วสันต์ ภัยหลีกลี้ มองทีวียุคสื่อใหม่

ทศพร กลิ่นหอม
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่แห่งสถานีโมเดิร์นไนน์ทีวี ให้ความเห็นต่อสถานการณ์สื่อโทรทัศน์ไทย ที่อยู่ใน ‘ยุคใหม่’ ทั้งความหมายของการเป็น ‘โมเดิร์น’ ผลกระทบจากการเกิด ‘สื่อใหม่’ (new media) ‘สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่’ (TPBS) และอนาคตภายใต้ ‘รัฐบาลใหม่’

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ในโอกาสเปิดโครงการมอบ “รางวัลไนน์ เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด” รางวัลเกียรติยศเพื่อสนับสนุนคนบันเทิง เน้นบทบาทคน ‘เก่ง’ และ ‘ดี’ งานมอบรางวัลใหม่แกะกล่อง ที่ทาง ช่อง 9 โมเดิร์น ไนน์ ทีวี แจงความประสงค์ “ขอทำหน้าที่สื่อมวลชนที่ดี” ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อยกย่องดาราไทย ที่มีผลงานยอดเยี่ยม ประพฤติดี เป็นตัวอย่างแก่เยาวชนและสังคม ซึ่งจะมีการจัดงานประกาศผลที่หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคมปีนี้

วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งรับตำแหน่งผู้บริหารองค์กรสื่อขนาดใหญ่แห่งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เปิดชี้แจงความตั้งใจในการตั้งรางวัลเพื่อเสนอสาระดี และให้ความเห็นต่อสถานการณ์สื่อโทรทัศน์ไทย ที่อยู่ใน ‘ยุคใหม่’ ทั้งความหมายของการเป็น ‘โมเดิร์น’ ผลกระทบจากการเกิด ‘สื่อใหม่'(new media) ‘สถานีโทรทัศน์แห่งใหม่'(TPBS) และอนาคตภายใต้ ‘รัฐบาลใหม่’

@รางวัลไนน์เอ็นเตอร์เทน อวอร์ด ต้องการนำเสนอภาพบันเทิงในด้านดี เป้าหมายของรางวัลต้องการให้สาธารณชนรับรู้ภาพของโมเดิร์นไนน์อย่างไร

เราคิดว่าโมเดิร์นไนน์ เป็นสถาบัน และอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนเป็นเวลานาน นำเสนอผ่านทางหน้าจอวงการโทรทัศน์มานาน ข่าวบันเทิงของเรา ไม่มีค่าย เปิดกว้าง จะเรียกว่าเป็นกลางก็ได้ เสนอข่าวบันเทิงของทุกค่ายและว่ากันไปตามเนื้อผ้า ทีนี้เราคิดว่า เราในฐานะสื่อเจ้าหนึ่ง ก็คิดว่า น่าจะมีส่วนในการจัดให้มีการประกวดเพื่อส่งเสริมคนทำดีมีคุณธรรม เราคิดว่ารางวัลในวงการบันเทิงจะแสดงถึงความสามารถยอดเยี่ยมในสายงานต่างๆ แต่เราอยากให้เน้นเรื่องคุณธรรมและการเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งของเยาวชนและประชาชนทั่วไป

@เคยมีการมอบรางวัลส่งเสริมความดีคนบันเทิงแบบนี้มาแล้ว สำหรับเราอยากจะมีบทบาทกับสังคมมากน้อยอย่างไร

เราก็หวังว่าจะช่วยส่งเสริม และรางวัลต่างๆ ที่มอบให้คนดีมีคุณธรรม ยิ่งช่วยส่งเสริมกันมากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น สำหรับวงการบันเทิง เราคิดว่าเราก็น่าจะมีส่วนเพราะฝ่ายข่าวบันเทิงของสำนักข่าวไทย ก็เกาะติดข่าวสารด้านนี้มาตลอด รางวัลนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งส่งเสริมให้เกิดอะไรดีๆ ขึ้นมา

@กิจกรรมนี้เป็นสัญญาณการเพิ่มสัดส่วนภาคบันเทิงในโมเดิร์นไนน์มากขึ้นหรือเปล่า?

