ความท้าทายของทีวีไทย

คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ
โดย นวพร เรืองสกุล

“สถานีจึงช่วยทำให้คนหลายกลุ่มมีความใกล้กันทางความคิดมากขึ้น เมื่อแต่ละกลุ่มขยายกรอบความคิด และโลกทรรศน์ของตนออกไปจากการได้เห็นประสบการณ์ทางอ้อมผ่านรายการที่หลากหลายทั้งในแง่ของพื้นที่และผู้คนต่างฐานะต่างอาชีพ ความหลากหลายจะกลายเป็นจุดเด่นของสังคม…”

และแล้ว สาธารณชนคนไทยก็ได้มีโอกาสชมรายการของสถานีโทรทัศน์สาธารณะมาได้ 80 วันแล้ว นับจากวันเริ่มออกอากาศอย่างมีรายการประจำเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2551

ก่อนจะกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ ต่อไป ก็ขอแสดงความยินดีกับสถานีที่เปลี่ยนชื่อเป็น ทีวีไทย-ทีวีสาธารณะ แทนชื่อภาษาฝรั่งว่า Thai PBS ซึ่งฝรั่งคงเข้าใจ แต่ไทย (ค่อนประเทศ) พูดไม่ได้ และไม่สื่อความหมาย

คุณลักษณะหลักคือโทรทัศน์สาธารณะคือความเป็นอิสระ

อิสระ คือผู้ทำรายการไม่ต้องเอนเอียงไปเอาใจหรือเกรงใจเจ้าของเงินที่ซื้อรายการ หรือจ่ายค่าโฆษณา ซึ่งกลับมาเป็นรายได้ของสถานี กลับมาเป็นรายจ่ายค่าพนักงาน กลับมาเป็นกำไรขาดทุนที่ผู้ทำรายการและผู้บริหารสถานีต้องใส่ใจดูแล

กระทั่งสถานีที่พึ่งงบประมาณ และมีข้าราชการเป็นพนักงานก็ไม่อิสระแท้ แม้ว่าเงินงบประมาณก็เป็นเงินจากภาษีอากร เป็นเงินของสาธารณชน แต่ว่ากระบวนการที่ต้องอิงข้าราชการ ต้องพึ่งการตัดสินใจของรัฐบาล โทรทัศน์ที่มีลักษณะทำนองนี้ ทำงานอยู่ในระบบในกรอบของภาครัฐ คือกระบอกเสียงของรัฐ ซึ่งก็ไม่แปลก ถ้าไม่เป็นสิแปลก เพราะทำให้รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารขาดเครื่องมือในการสื่อสารถึงประชาชนโดยไม่ผ่านคนกลาง

เมื่อเป็นอิสระเพราะเป็นสถานีที่ได้เงินจากสาธารณะ มีประชาชนเป็นเจ้าของและไม่ต้องพึ่งการตัดสินใจเชิงนโยบายจากรัฐบาล แต่ดำเนินงานในกรอบของกฎหมายที่สภาได้ออกให้ไว้ ก็สามารถให้พื้นที่ออกอากาศกับประชาชนได้มากมายหลายภาคส่วนกว่าโทรทัศน์ช่องอื่นๆ

แต่สถานีใดๆ ก็ไม่อาจจะสนองความต้องการของทุกคนที่ความต้องการไม่เหมือนกันและความคาดหวังต่าง กันได้ทั้งหมด เพราะความจำกัดของเวลา และความจำกัดของบุคลากร เช่น คนกรุงที่เคยชมรายการสารคดีดีดีทางยูบีซี เคเบิลทีวี หรือรับจากดาวเทียมอาจจะรู้สึกว่ารายการเหล่านี้เคยดูมาแล้วทั้งนั้น แต่เด็กและคนที่ไม่มีช่องทางดูรายการผ่านช่องทางพิเศษเหล่านั้น นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่เขาได้ดูรายการสารคดีดีดีอย่างเต็มอิ่ม และได้ดูโดยไม่เสียเงิน

เมื่อเปิดรายการใหม่ๆ ตั้งแต่ช่วงทดลองออกอากาศ และยังไม่ได้จัดผังรายการ เสียงสะท้อนมาว่าคนต่างจังหวัดชอบมาก เด็กๆ ก็ชอบ ติดใจรายการสารคดีเกี่ยวกับลูกสัตว์ต่างๆ เรียกหาให้เปิดช่อง ทีพีบีเอสอยู่เสมอจนพ่อแม่รำคาญ

แม้ไม่อาจสนองตอบคนที่ต่างมีความต้องการที่ต่างกัน แต่ก็เห็นว่าสถานีพยายามเปิดพื้นที่ให้กับคนจำนวนมากกว่าที่เคยเห็นในรายการใดๆ ที่มีมาก่อนหน้านี้

รายการข่าวกิจกรรมดีๆ ในท้องถิ่นทั่วไทยได้มีโอกาสออกอากาศ และคนในประเทศไทยเริ่มได้รับรู้ข่าวคราวของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ห่างกันแค่เดินข้ามเส้นกั้นพรมแดน

