“ไชยันต์” ย้ำ “ผู้จัดการ” ไม่เหมือน “ดาวสยาม”

ชี้ “จักรภพ” จาบจ้วงสถาบันแรงกว่า 6 ตุลาฯ
… สัมภาษณ์พิเศษ …

 

จากกรณีที่ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมา ในแวดวงวิชาการได้มีการล่ารายชื่อนักวิชาการ-นักกิจกรรมเพื่อประณามพฤติกรรมของสื่อในเครือข่ายผู้จัดการ โดยระบุว่า สื่อผู้จัดการมีส่วนก่อการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง โดยเฉพาะในกรณีของ นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากกรณีการไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมี ในโรงภาพยนตร์ โดยระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย และคล้ายกับพฤติกรรมของพวกฝ่ายขวาจัดที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม 2519

ต่อมา ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2551 ผู้บริหารของสถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า FM 97.75 MHz ก็ออกแถลงการณ์เรื่อง ขออภัยต่อกรณีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการจัดรายการ พร้อมทั้งแสดงความรับผิดชอบด้วยการถอดถอนรายการ และผู้ดำเนินรายการดังกล่าวออกจากผังของสถานี

สำหรับแถลงการณ์ประณามสื่อเครือผู้จัดการฉบับดังกล่าวนั้น มีบุคคลในแวดวงวิชาการที่เข้าร่วมลงชื่อกว่า 130 คน โดยหนึ่งในนั้น ก็คือ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้ที่สังคมวงกว้างรู้จักเขาในฐานะ “ปัญญาชนผมยาว” ผู้หาญกล้าฉีกบัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งอัปยศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์อย่างแน่วแน่ ว่า เป็นการประท้วงอำนาจรัฐอย่างสันติ

ณ วันนี้เขามีทัศนะอย่างไรต่อสื่อในเครือผู้จัดการ รวมถึงคำกล่าวหาที่นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวกลุ่มหนึ่งกำลังยัดเยียดให้สื่อผู้จัดการกลายเป็น “ดาวสยามยุคใหม่” และ “วิทยุยานเกราะยุคดิจิตอล” รวมไปถึงมุมมองของเขาต่อบรรยากาศของการเมืองไทยในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งปี 2519

ในฐานะเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ลงนามด้วย อาจารย์มีความเห็นอย่างไรบ้างกับกรณีการออกมาประณามสื่อเครือผู้จัดการ และการออกมาแสดงความรับผิดชอบของสถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า?

เท่าที่อ่านจดหมายเปิดผนึกจากอีเมลที่ส่งต่อกันต่อๆ มา เขาพูดถึงรายการวิทยุในคลื่นของเครือผู้จัดการที่คล้ายๆ กับ ว่า คนดำเนินรายการ คล้ายๆ ออกแนวปลุกระดมให้คนไปใช้ความรุนแรงกับคนที่ไม่ยืนในโรงหนัง (นายโชติศักดิ์ อ่อนสูง) ซึ่งผมคิดว่า ผมไม่ได้สนับสนุนการไม่ยืนในโรงหนังนะครับ แต่ผมคิดว่า เมื่อเขาทำผิดอย่างนั้น และมีการแจ้งความแล้ว มันก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม การที่จะไปปลุกเร้าอารมณ์ในประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวเช่นนี้ผมคิดว่าไม่สมควร ที่จริงมันก็ไม่มีประเด็นไหนสมควร อย่างเช่น สมมติว่า มีคนๆ หนึ่งไปทำความผิดในคดีข่มขืนแล้วตำรวจเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หรือประชาชนในชุมชนนั้นปลุกระดมให้คนไปกระทืบคนที่ข่มขืนมันก็ทำไม่ถูกหรอก มันต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่อย่างว่าประเด็นเรื่องข่มขืน มันคงไม่ได้เป็นเรื่องที่สามารถแพร่กระจายไปในสังคมได้รวดเร็วเท่ากับประเด็นเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ภายใต้บริบทของการเมืองในขณะนี้ ซึ่งมีความอ่อนไหวเกี่ยวกับการนำสถาบันมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ผมไม่เห็นด้วย