อันนี้ไม่เกี่ยวกันครับ เพราะโมเดิร์นไนน์มีข่าวบันเทิงที่เข้มแข็ง และเปิดกว้าง ไม่สังกัดค่าย รางวัลจะส่งเสริมด้านดีของบันเทิงมากกว่า สัดส่วนของรายการบันเทิงคงจะขึ้นกับยุทธศาสตร์ของช่องมากกว่า ณ วันนี้ สัดส่วนของเราอยู่ประมาณ 22% ถามว่ามีโอกาสเพิ่มไหม มีเหมือนกัน โดยรวมเราต้องการเป็นทั้งสถานีคุณภาพ สถานีที่ดีและได้รับความนิยม มีคนติดตามด้วย หมายความว่า ส่วนผสมของรายการก็ต้องให้กลมกล่อม น่าสนใจ ดูดี น่าสนุก

@การวัดคุณธรรมบันเทิง หมายถึงคนมีภาพลักษณ์ดีหรือต้องทำอะไรเป็นประโยชน์ต่อสังคม?

รางวัลเรามี 3 ส่วน (ทั้งหมด 13 รางวัล) สามดีกรี ประเภทแรก รางวัลพระราชทาน ‘บันเทิงเทิดธรรม’ ดีกรีคุณธรรมต้องเข้มข้น ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีจริงๆ สิ่งสำคัญคือได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานรางวัล เป็นแรงใจให้คนในวงการบันเทิงที่มีผลงานดีและประพฤติครองตนดีมายาวนานนับสิบปี

ประเภทที่สอง ต้องยอดเยี่ยมทั้งงานฝีมือโดดเด่นและต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย แต่ดีกรีก็อาจจะไม่เท่าประเภทแรกก็ได้ ประเภทที่สาม เป็นรางวัลขวัญใจมหาชน ซึ่งขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นผู้เลือก (จะไม่มีการเสนอชื่อเข้าชิง แต่เลือกจากคะแนนโหวตของประชาชนตั้งแต่เริ่มต้น) คนบันเทิงในดวงใจของพวกเขา ใครสมควรจะได้

@บันเทิงมีสาระกับสาระบันเทิง ในโมเดิร์นไนน์ ณ ปัจจุบัน ท่านมองว่าเป็นอย่างไร?

ผมมองว่ารายการของเราสามารถเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์ได้ โดยขอให้รายการนั้นเป็นน้ำดี สร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องออกมาในรูปแบบการให้ความรู้เสมอไป ถ้าเป็นเอดดูเทนเมนท์อาจจะใช่ น้ำหนักเนื้อหาการให้ความรู้มาก มีบันเทิงปน แต่ในรายการบันเทิง ให้มีเนเจอร์หรือธรรมชาติที่ดี อย่างละคร ก็ควรเป็นเรื่องสร้างสรรค์ เหมือนปีที่ผ่านมา เราได้ทำละคร ‘ปกป่าเพื่อแม่’ และ ‘ตามรอยพ่อ’ ละครส่งเสริมคุณธรรม ที่ต้องให้คนดูได้ทั้งความเพลิดเพลินและข้อคิด ยกระดับจิตใจขึ้นมา

@ดูเหมือนจะเน้นคำว่า เสนอบันเทิง ‘เป็นกลาง’ ในทางปฏิบัติเป็นอย่างไรคะ?