คนชอบดนตรีที่ไม่ใช่จากค่ายเทป ที่ผู้เล่นแต่งกายง่ายๆ เล่นดนตรีกันในบรรยากาศสบายๆ ก็ได้มีโอกาสฟัง

คนชอบหนังไทยยุคกลางเก่ากลางใหม่ ก็ได้มีโอกาสดู

เมื่อต่างคนต่างก็เปิดใจ เปิดเวลาให้คนอื่นๆ ดูรายการอื่นที่เขาชอบบ้าง สถานีนี้คงจะไม่เป็นสถานียอดนิยมของใครกลุ่มใดเฉพาะกลุ่ม แต่คงจะเป็นสถานีที่มีรายการบางรายการที่บางคน บางกลุ่มติดใจ และติดตาม และก็คงจะมีส่วนช่วยในการสื่อสารข้ามกลุ่มบ้าง เมื่อคนบางคนได้จับพลัดจับผลูดูรายการที่ไม่เคยดู และไม่คิดจะชอบ แม้ดูแล้วไม่ชอบ ก็อาจจะเข้าใจอะไรๆ และเข้าใจกันและกันมากขึ้น ถ้าดูแล้วกลับชอบ ก็เป็นการสร้างรสนิยมใหม่ของตนขึ้นมา

ด้วยประการดังนี้สถานีจึงช่วยทำให้คนหลายกลุ่มมีความใกล้กันทางความคิดมากขึ้น เมื่อแต่ละกลุ่มขยายกรอบความคิด และโลกทรรศน์ของตนออกไปจากการได้เห็นประสบการณ์ทางอ้อมผ่านรายการที่หลากหลายทั้งในแง่ของพื้นที่และผู้คนต่างฐานะต่างอาชีพ ความหลากหลายจะกลายเป็นจุดเด่นของสังคม แทนที่จะเป็นจุดอ่อนที่รอวันแตกแยก

เท่านี้ก็ดีมากแล้ว

80 วันที่ผ่านไป นับว่าผลงานประสบความสำเร็จด้วยดี ดีจนกระทั่งมีการสร้างยี่ห้อขึ้นมาเลียนแบบให้ผู้บริโภคสับสน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสับสนกับคำว่า Public หรือคำว่าสาธารณะ

ในมุมตื้นคำนี้สื่อได้สองความหมาย คือเป็นรัฐบาลก็ได้ เป็นประชาชน (สาธารณชนก็ได้) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

Public คือสาธารณะ, ของประชาชน เช่น Public property คือสาธารณสมบัติ

ส่วนคำว่า Public ownership หมายถึงการที่รัฐเป็นเจ้าของ ซึ่งตรงกันข้ามกับ Private ownership ที่เอกชนเป็นเจ้าของ

ถ้าเป็น Public sector แปลว่า ภาครัฐ Public servent คือข้าราชการ และ Public bebt คือหนี้สาธารณะหรือหนี้ภาครัฐ

ในกรณีของคำว่า Public spirit แปลกลับไปว่าหมายถึงความเต็มใจที่จะช่วยเหลือประชาชน และ Public utlities ก็คือสาธารณูปโภค

เมื่อคิดในมุมลึก Public สื่อความหมายเดียว คือสื่อถึงสิ่งที่เป็นของรวม เป็นประชาชน เป็นสาธารณะ ข้าราชการ ก็มีไว้เพื่อบริการสาธารณชน ไม่ใช่บริการบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง รัฐบาลก็มีไว้เพื่อดูแลประชาชน ไม่ใช่บังคับบัญชา หรือข่มขู่รุกรานประชาชน ส่วนหนี้สาธารณะนั้น เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินจ่าย ในที่สุดก็ต้องพึ่งเงินภาษีอากรที่เรียกเก็บจากประชาชนนั่นแหละไปจ่ายคืน

ถ้าประชาชนไม่สับสนกับคำที่ใช่เสียก่อนย่อมยังคงแยกแยะได้ว่า สถานีหนึ่งนั้นเป็นทีวีของสาธารณะหรือของประชาชน (General Public) อีกสถานีหนึ่งเป็นของภาคสาธารณะหรือของรัฐบาล (Public Sector) แต่ไม่ว่าจะเป็นทีวีช่องไหน เลียนแบบกันอย่างไร ตราบเท่าที่เป็นรายการดีๆ มีความรู้น่าชม ล้วนเป็นประโยชน์ต่อสังคมทั้งสิ้น

แข่งกันดี ย่อมดีด้วยกันทุกฝ่าย

มองต่อไปข้างหน้า ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) ยังมีงานต้องทำอีกมาก ในฐานะที่สถานีนี้เป็นสถานีใหม่ ในแนวความคิดใหม่ที่ไม่เคยมาก่อนในเมืองไทย เราจะร่วมกันสร้างได้อย่างไร เพื่อรักษาความเป็นของประชาชน ทำเพื่อประชาชน และทำโดยประชาชน