ในขณะเดียวกับสถานีวิทยุของเครือผู้จัดการ หากมองในแง่หนึ่ง ในความเป็นมิตรที่ตักเตือนกันได้ ส่วนข้อความในจดหมายเปิดผนึกที่ขอให้แกนนำพันธมิตรฯ (นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นายพิภพ ธงไชย และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์) ออกมาประณามการกระทำของสื่อเครือผู้จัดการนั้น ผมชี้แจงว่า ผมไม่ได้เป็นคนเขียนนะครับ แต่ข้อความดังกล่าวน่าจะเป็นการชั่งหรือตรวจสอบเพื่อถามถึงตรวจสอบจุดยืนของพันธมิตรฯ กับเรื่องนี้ด้วย คำว่าจุดยืนของพันธมิตรฯ ผมก็ไม่ได้หมายถึงทั้ง 3 คน แต่ผมถามถึงจุดยืนของทุกคนที่เป็นแกนนำ รวมถึงคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ด้วยว่ามีจุดยืนอย่างไร ในฐานะที่สถานีวิทยุดังกล่าวอยู่ในการบริหารจัดการของท่าน

เมื่อทางสถานีวิทยุชุมชนเจ้าฟ้าออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการกระทำที่เกิดขึ้นแล้วชี้ชัดต่อสาธารณะว่าการกระทำดังกล่าวเป็นประเด็นเรื่องส่วนตัว เป็นการกระทำส่วนตัว เป็นความคิดเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นนโยบายของสถานี ไม่ได้เป็นนโยบายของผู้บริหารงาน ไม่ใช่นโยบายของพันธมิตรฯ ผมว่าอันนี้ก็ทำให้เกิดความสบายใจ สบายใจในฐานะที่ว่าพันธมิตรฯ และตัวสถานีเอง ก็มีความห่วงใยในประเด็นนี้ไม่ต่างจากนักวิชาการที่ลงชื่อ ผมคิดว่าเมื่อมีการแถลงออกมาแล้วมันก็น่าจะสบายใจกันทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมไม่สบายใจเลย และเรียกร้องมาตลอด ก็คือ เรื่องสถานีวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ 92.75MHz ซึ่งผมคิดว่านักวิชาการส่วนใหญ่ หรือนักวิชาการที่ผมร่วมเซ็นชื่อด้วยจำนวน 100 กว่าคน จะมีใครบ้างที่ฟังวิทยุชุมชมคนแท็กซี่บ้างหรือเปล่า ซึ่งผมเรียกร้องให้ฟังมานานแล้วนะครับ

เมื่อเปรียบเทียบกับ สำหรับคลื่น 97.75MHz ผมคิดว่า นักวิชาการฟัง ชนชั้นกลางขึ้นไปก็ฟัง อาจเป็นเพราะว่ามันฟังได้ มันมีสาระที่ฟังได้ มันมีเนื้อหาข้อเท็จจริงที่รับได้ และเชื่อว่า มันน่าจะเป็นจริง ในขณะที่ 92.75MHz นั้น จะมีเนื้อหาในเชิงของการปลุกระดมอย่างรุนแรงมาก ตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาสักพักหนึ่ง วิทยุชุมชนคนแท็กซี่ก็จะปลุกระดมอย่างรุนแรง และใช้ถ้อยคำหยาบคาย นอกจากนี้ ยังปล่อยให้ผู้ฟังที่โทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นรุนแรงถึงขนาดว่าจะต้องกวาดล้างให้หมดแผ่นดิน จะฆ่ามันให้ตาย ใช้คำหยาบคายต่างๆ นานา นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ข้อมูลที่ไม่จริง อย่างการกล่าวข้อมูลของพรรคประชาธิปัตย์เอง ทั้งๆ ที่ในหลายกรณีความขัดแย้งมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์เลย ก็เอามารวมมั่วกันไปหมดแล้ว แล้วผู้ดำเนินรายการก็ไม่เคยที่จะพูดตัดบท หรือขอร้องให้อย่าใช้วาจาที่ยั่วยุ ปลุกระดม แล้วทำมาเป็นเวลานานแล้วด้วย