การไม่มีสังกัด ไม่มีฝ่ายในการนำเสนอข่าวบันเทิง ที่เป็นเรื่องที่คนสนใจใคร่รู้ อะไรเป็นเรื่องที่คนควรรู้ อะไรเป็นเรื่องที่คนอยากรู้ เรานำเสนอไม่ว่าเรื่องนั้นเป็นของค่ายไหน ไม่คิดว่าค่ายนี้ไม่ใช่พันธมิตรเรา ไม่ได้ผลิตรายการกับเรา เราไม่เสนอ หรืองานช่องอื่นเราก็เสนอ เราจะไม่โปรโมทแต่รายการของเราเรื่องของเราเท่านั้น และการเสนอข่าวบันเทิงตามเนื้อหา

โดยส่วนตัวคิดว่าความเป็นกลางมันไม่มีหรอก เพียงแต่คิดว่า ทำอย่างไรจะเสนอเรื่องราวต่างๆ ให้บาลานซ์ รอบด้านและเป็นธรรม

ถ้าพูดเป็นภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘ไม่ subjective‘ คือเราไม่ไปพิพากษา ไม่ไปตัดสินว่าคนนี้ถูกผิด ต้องเสนอให้รอบด้าน ในคนดูตัดสินใจเอง ต้องมีบาลานซ์, objective และ fair เราไม่อยากให้มีปัญหาการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไม่กล้านำเสนอเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่อยากเห็นเป็นมืออาชีพเสนอมันอย่างตรงไปตรงมา

@ความเป็นโมเดิร์นของช่อง 9 ปัจจุบัน สำหรับท่านเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าคอนเซปต์โมเดิร์นเป็นคอนเซปต์ที่ดี ช่อง 9 เราปรับกันมาเยอะ ตอนนี้ก็ดูทันสมัยขึ้น ดูดีขึ้นเยอะ สำหรับหน้าที่ของเราตอนนี้คือ ต้องทำให้ดูดียิ่งขึ้น ให้หน้าจอออกมาดี ทั้งข่าว สาระและบันเทิง แง่ข่าวเราพยายามทำให้เข้มแข็งขึ้น แง่สาระเราก็จะทำให้ดีและคนยอมรับว่า ถ้าคนอยากดูรายการประเภทนี้ต้องหันมาดูเรา

@แง่รายการข่าว ตั้งเป้าจะเป็นผู้นำด้านการเสนอข่าวหรือเปล่าคะ?

เราอยากทำให้ดีที่สุด และอยากให้คนนึกถึงเราเป็นช่องเสนอข่าวดีและน่าสนใจ ในการเสนอข่าวมีทั้งความเร็ว ความถูกต้อง ความรอบด้าน เรื่องความลึก การวิเคราะห์ และข่าวในลักษณะสืบสวนสอบสวน ณ วันนี้เราคิดว่าเราแข็งแรงพอสมควร แต่ก็ยังมีพื้นที่ๆ ต้องพัฒนากันต่อไปได้อีก โดยเฉพาะการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน และการทำข่าวแตกต่างและหลากหลายขึ้น

@ข่าวโมเดิร์นไนน์ต้องการเซเลบริตี้ในวงการข่าว หรือคิดจะสร้างติดแบรนด์โมเดิร์นไนน์หรือดึงบุคลากรมาไหมคะ?

ข่าวมันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ถ้าแยกคร่าวๆ มีทั้งในแง่ของเนื้อหา ซึ่งคือเนื้อข่าว สิ่งที่ผู้สื่อข่าวหรือทีมงานไปรวบรวมมา อีกส่วนเป็น presentation ซึ่งก็สำคัญมาก ประกอบด้วยตัวบุคคล ที่จะพรีเซ้นท์ข่าวออกไป ผู้ประกาศข่าว และยังมีแง่กราฟฟิกในการเสนอภาพออกไป ทั้งหมดนี้สำคัญ ถ้าเนื้อหาข่าวดีแต่การนำเสนอไม่น่าสนใจ ก็อาจดูไม่น่าสนใจ แต่องค์ประกอบทุกอย่างบวกลงตัว รายการข่าวก็จะแข็งแรงขึ้น ข่าวเร็ว ตรงไปตรงมา ครบถ้วนสมบูรณ์ คนนำเสนอที่แข็งแรง ข่าวเราจะเป็นที่เชื่อถือได้