เมื่อปลายเดือนมกราคม สถานียังไม่ได้จัดผังรายการ ได้ถามที่ประชุมแห่งหนึ่งให้ช่วยเสนอว่า อยากได้อะไรบ้าง

ได้รับฟังข้อเสนอมาว่า อยากได้

๐รายการสารคดีดีๆ ที่ไทยทำและทำได้ดีจนต่างชาติซื้อไปออกอากาศด้วย

๐รายการข่าวที่ให้ข้อมูลและความคิดเห็นหลายด้านจากผู้วิเคราะห์ที่รู้จริงในเรื่องนั้นๆ

๐รายการธรรมะดีๆ เพื่อการเดินทางชีวิตในทางที่ถูกที่ควร และดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและรายการที่ความรู้ทุกสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ภาษา เทคโนโลยี ฯลฯ ตลอดจนรายการให้ความรู้ผู้บริโภค และการร้องทุกข์สาธารณะ จะนำเสนอในรูปแบบใด ก็ได้ ขอให้เป็นรายการดูสนุก และจรรโลงใจ สอนให้รู้คิด ใฝ่ดี มีวินัย มีมารยาท มีสำนึกสาธารณะ และมีความกล้าอย่างมีเหตุมีผล

จากความฝันที่คนจำนวนมากร่วมกันฝัน หลายฝ่ายต้องช่วยกันกอบก่อให้เป็นรูปร่างด้วยความรู้ความเข้าใจที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาร่วมกัน ว่าจะเปิดที่ทางให้กลุ่มใด แค่ไหน

นอกจากคณะกรรมการ ผู้บริหารและผู้ทำงานผลิตรายการแล้ว ยังต้องการผู้ผลิตรายการที่เข้าใจและผู้อุปถัมภ์รายการที่พร้อมร่วมสร้าง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ต้องแหวกกฎเกณฑ์และความคุ้นเคยที่เคยทำรายการป้อนเฉพาะทีวีเสรีมีโฆษณาออกมา

ประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยดูการทำสารคดีสั้นๆ ด้านการเงินป้อนรายการโทรทัศน์ รู้ว่าเทคนิคการผลิตไม่ใช่ข้อจำกัด สิ่งที่ขาดแคลนมากๆ คือเนื้อหาดีๆ ที่ฝ่ายผลิตไม่ถนัด

การพัฒนารายการใหม่ๆ จะเร็วขึ้นอีกมากถ้าได้ความสนใจจากองค์กรสาธารณะ ที่มีเข็มจะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เช่น มหาวิทยาลัย ที่มีงานวิจัยมากมายหลายสาขาและมีหลายคณะที่สามารถนำมาเป็นความรู้สู่ประชาชน ในด้านการเงินก็เช่น ก.ล.ต.ซึ่งเป็นผู้ดูแลตลาดทุน มีผู้เกี่ยวข้องนับล้านในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนถือหลักทรัพย์ต่างๆ ผ่านกองทุนต่างๆ คิดแค่สำนักงานประกันสังคมเพียงอย่างเดียวก็มีสมาชิก 7-8 ล้านคนแล้ว ถ้าได้มีเวทีให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบริหารจัดการเรื่องการเงินของบุคคล และชุมชน พร้อมตัวอย่างความสำเร็จ และแง่คิดความล้มเหลวของชุมชนต่างๆ ก็จะเป็นคุณอย่างมากต่อประชาชนทั่วประเทศอีกนับล้านทีเดียว

ทางด้านสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็เช่นเดียวกัน

หน่วยงานไหนบอกว่าไม่มีเงิน ไม่ควรลืมว่า

สิ่งที่ทำไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ขององค์กรเองในฐานะองค์กรสาธารณะ ที่มีหน้าที่ให้บริการหรือดูแลสาธารณชน

เงินส่วนหนึ่งอาจจะหาได้จากมูลนิธิหรือองค์กรสาธารณะอื่นที่มีเงินแต่อาจจะไม่มีเนื้อหาเฉพาะด้านในองค์กรตนเอง ด้านสุขภาพและการเงินก็เช่น สสส. หรือมูลนิธิพัฒนาระบบตลาดทุน

ถ้าจะตั้งงบประมาณของตนเอง ก็จะรู้ว่าการออกอากาศให้ชมทั่วประเทศและฉายซ้ำได้อีก ไม่แพงเลย เพราะเงินค่าเวลาสถานีไม่เสีย ที่ต้องใส่เข้าไปมากๆ คือความคิด ความรู้ และกระบวนการแปรความรู้ให้เป็นการนำเสนอที่ง่าย สั้น สนุก

เป็นงานที่ท้าทาย ไม่ใช่งานที่ใช้เงินทุ่ม

***ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 07 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11015,หน้า 6

แท็ก คำค้นหา