สำหรับตัวผมเอง เมื่อผมมีความกังวลกับ 92.75 MHz มากเท่าใด ผมก็มีความเป็นห่วง 97.75 MHz มากเท่านั้น เมื่อ 97.75 MHz มีข้อความหรือเนื้อหาออกมาในลักษณะนั้น แม้จะมีเพียงอันเดียวผมก็ต้องรีบบอก และบอกแล้วผมก็เห็นว่าเขารับฟัง สามารถที่จะเตือนกันได้คุยกันได้ แต่กรณี 92.75 MHz ผมพูดและบอกไปในสังคมมานานแล้ว และขอฝากไปยังรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องสื่อมวลชนด้วยว่า ในฐานะท่านเคยระบุว่าจะลงมาที่จะดูแลเรื่องวิทยุชุมชน ก็ขอให้มาดูแลกรณี 92.75 MHz นี้ด้วย ซึ่งในระยะหลังผมคิดว่าเขาก็รู้ตัว เขาก็แผ่วลง แต่เผลอไม่ได้เลย เพราะเมื่อเผลอเขาก็ออกมาอีก

แล้วอาจารย์ฟังวิทยุชุมชนคนแท็กซี่ 92.75 MHz บ่อยไหม?

นี่ไงผมถึงบอกว่านักวิชาการหอคอยที่ชอบเปิดฟังเพลงแจ๊ซ หรือ ฟังเพลงฝรั่ง หรือรังเกียจวิทยุ-โทรทัศน์สื่อของไทยทั้งหมดก็คงไม่ได้ แต่ผมฟัง ผมฟังถึงตี 1 ตี 2 ผมก็ฟัง แล้วก็น่าเห็นใจว่า คนที่ฟังส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ขับรถแท็กซี่อยู่แล้ว และในฐานะที่เป็นสื่อของคนแท็กซี่ เขาก็น่าที่จะให้ความรู้ความเข้าใจแก่พี่น้องที่เป็นคนขับแท็กซี่ด้วยกัน นี่กลับปิดหูปิดตาเขาอีก ให้ข้อมูลผิดๆ กับเขา ไม่ได้พยายามที่จะพัฒนาพวกเขาขึ้นมา เพราะหน้าที่ของสื่อในระบอบประชาธิปไตยนั้นนอกจากจะนำเสนอข้อเท็จจริงแล้ว ต้องช่วยพัฒนาปัญญา พัฒนาการรับรู้ของคน นี่กลับกลายเป็นว่าเอาประโยชน์ เอาเปรียบ แถมปิดหูปิดตาผู้ที่ศรัทธาในคลื่นของคุณอีก ผมเลยคิดว่า กรณีของวิทยุชุมชนเจ้าฟ้า (97.75 MHz) ก็เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้น แล้วสังคมก็ห่วงใยและตักเตือน

กรณีการไม่ยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ของ คุณโชติศักดิ์ อ่อนสูง อาจารย์เห็นว่าอย่างไร?

