ขอต้อนรับนักวิจารณ์สื่อที่ระบุชัด

แยกแยะและต่อเนื่อง
กาแฟดำ
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์

ผมเชื่อว่าคนข่าวอาชีพที่มุ่งมั่นทำหน้าที่ของตนอย่างสุจริตย่อมจะต้องขอบคุณสองอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งออก “จดหมายเปิดผนึก” เตือนสื่อมวลชนว่ามีส่วนที่ต้องรับผิดชอบที่บ้านเมืองกำลังขัดแย้งทางการเมืองจนอาจจะกลายเป็นความรุนแรงทางการเมือง

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เพราะสังคมไทยต้องการสื่อที่รับผิดชอบ และต้องช่วยกันวิพากษ์สื่ออย่างเข้มข้น…ที่สำคัญคือผู้วิพากษ์สื่อหรือที่เขาเรียกว่า media critics ในประเทศอื่นนั้นจะต้องทำอย่างชัดเจน แยกแยะ เป็นธรรม ต่อเนื่อง และไร้อคติเช่นเดียวกับที่คาดหวังจากสื่อด้วย

สื่อไม่มีอภิสิทธิ์เหนือสังคม เช่นเดียวกับที่นักวิชาการหรือคนอาชีพอื่นที่ต้องถูกวิจารณ์ได้ภายใต้จริยธรรมแห่งอาชีพเช่นกัน

เสียดายว่าอาจารย์ทั้งสองท่านไม่ได้ระบุว่าสื่อที่เป็นปัญหาในสายตาท่านนั้นเป็นสื่อไหนและควรจะแก้ไขอย่างไร

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ แห่งคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในนามนักวิชาการสันติวิธีทำจดหมาย “เปิดผนึก” ถึงผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนว่า

ขณะนี้มีร่องรอยว่าระบอบประชาธิปไตยของไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่อันตรายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทรุดลงเป็นความรุนแรง

และปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้คือสื่อมวลชน

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้บอกว่าคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบสื่อที่ไม่รับผิดชอบกำลังส่งผลกร่อนทำลายประชาธิปไตยสังคมไทยใน 3 ทางคือ

1. สร้างความโกรธแค้นเกลียดชัง ปลุกปั่นสถานการณ์เสียเอง

2. โฆษณาชวนเชื่อ เป็นกระบอกเสียงของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างสุดหัวใจ ให้ร้ายใส่ความคู่ต่อสู้ด้วยเล่ห์เพทุบายสารพัด

3. ทั้งหมดนี้ ดำเนินไปขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนเฉยเมยต่อการละเมิดจรรยาบรรณสองประการข้างต้น หรือทำตัวลู่ตามลม เลือกปฏิบัติปกป้องเฉพาะพวก ลงโทษเฉพาะฝ่าย

สองอาจารย์ท่านสรุปว่าสิ่งที่หายไปในแวดวงสื่อมวลชนไทยที่ทำการทั้ง 3 ประการข้างต้นคือ “มาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ที่ต้องเคร่งครัดกับหลักการ ความเที่ยงธรรม และความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอำนาจสื่ออยู่ในมือ และสูงกว่ากระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่าง ๆ…”

เป็นการแสดงจุดยืนของสองอาจารย์ที่วงการสื่อจะต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบด้านและน้อมเคารพในความจริงจังและจริงใจในฐานะนักวิพากษ์สื่อที่ควรจะต้องมีจำนวนและความเข้มข้นมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป

จะเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งหากนักวิชาการที่ทำหน้าที่เป็น media critics จะช่วยกันวิเคราะห์และวิพากษ์สื่อสารมวลชนไทยอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และนำมาเปรียบกับคนในอาชีพอื่น

เช่นอาชีพของนักวิชาการมหาวิทยาลัยที่ก็มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันเช่นที่สื่อมวลชนไทยได้แสดงออก…เพราะนักวิชาการหลายท่านก็อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “กระบอกเสียงของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างสุดหัวใจ” เช่นกัน

นักวิชาการจำนวนไม่น้อยก็อาจจะเข้าข่าย “ทำตัวลู่ตามลม…เลือกปฏิบัติปกป้องเฉพาะพวก ลงโทษเฉพาะฝ่าย” ได้อีกเหมือนกัน

บางครั้งสื่อมวลชนที่พยายามทำหน้าที่เป็นกระจกส่องความเห็นที่แปลกแยกในสังคมอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อความแตกแยก

แต่บางครั้งสื่อมวลชนที่พยายามรายงานข่าวให้รอบด้านก็อาจจะถูกมองว่า “ไร้จุดยืน ลู่ตามลม”

บางครั้งสังคมตั้งคำถามกับสื่อว่าเหตุไฉนจึงไม่ทำหน้าที่ “พิทักษ์ความถูกต้อง” และ “ประณามความชั่วร้าย”?

บ่อยครั้งเช่นกันที่สื่อถูกถามว่าระหว่างความดีกับความเลวนั้น สื่อที่อาสาทำความจริงให้ปรากฏจะ “ขอยืนอยู่ตรงกลาง” ได้กระนั้นหรือ?

และอีกบางครั้งสื่อมวลชนที่แสดงความเห็นโดยมีจุดยืนเด่นเช่นในบางประเด็นก็อาจจะถูกชี้นิ้วว่าเป็น “เครื่องมือ” ของกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม

ยามที่สื่อที่รับผิดชอบถูกคุกคามเสรีภาพในการแสดงความเห็น ยามที่สื่อพยายามปกป้องสิทธิของผู้คนในบ้านเมือง (รวมถึงนักวิชาการที่ต้องการแสดงความเห็นอันเป็นอิสระของตน) บ่อยครั้งสื่อก็พบว่านักวิชาการเหล่านั้นก็หลบหลีกที่จะออกมาแสดงจุดยืนของตนเพื่อรักษาเสรีภาพแห่งการแสดงความคิดเห็นเช่นกัน…

นักวิชาการมีสิทธิที่จะบอกว่า “ผมไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้” ในยามที่บ้านเมืองกำลังต้องการความเห็นเพื่อแสวงหาทางออก

แต่คนทำสื่อที่อยู่ในสนามข่าวที่เปรียบเสมือนเป็น “หน่วยหน้า” ที่ต้องเผชิญกับข่าวสารมากมายหลากหลายนั้นไม่มีสิทธิที่จะหลบหลีกเข้าถ้ำเพื่อหลบพายุแห่งความขัดแย้ง

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 05:00:00

แท็ก คำค้นหา