ทีวีเสรี… ในยุคแข่งขันเสรี !

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย สมปรารถนา คล้ายวิเชียร

หากเทียบกับในอดีตแล้ว ถือว่า ผู้ชมรายการทางสถานีโทรทัศน์ในปัจจุบันโชคดี (ในแง่ ทางเลือก ?) มากกว่าคนในยุคอดีตมหาศาล

นับเฉพาะแค่ฟรีทีวี หรือสถานีโทรทัศน์ที่แค่ติดเสาอากาศกับรับชมภาพ-เสียงได้โดยไม่ต้องติดจาน-ดาวเทียม ระบบใดๆ ทั้งสิ้น (ไม่มีค่าบริการรายเดือนอีก ต่างหาก)

แม้เมื่อไม่นานมานี้ เราเพิ่งบอกลาสถานีโทรทัศน์ไอทีวี หรือทีไอทีวี ไปไม่นาน แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น กลับมีตัวเลือกใหม่ๆ ปรากฏขึ้นมาชนิดที่ถ้ากดรีโมตไล่ช่องไปเรื่อยๆ ก็จะได้พบกับสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันออกไป และน่าจะถูกใจ ผู้ชมที่ชื่นชอบ ข่าวสารบ้านเมือง ชมชอบความสนุกสนานบันเทิง ชอบแบบสาระความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสมอง หรือชอบความตื่นเต้นในด้านการแข่งขันจากกีฬานานาชนิด

ช่อง 3 และช่อง 7 ยังคงเป็นสถานีโทรทัศน์หลักในกระบวนฟรีทีวี ที่มีรายการประเภทต่างๆ ครบครัน มีจำนวนผู้ชม (เรตติ้ง) อยู่ในระดับหัวแถว เท่าๆ กับที่อัตราค่าเช่าเวลาและค่าโฆษณาก็สูงลิ่วเป็นพิเศษ

ช่อง 5 ยังพัฒนาในระยะห่างอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็เป็นเวทีที่สร้างรายได้ มีรายการหวือหวาเรียกเรตติ้งเป็นพักๆ ซึ่งดูเหมือนกับไม่เดือดเนื้อร้อนใจอะไร เวลาแต่ละช่วงจะเป็นไพรมไทม์ หรือวันเสาร์อาทิตย์ ก็ยังมีคนสนใจวิ่งเข้าแข่งขันกันนำเสนอรายการตลอด

ขณะที่ “โมเดิร์นไนน์” ช่อง 9 ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ดูจะมาแรงและพลิกแพลงกลยุทธ์อย่างน่าประหลาดใจในช่วงที่ผ่านมา ก็เริ่มนิ่ง และขาดสีสันที่เร้าใจลงไปเยอะ

ที่กลายเป็นคู่กัด-คู่เอก คู่ใหม่ กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องที่เพิ่งเปิดตัว เปิดทิศทางใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ นั่นคือ ทีวีสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ THAI PBS (แปลงร่างมาจากไอทีวี) กับสถานีโทรทัศน์ NBT (แปลงร่างมาจากช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์)

เพราะดูเหมือนทั้ง 2 ช่องต่างก็มี วิสัยทัศน์ มีเป้าหมาย และกระบวนการทำงานที่จะเรียกว่าคล้าย ก็คล้ายกันอยู่ แต่ลึกๆ แล้วก็แตกต่างกันพอสมควรในแง่ของแนวทางและเนื้อหาที่ต้องการสื่อหรือเผยแพร่

THAI PBS หรือทีพีบีเอส ประกาศตัว ตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นสื่อสาธารณะ วางตัวเป็นกลาง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวสารนั้น จะนำเสนอทั้ง 2 ด้าน

ขณะที่ NBT ก็มีนโยบายชัดเจนว่า จะให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายที่ถูกนำเสนอข่าวโจมตี เพื่อเปิดเวทีให้ชี้แจง และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง (โดยเฉพาะส่วนงานภาครัฐ)

โดยส่วนตัวผมติดตามความเคลื่อนไหวของบรรดาสื่อโทรทัศน์ ไม่ใกล้ชิดหรือ เกาะติดมากนัก แต่ยอมรับว่า ณ วันนี้มี “ทางเลือก” มากจริงๆ

คิดดูว่าเอาแค่การติดตาม “ข่าวสาร” หรือรายการข่าวก็มีช่องทางให้เลือกมากเหลือเกิน ชอบแบบสั้น ง่ายๆ รายงานข่าว-เล่าข่าวแบบขำๆ ก็ต้องติดตาม ครอบครัวข่าว ช่อง 3 หรือข่าวเด็ด 7 สี และรายการประกอบเกี่ยวกับข่าวของวิกหมอชิต

ชอบข่าวเรียบๆ แบบเป็นทางการนิดหน่อย ข่าวทางช่อง 5 และช่อง 9 น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด

แต่หากอยากดูข่าวสไตล์เข้มข้นมากขึ้น มีน้ำเสียงและท่าทีชัดเจนว่า สนับสนุนฝ่ายไหน ข้างไหน NBT หรือช่อง 11 โฉมใหม่ กับสถานีโทรทัศน์ THAI PBS เข้าทางและโดนใจคอการเมืองแบบเข้มข้นแน่นอน

ยกเว้นแต่ว่า คุณเป็นผู้บริโภคข่าวการเมืองแบบฮาร์ดคอร์สุดๆ อันนี้คงต้องแนะนำให้ไปหาทางติดตามเอาเองจากสถานีโทรทัศน์ประเภททีวีดาวเทียม, ทีวีออนไลน์ (คงไม่ต้องบอกว่ามีค่ายไหน กันบ้าง)

เพราะแบบนั้น ใส่กันเต็มๆ ซัดกันเนื้อๆ โดยไม่ต้องไปถามหาความเป็นกลาง แต่เน้นที่ความสะใจ สนองความรู้สึกที่สอดคล้องกันในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมานำเสนอเป็นหลัก

ทั้งหมดนั้นเป็นภาพรวมของสถานีโทรทัศน์ทางเลือกทั้งหลายในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากจะเป็นโอกาสของ “ผู้ชม” จะเลือกได้ตามความต้องการแล้ว ยังเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการแข่งขันที่แต่ละช่องต้องตระหนักให้ดี

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าทิศทางของสถานีโทรทัศน์จะเป็นอย่างไร จะมีนโยบาย แบบไหน เอื้อหรือมุ่งสนับสนุนฝ่ายใด แต่หากไม่ตอบโจทย์สำหรับคนดู ทำไปก็เท่านั้น ทำกันเองแบ่งกันดูเฉพาะในกลุ่ม แต่ไม่ก่อประโยชน์ในการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง สุดท้ายก็จะไม่ตอบสนองความอยู่รอดและการแข่งขันทางธุรกิจในระยะยาวด้วยเช่นกัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3991 (3191) หน้า 41

แท็ก คำค้นหา