ถ้าคุณ (โชติศักดิ์) ทำแล้วคุณมีเหตุผลที่ชัดเจน ผมเอง ผมไม่รู้ว่าเหตุผลของคุณคืออะไร แต่คุณต้องมีความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อความคิด ความเชื่อของคุณ แม้คุณจะต้องเจ็บหนักสักแค่ไหน ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นความถูกต้องนะ คุณก็ต้องสู้คดี และบอกเหตุผลว่าเหตุผลเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าในประเด็นเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หลายคนชอบหลบอยู่ในเว็บบอร์ด หลายคนชอบยั่วยุอยู่ในเว็บบอร์ด เมื่อถึงเวลาก็อาจจะบอกว่าตัวเองไม่ใช่คนกล้า แต่กล้าที่จะยุแยงตะแคงรั่วอยู่ในเว็บบอร์ด ถ้าเกิดมีเรื่องมีราวขึ้นมาคุณก็มักจะบอกว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้ ไม่เข้าใจ เกิดจะบ้าใบ้ขึ้นมาทันที แล้วก็หลุดคดีไปหรืออาจจะถูกลงโทษเบาๆ ไป ซึ่งผมคิดว่าการกระทำเช่นนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เหมือนคุณเป็นเด็กที่ออกมาท้าทาย แต่พอถึงเวลาเอาจริงก็หลบไป

ผมไม่ได้เชียร์ให้คนออกมาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณทำถูก อย่างกรณีของผม ผมฉีกบัตรเลือกตั้ง (ในวันที่ 2 เมษายน 2549) คดีของผมยังอยู่ถึงทุกวันนี้ คดีผมยังอยู่ถึงวันนี้ ผมผิด ผมก็ยอมรับ แต่ผมก็มีเหตุผลของผม ผมก็พูดไปตรงๆ ว่าเหตุผลในการฉีกบัตรเลือกตั้งของผมคืออะไร ผมก็บอกว่าของผมไปอย่างนี้ ถ้าเกิดมีการตัดสินว่าผิด ผมก็คงต้องติดคุกหรือถูกปรับเงิน แล้วผมก็ต้องออกจากราชการด้วย

คดีของผมปัจจุบันยังอยู่ที่อัยการสูงสุด ผมย้ำว่า การฉีกบัตรเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย.2549 ทั้งประเทศ ส่วนใหญ่แล้วอัยการเขตเขาสั่งฟ้องและศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ต่อ แต่ในกรณีของผมกับอีกสองคนที่เป็นคนฉีกบัตรเลือกตั้งเป็นคนแรกๆ กรณีของทั้ง 3 คน ในฐานะที่เป็นคนแรกๆ อัยการสูงสุดก็ดึงเรื่องจากอัยการเขตไป โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก 3 คนนี้มีพฤติกรรมในลักษณะที่ต่อต้านนโยบายรัฐ ถือเป็นเรื่องสำคัญ ขอสงวนสิทธิ์ในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องไปที่อัยการสูงสุด ซึ่งถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร

ผมถึงบอกว่า ในกรณีในความเชื่อของผม ผมก็ทำตามนั้น และผมก็คงจะพูดในสิ่งที่ผมแถลงไปในวันที่ 2 เม.ย.2549 ว่าผมทำไปเพราะอะไร ผมก็จะไม่มีเหตุผลลับหลัง ผมไม่ได้คิดว่าผมจะแสดงความกล้าหาญ แต่ผมต้องการแสดงรักษาสิทธิ์ของผมไว้ เพราะฉะนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของคุณโชติศักดิ์ ผมไม่สนับสนุนให้คนไปทำร้ายเขาโดยพลการ แต่ผมสนับสนุนให้คนต่อสู้คดี เพราะบ้านเมืองก็มีกระบวนการยุติธรรม ถ้าคุณคิดว่าสิ่งที่คุณทำไป เป็นสิ่งที่ถูก คุณก็ต้องสู้ สู้เพื่ออะไร? สู้เพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมาย หรือสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ มันก็จะมีผลตามมา แต่เมื่อคุณทำแบบนี้ไปแล้วเมื่อถึงเวลา คุณยอมรับกฎหมาย บอกว่ากฎหมายนี้มันดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผมไม่รู้กฎหมาย หรือ บอกว่าผมรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อันนี้ผมคิดว่าไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย

แล้วกรณีที่มีความพยายามที่จะขยายประเด็นนี้ไปเป็นประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และกลายเป็นประเด็นสากล ด้วยการนำเอาสื่อมวลชนต่างประเทศ และมีการประสานไปยังเครือข่ายเอ็นจีโอในต่างประเทศให้เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงการใส่เสื้อรณรงค์ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร เห็นต่างไม่ใช่อาชญากรรม (Not Standing is No Crime, Different Thinking is No Crime)” ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง 11 อาจารย์คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อคุณโชติศักดิ์อย่างไร?

