“ทีวีกีฬา” ช่องใหม่ไร้อนาคต?

เชษฐา บรรจงเกลี้ยง
ผู้จัดการรายวัน

ฉับพลันที่ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คนใหม่ เหยียบย่างสาวเท้าเข้าสู่ห้องประชุมประจำกระทรวงฯ สิ่งแรกที่ ฯพณฯ ได้ประกาศนโยบายให้กับเหล่าบรรดาข้าราชการประจำ คือโทรทัศน์เพื่อการกีฬา หรือ “ทีวีกีฬา” ให้เกิดขึ้นให้จงได้ในสารบบวงการโทรทัศน์ไทย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะรัฐมนตรีวีระศักดิ์เชื่อว่าประสบการณ์ของตนเองที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการเข็น ‘ทีวีรัฐสภา’ จนออกอากาศได้สำเร็จมาแล้ว จะปลุกปั้นให้ ‘ทีวีกีฬา’ ออกอากาศสู่สายตาประชาชนได้ภายในระยะเวลา 6 เดือน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวกลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงกว้างถึงความจำเป็นที่เมืองไทยต้องมีช่องดังกล่าว ขณะเดียวกัน ยังมีเสียงท้วงติงจากวงนอกว่าเอางบประมาณดังกล่าวไปสร้างสนามกีฬาให้กับเยาวชนจะไม่ดีกว่าหรือ แต่เสียงท้วงติงก็เป็นเพียงลมผ่านหู เพราะท้ายที่สุด รัฐมนตรีไฟแรงมองว่าไอเดียดังกล่าวสุดจะบรรเจิดและยังคงเดินหน้าดำเนินการต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ ‘ทีมข่าวกีฬาผู้จัดการรายวัน’ จึงขอนำเสนอแนวทางการทำงานของสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว รวมไปถึงความคิดเห็นและมุมมองจากคนในวงการ

       *วางกรอบ “ทีวีกีฬา”

หลังจากที่มีการมอบนโยบาย แน่นอนว่าผู้ที่ต้องสนองความต้องการของรัฐมนตรีไฟแรงย่อมหนีไม่พ้น ‘บิ๊กหนุ่ม’ กนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ ‘กกท.’ โดยเจ้าตัวได้เปิดเผยความคืบหน้าในการก่อร่างสร้างรูปโทรทัศน์เพื่อกีฬากับผู้สื่อข่าวว่า มีแผนการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขึ้นมาดำเนินงาน 1 คณะ ด้วยความร่วมมือของสำนักนายกรัฐมนตรีกับกรมประชาสัมพันธ์ ด้วยงบประมาณในวงเงินไม่เกิน 30 ล้านบาท โดยอาจจะมีห้องส่งของสถานีโทรทัศน์เพื่อกีฬาอยู่ในพื้นที่ของการกีฬาแห่งประเทศไทยหรือของกรมประชาสัมพันธ์ก็ได้

ในส่วนของรูปแบบรายการนั้น คนโตแห่งค่าย กกท. เผยเพียงว่าแม้จะมีการพูดคุยกันไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน ทว่ามีการยืนยันว่าอาจจะมีการดึงเอาการถ่ายทอดสดกีฬายอดฮิตอย่างฟุตบอลต่างประเทศมาให้ชมด้วย

“ผมก็อยากให้มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พรีเมียร์ลีก อังกฤษ, กัลโช เซเรีย อา อิตาลี, บุนเดสลีกา เยอรมนี หรือ ลีกดังๆ ของยุโรปที่คนไทยนิยมดูกัน เพียงแต่ปัญหามันติดอยู่ตรงที่รายการกีฬาเหล่านี้ล้วนมีเจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศไทยแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าพอเขามีลิขสิทธิ์แล้วเราจะถ่ายทอดสดไม่ได้ เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องนำเงินมาลงทุนในการซื้อลิขสิทธิ์จากเจ้าของต่ออีกที ซึ่งต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้ง ส่วนเรื่องงบประมาณก็ต้องมาดูกันอีกครั้งว่าจะนำมาจากที่ใดได้บ้าง”

