สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปี ถึง 12 ปี และรายการโทรทัศน์สำหรับผู้ชมทุกวัยที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นเด็ก เช่น การ์ตูน หุ่นยนต์ เป็นต้น

คำว่า “โฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็ก” หมายถึง โฆษณาและบริการธุรกิจที่มีผลต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าและบริการของเด็ก และอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมของเด็ก

2.ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทำการโฆษณาและบริการธุรกิจในรายการสำหรับเด็ก ได้ไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที โดยให้นับรวมเวลาที่ใช้ในการโฆษณาแฝงเป็นเวลาโฆษณาด้วย และต้องกำหนดเวลาเผยแพร่ข้อมูลความรู้ในการบริโภคที่ส่งเสริมสุขภาพอนามัยตามหลักวิชาการในรายการสำหรับเด็กเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 นาที รวมเวลา 12 นาที โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ให้ยกเว้นระเบียบในข้อ 2 สำหรับรายการสำหรับเด็กทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่ทำการโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็กไม่เกิน 1 ใน 2 ของเวลาโฆษณาทั้งหมดในเวลา 1 ชั่วโมง (6 นาที)

3.ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทำการโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็กในรายการสำหรับเด็กโดยโฆษณาสินค้าหรือบริการที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าเดียวกัน ซึ่งใช้ข้อความทางการค้าอย่างเดียวกันหรือต่างกันได้ไม่เกินชั่วโมงละ 4 ครั้ง แต่ไม่เกิน 2 ครั้ง ภายในเวลาออกอากาศครึ่งชั่วโมง

4.การโฆษณาที่มีผลกระทบต่อเด็กในรายการสำหรับเด็กทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังนี้

4.1 ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขายต่อเด็กในทุกรูปแบบ เช่น การใช้ของเล่น ของแถม ของแจก ของแลกซื้อ การชิงรางวัลและการเล่นเกม เป็นต้น

4.2 ห้ามโฆษณาโดยใช้หุ่น ตัวการ์ตูน บุคคล และตัวละครที่เด็กรู้จักเป็นอย่างดี หรืออยู่ในรายการสำหรับเด็ก มาใช้รับรองสินค้า บริการ รวมทั้งการกระทำใดๆ ในลักษณะเดียวกัน โดยมุ่งหมายเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ

4.3 การโฆษณาต้องไม่มีเนื้อหาเชิญชวนให้เด็กบริโภคจนเกินขอบเขต คือต้องไม่นำเสนอข้อความ เสียง ภาพถ่าย หรือรูปภาพใดของสินค้าและบริการใดๆ เกินจริง เช่น คุณประโยชน์ ความเร็ว ขนาด สี ความทนทาน เป็นต้น

4.4 การโฆษณาจะต้องแสดงคำเตือนในการบริโภคตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากำหนด และคำเตือนนี้จะต้องขึ้นเป็นตัวอักษรขนาดหนึ่งในยี่สิบห้าส่วนของจอภาพและแช่ภาพนาน 3-5 วินาที

โดย วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา มติชน วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11036 หน้า 7

 

แท็ก คำค้นหา