เรื่องสิทธิมนุษยชนในการลุก เดิน นั่ง หรือไปไหน โดยไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นก็คงจะทำได้ โดยในกรณีที่ไม่ยืนของคุณโชติศักดิ์นี้ ก็เป็นที่น่าคิดว่า มันมีกฎหมายที่ชัดเจนไหมว่า การยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีมีการบังคับไว้ยังไงแค่ไหน และกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่ทันสมัยอยู่ในปัจจุบันหรือเปล่า ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้คดีกันไปครับ

การยืนถวายความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนตร์ควรจะเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับหรือเป็นความสมัครใจ แต่ในปัจจุบันเมื่อยังไม่มีความชัดเจนตรงนี้ เมื่อมีคดีเช่นนี้ก็ต้องต่อสู้กันไป

บรรยากาศในขณะนี้มีความเหมือนหรือแตกต่างจากบรรยากาศช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 อย่างไร รวมถึงความพยายามที่จะบอกว่าสื่อเครือผู้จัดการเป็นดาวสยามยุคใหม่ เป็นวิทยุยานเกราะฯ ยุคดิจิตอลด้วย?

ไม่เหมือนกันเลย คือ สมัย 6 ตุลาคม 2519 ฝ่ายขวาไม่ใช่รัฐบาล ฝ่ายขวาคือลูกเสือชาวบ้านซึ่งอาจจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ส่วนฝ่ายซ้ายคือนิสิต-นักศึกษา

หนังสือพิมพ์ดาวสยาม หรือสถานีวิทยุยานเกราะฯ นี่ถึงแม้ว่าจะชื่อยานเกราะฯ แต่ใครจะไปจัดก็ได้ ใครที่ไปขอเวลาจัดก็ได้ ส่วนทหารก็อาจจะส่งคนไปจัดหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่รัฐบาลในขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่จะต้องประนีประนอมไกล่เกลี่ยระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา แต่ปัจจุบันพันธมิตรฯ กำลังมีปัญหากับรัฐบาลและอดีตรัฐบาลอยู่ และรัฐบาลก็เป็นกลุ่มที่เป็นนอมินีของอำนาจเก่า นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มจัดตั้ง/ม็อบจัดตั้ง ซึ่งเป็นแนวหน้าและนอมินีของอำนาจเก่าอยู่ดีซึ่งก็พยายามจะดำเนินการคู่ขนานกับกลุ่มพันธมิตรฯ

ปัจจุบันไม่มีประเด็นหรือความอ่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องของสถาบัน เพราะ 6 ตุลาฯ นั้นเป็นช่วงสงครามเย็น เป็นช่วงที่กระแสคอมมิวนิสต์กำลังรุนแรงมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกระแสของฝ่ายซ้ายก็ซ้ายจัดมาก ขนาดที่ว่าหนังสือหนังหาของฝ่ายซ้ายจัดก็เผยแพร่กันอย่างเสรี นิสิตนักศึกษาที่เป็นแกนนำในขณะนั้นก็มีส่วนหนึ่งที่คิดว่าถ้าเกิดความวุ่นวาย การจลาจลแล้วก็จะถือโอกาสขยายผลไปสู่การปฏิวัติ ไม่ใช่เพียงแค่รัฐประหารนะ แต่เป็นการปฏิวัติมวลชน แต่ขณะนี้ประเด็นที่พันธมิตรฯ มุ่งเป้าก็คือ ต้องการให้อดีตผู้นำคือ คุณทักษิณ ชินวัตร เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และทำอย่างไรให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนซึ่งถูกลงโทษ ต้องได้รับโทษก่อน