นอกจากนี้ นายใหญ่แห่งค่าย กกท. ยังยืนยันว่าจะมีการหยิบยกนำกีฬาภายในประเทศมานำเสนอด้วยเช่นกัน “ต้องมีการถ่ายทอดสดสำหรับกีฬาในประเทศด้วย ซึ่งประเทศไทยมีสมาคมกีฬากว่า 60 สมาคม จะมีการเผยแพร่ในส่วนนี้แน่นอน”

ด้านรูปแบบของการรับชมของประชาชนทั่วไปนั้น ผู้ว่าฯ กกท. กล่าวว่า “ผมได้นโยบายจากรัฐมนตรีวีระศักดิ์ ว่าต้องการทำทีวีกีฬาให้เป็นฟรีทีวี เพื่อให้คนไทยได้ชมกันในวงกว้างมากที่สุด”

อย่างไรก็ตามชาวบ้านร้านตลาดที่ใช้เสาหนวดกุ้งทั่วไปคงไม่สามารถรับชมรายการจากโทรทัศน์กีฬาได้อย่างแน่นอน เนื่องจาก จักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่าต้องการให้โทรทัศน์ช่องดังกล่าวรับชมได้ผ่านจานรับสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่ง “บิ๊กหนุ่ม” กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

“มีการพูดจาเรื่องดังกล่าวไปแล้วในที่ประชุม ซึ่งเห็นว่าการใช้เทคโนโลยีรับสัญญาณโทรทัศน์จากเสาหนวดกุ้งก็คงจะมีอยู่อีกไม่นาน จากนั้นก็คงมีการเปลี่ยนมาใช้ระบบสัญญาณดาวเทียมกันหมด ถือเป็นการวางเทคโนโลยีเพื่ออนาคตข้างหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลง มีการหารือกันด้วยว่าต้องทำให้จานดาวเทียมมีราคาถูกที่สุด”

       *”ทีวีกีฬา” เหล้าเก่าในขวดใหม่

แม้การเปิดสถานีโทรทัศน์เพื่อกีฬาในประเทศไทยเพิ่งจะมีการประกาศตัวเป็นรูปเป็นร่างมาได้ไม่นาน ทว่าแนวความคิดดังกล่าวหาใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด โดย กษิติ กมลนาวิน อดีตที่ปรึกษาของ ดร.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่าแนวความคิดนี้เคยผุดขึ้นมาตั้งแต่สมัย ‘รัฐมนตรีกีฬา’ คนก่อนแล้ว

“ในสมัย ดร.สุวิทย์ ก็มีแนวความคิดเรื่องทีวีกีฬาเหมือนกัน แต่ว่ายังไม่สะเด็ดน้ำ คือสมัย ดร.สุวิทย์ต้องยอมรับว่าท่านไม่ใช่นักการเมือง เพราะมาในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่มีเวลาดำเนินงานแบบสั้นๆ จึงไม่ต้องการเอาใจใครทั้งสิ้น ต้องการทำงานในแบบของท่าน มีมุมมองที่ไม่เหมือนนักการเมือง เพราะนักการเมืองแท้ๆ นโยบายเขาต้องเอาใจประชาชนได้

“ส่วนตัวแล้วผมมองว่าการสร้างทีวีกีฬาเป็นเรื่องที่ดีมาก เพื่อให้ประชาชนหลีกหนีจากอบายมุขต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด หรือเรื่องบันเทิงที่ไร้สาระ แต่ปัญหาสำคัญคือต้องให้คนเข้าถึงได้คือต้องเป็นฟรีทีวี”

โดย กษิติ ในฐานะผู้ประกาศข่าวกีฬาชื่อดังทางสถานีโทรทัศน์กล่าวต่อไปว่า “แต่ถ้าทำเป็นทีวีดาวเทียมอย่างทุกวันนี้ คนจะเข้าถึงได้อย่างไร คนไทยมี 64 ล้านคน ไม่ใช่เพียงแค่คนชั้นกลางไม่กี่แสนคน ต้องให้ประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ไม่อย่างนั้นทีวีกีฬามันก็คงไม่มีความหมายสำหรับคนส่วนใหญ่ของประเทศ

“สิ่งที่ผมอยากเห็นคือคนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่าไปติดเคเบิลหรือจานดาวเทียมแล้วคนไม่กี่คนมีปัญญาดู แต่คนที่เราอยากเน้นให้ห่างไกลยาเสพติดหรือประชาชนระดับล่างเขาไม่ได้ดู แล้วถามว่ามันจะมีประโยชน์อะไร”