ส่วนในกรณีของ คุณจักรภพ เพ็ญแข (รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) ก็เห็นชัดว่า การกล่าวของคุณจักรภพมันรุนแรงมาก ผมก็ไม่เห็นว่า ในช่วง 6 ตุลาฯ จะมีนักการเมือง หรือ นิสิต-นักศึกษาฝ่ายซ้ายคนไหนให้สัมภาษณ์ หรือ กล้าพูดอย่างที่คุณจักรภพพูด เพราะฉะนั้นสถานการณ์ในขณะนี้มันไม่ได้เหมือนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่คอมมิวนิสต์เป็นภัยอันตรายมาก หรือ เป็นพลังที่มีความเข้มแข็ง

แต่ คุณจักรภพ หรือกระแสของฝ่ายนั้นเองพยายามที่จะก้าวล่วงอย่างรุนแรง และพยายามทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นให้ได้ ทีนี้ถ้าถามว่าคนอย่างคุณจักรภพ หรือ คนของฝ่ายอำนาจเก่าพูดอะไรอย่างนั้นออกมา ซึ่งพูดร้ายแรง-รุนแรงกว่าในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ แล้วจะไม่ให้คนที่ เขายึดมั่นระบอบการปกครองในแบบที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญรู้สึกแย่ได้อย่างไร เพราะ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ

ผมว่านะ … แม้กระทั่งในสหรัฐอเมริกา ถ้าคุณแสดงพฤติกรรมอะไรต่างๆ ที่ไปละเมิดประธานาธิบดีซึ่งเป็นประมุขของรัฐด้วย ผมว่าก็อาจจะเจอปัญหารุนแรงได้เหมือนกัน เพราะคนอเมริกันเองเขาก็ให้ความเคารพต่อ Mr.President เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าจะไม่ให้พูด หรือ วิจารณ์โดยคิดว่าเขากำลังจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองโดยไม่ให้เราวิพากษ์เลยก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระทำของเขามันส่อให้เห็นว่าต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จากกรณีคุณจักรภพจะนำไปสู่ความรุนแรงที่กองทัพต้องออกมาจัดการอะไรไหม?

ผมคิดว่ากองทัพไม่ควรจะออกมาจัดการอะไร แต่สามารถแสดงท่าทีไม่สบายใจได้ การที่มีผู้แจ้งความคุณจักรภพก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไป ถ้าคุณจักรภพมีความมั่นใจในเหตุผลของตัวเอง ทั้งก่อนและหลังการพูดก็ไปให้การกับศาลไป

แต่คุณจักรภพจะทำตัวเหมือนคุณโชติศักดิ์ไหมล่ะ? ที่เมื่อถึงเวลาก็บอกว่าผมไม่ได้คิดตั้งใจแบบนั้น ผมรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คุณตีความไปเอง ผมเคารพอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าพูดออกมาผมคิดว่าคนจำนวนหนึ่งก็คงหัวเราะ เพราะ กรณีของคุณจักรภพนั้นชัดเจนมาก อย่างเช่น ก่อนเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 คุณจักรภพก็พูดจาในทำนองไม่พอใจอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ขณะที่หลังเหตุการณ์ 19 ก.ย.2549 คุณจักรภพก็เที่ยวไปพูดตามที่ต่างๆ ซึ่งถ้าเมื่อขึ้นศาลแล้วคุณจักรภพบอกว่าแกไม่มีอะไรเลย ก็คงเป็นเรื่องไร้สาระของคนที่ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีอีกต่อไป

 โดย ผู้จัดการออนไลน์ 16 พฤษภาคม 2551 13:48 น.

แท็ก คำค้นหา