ขณะเดียวกันอดีตผู้ประกาศข่าวคนดังยังกล่าวถึงแนวความคิดการจัดตั้งทีวีกีฬาว่าสมควรมีโฆษณาได้ แต่ไม่ควรจะมีมากเกินไป

“ตลอดเวลา 10 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ผมได้ชมการถ่ายทอดสดกีฬากันตาฉ่ำ เพราะเขาถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีและอยู่ได้โดยมีโฆษณา แต่ไม่เหมือนเมืองไทยที่โฆษณากันบ้าเลือด ยกตัวอย่างที่ฝรั่งเศส ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกมีโฆษณาเปิดตัวจากสินค้าว่า ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกได้รับการสนับสนุนจากสินค้าตัวนี้ จุดจุดจุด เพียงแค่ ครึ่งนาทีเท่านั้น เสร็จแล้วพอพักครึ่งก็ขึ้นจิงเกิลให้สินค้าผู้สนับสนุนอีกครึ่งนาที แล้วก็โฆษณาสินค้าตัวนั้นอีก 1 นาทีเต็ม จากนั้นก็เข้าสู่บทวิเคราะห์เกมการแข่งขันในครึ่งแรก ก่อนครึ่งหลังก็มีจิงเกิลอีกหน่อย แข่งจบก็มีจิงเกิลนิดเดียวจบเลย ขอแค่ผู้สนับสนุนก็เจ้าเดียว ไม่ต้องเยอะ แต่ว่าต้องตั้งราคาขายโฆษณาให้แพง อย่างเมืองไทยมี 64 ล้านคน อย่างน้อยๆ 32 ล้านคนก็ต้องดู”

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “การถ่ายทอดสดรายการกีฬาจากต่างประเทศ เราต้องยอมรับในเรื่องสิทธิประโยชน์ก็ต้องจ่ายสตางค์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์ จะไปเอาของฟรีตลอดคงไม่ได้ อย่างเคเบิลทีวีที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ รัฐบาลต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิ์บางรายการที่น่าสนใจของเขามา

“รัฐบาลจำเป็นต้องหางบประมาณมาสนับสนุนให้ทีวีช่องกีฬาได้ถ่ายทอดสดกีฬาที่ประชาชนสนใจมากๆ อย่างโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลกก็ต้องมีในทีวีช่องกีฬา เพราะคนในวงกว้างให้ความสนใจ แต่หากมาเก็บเงินผู้ชมกับการถ่ายทอดสดกีฬาเหล่านี้ ผมถือว่าเป็นการทำลายวงการกีฬา”

       *ล้างระบบเก่าส่งคนเก่งบริหารทีวีกีฬา

ขณะเดียวกันมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ทีวีกีฬา’ ที่อยู่ภายใต้ระบบราชการนั้น อาจจะเป็นการทำร้ายตัว ‘ดรีมโปรเจกต์’ นี้ไปในตัว ซึ่งในส่วนตัวของ กษิติ ที่มีประสบการณ์ยาวนานบนเส้นทางสายนี้เปิดเผยว่า การแต่งตั้งบุคคลมาทำงานในคณะทำงานดังกล่าวต้องคัดสรรแต่ผู้มีความรู้มีความสามารถจริงๆ มาร่วมงาน

“บุคลากรที่เข้ามาทำในด้านทีวีกีฬา อย่าไปเชิญมาร่วมงานแบบว่าคนนั้นต้องเชิญเพราะเป็นผู้ใหญ่ คนนี้ต้องเชิญเพราะมีชื่อเสียง กลายเป็นว่าคณะกรรมการของทีวีกีฬามีจำนวนมากเป็น 30 คนในการบริหารงาน ซึ่งคนที่มาทำงานเขาก็ต้องมีรายได้ พอมีผู้บริหารมาก รายได้ที่เข้ามาก็ต้องมาที่ตรงนี้ ก็กลายเป็นว่าต้องมาแชร์รายได้ให้คนจำนวนนี้โดยไม่เกิดประโยชน์เท่าใด”

ทั้งนี้อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีกีฬากล่าวต่อว่า “เรื่องหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือในวงการกีฬาบ้านเราตอนนี้คนทำงานอยู่กันจนแก่ บริหารงานกันไปไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ยังอยู่กันอย่างนั้น ไม่นับคนที่บริหารงานล้มเหลวทำงานไม่ไปไหนก็ยังอยู่ คนไหนที่ทำแล้วมีผลงานดีก็ต้องให้เขาทำต่อ เหมือนฟุตบอลสมัยใหม่ที่ไม่มีโค้ชคนไหนที่เปลี่ยนตัวผู้เล่นในขณะที่ทีมยังชนะอยู่ ทีมชนะอยู่เรื่อยๆ แข่งนัดต่อไปก็ชนะอีก แล้วจะเปลี่ยนทำไม แต่ถ้าแข่งแล้วแพ้มันก็ต้องเปลี่ยนผู้เล่น และหากมันแข่งแล้วแพ้อยู่อีก มันก็ต้องเปลี่ยนโค้ช นี่คือหลักการง่ายๆ ของการทำงานกีฬา

“การมอบทีวีกีฬาให้เป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์กับการกีฬาแห่งประเทศไทย ผมว่ามันไม่เข้าท่า เพราะถ้าร่วมกัน เดี๋ยวก็ทำงานกันไม่ได้อีก เราก็ทราบดีอยู่แล้วว่าระบบราชการประเทศนี้เป็นอย่างไร เลือกเฟ้นคนเก่งๆ มาเลย ขอแค่ 4-5 คนเท่านั้นที่จะมาทำตรงนี้ แล้วให้อำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารงานไปเลย อย่าไปโยนให้ข้าราชการประจำทำ เพราะมันไม่มีอะไรดีขึ้นแน่นอน

“ทีวีกีฬา ต้องนำเอาความรู้กับความบันเทิงมารวมกัน ก็เหมือนละคร ลองใครทำละครมีสาระมาก แต่ว่าดูแล้วเครียด ไม่เห็นสนุกเลย ตรงนั้นคนเป็นล้านก็ทำได้ ส่วนอีกฟากคือละครน้ำเน่า ดูแล้วไร้สาระ ตบกัน ด่ากันทั้งเรื่อง แต่คนดูสนุก คนเป็นล้านก็ทำเป็น ทว่าการนำเอา 2 สิ่งมารวมเข้าด้วยกัน คือดูแล้วมีสาระด้วย ดูสนุกด้วย แล้วผู้คนติดตาม บอกเลยคนที่จะทำแบบนี้ได้มีไม่กี่คนในประเทศไทย เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของทีวีกีฬาเลยก็ได้”

นอกจากนี้ กษิติ กมลนาวิน ยังตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “หากไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวความคิดในการบริหารงานเสียใหม่ ทีวีกีฬาก็คงเป็นได้เพียงช่องสัญญาณที่ไม่มีใครสนใจ ดั่งเช่นทีวีรัฐสภาที่ผ่านมา และถ้าถามว่าถ้าเราไม่รู้จักทำงานกันแบบมืออาชีพ นักการเมืองคิดอะไรได้ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการทำ เขาก็ทำไปตามหน้าที่ ทำไปแบบนั้น แล้วก็จะอยู่กับสิ่งเก่าๆ กันไปอีกนานแสนนาน มันน่าเสียดายที่อุตส่าห์คิดเรื่องดีๆ ขึ้นมา แต่ทำให้เกิดประโยชน์ไม่ได้ เพราะไม่มีคนดู”

สำหรับอนาคตของ ‘ทีวีกีฬา’ คงใช้เวลาอีกไม่เกิน 6 เดือน ประชาชนชาวไทยก็จะได้เห็นหน้าค่าตากัน ทว่าหากใช้ความสำเร็จของ ‘ทีวีรัฐสภา’ ผลงานเก่า ‘รัฐมนตรีวีระศักดิ์’ เป็นเครื่องมือในการชี้วัดก็อาจจะทำให้กองเชียร์หวั่นใจเหมือนกันว่า สุดท้ายแล้วอนาคตของโทรทัศน์เพื่อกีฬาแห่งนี้จะลงเอยอย่างไร

โดย ผู้จัดการรายวัน 12 มีนาคม 2551 19:28 น.

แท็ก คำค้นหา