ตรงนี้บุคลากรสำคัญ อาทิ เนื้อข่าวเดียวกัน ให้คนสองคนมาพรีเซ้นท์ก็อาจต่างกัน เราอาจจะเชื่อคนอีกคนมากกว่าอีกคนหนึ่ง

ผู้ประกาศข่าวของเราจะทำให้น่าเชื่อถือได้ เรามองว่าควรเติบโตมาจากงานข่าว ควรมีความรู้ในงานข่าว ควรรู้เรื่องในตัวข่าวนั้นๆ เวลาพูดออกมาไม่เป็นนกแก้วนกขุนทอง เขาจะพรีเซ้นท์ในสิ่งที่เขารู้ เวลาเกิดสถานการณ์ ผู้สื่อข่าวรายงานสดเข้ามา ผู้ประกาศข่าวสามารถซักถามให้รายงานในสิ่งที่เป็นเนื้อหนังและประเด็นสำคัญออกมาได้ ไม่ใช่ว่าเกิดอะไรสำคัญขึ้นแล้วผู้ประกาศ handle ไม่ได้

พรีเซ็นเตอร์จึงมีความสำคัญ แต่เราไม่ได้มองในเชิงของการเป็นเซเลบริตี้ แต่ก็มองว่าพรีเซ็นเตอร์เป็นแรงดึงดูดในงานข่าวพอสมควร

@สถานการณ์โทรทัศน์ในปัจจุบัน มีการปรับตัวกับการแข่งขันยังไง

main product ของอสมท.อย่าง โมเดิร์นไนน์ทีวี ซึ่งเป็นตัวหลักในการ generate รายได้ให้กับองค์กร ก็ต้องปรับตัวตลอด เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่กฎหมาย เทคโนโลยี และวงการ

เราดูว่าคนอื่นเขาปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างไร สิ่งแวดล้อม (วงการ) เปลี่ยนไปไหม เช่นวันนี้ เรามีสถานีไทยพีบีเอส ขึ้นมาแทนทีไอทีวี สถานีไม่มีโฆษณารายการเขาเป็นอย่างไร เราก็ต้องจับตาดู เราต้องปรับตัวอะไรไหม ขณะเดียวกัน เราจะรองรับโฆษณาที่มาจากทีไอทีวีอย่างไร การเปลี่ยนแปลงต่างๆ มันมีผลถึงกัน มีการไหลของบุคลากรของรายการ เราก็ต้องดูทั้งหมด ว่าเราจะปรับให้ตัวเราแข็งแรงที่สุด และเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน แง่ธุรกิจ เราต้องดูแลผู้ถือหุ้นให้ดี ในแง่ของสังคม เราก็ดูแลผู้ชมให้ได้ดี ควบคู่กันไป

@การเกิด New Media พอจะมองเห็นทิศทางของวงการทีวีไทยไหม?

ถ้าพูดถึงนิว มีเดีย สำหรับเราเป็นช่องทางที่เราเผยแพร่งาน และมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเวบไซต์ เด็กๆ วัยรุ่นจำนวนมากรับรู้ข่าวสารทางเน็ตมากกว่าสื่ออื่น มีคนเข้าไปดูเวบไซต์เราเป็นสิบล้านคน เราจึงไม่มองข้าม

นอกจากนั้นเราก็นำเอาเทคโนโลยีใหม่เข้ามา เป็น ‘โมบายล์ทีวี’ ที่เราถือเป็นเจ้าแรกของไทย โดยการจับมือกับพันธมิตรยักษ์ใหญ่จากเกาหลี SK Telecom เพื่อจะทดลอง ในแง่ผลกระทบด้านลบไม่มี เราพยายามเอานิวมีเดียมารับใช้งานขององค์กรให้แข็งแรงขึ้น เราคิดว่า materials ที่เรามีอยู่ไม่ว่าจะข่าวหรือรายการทางโทรทัศน์ สามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มหรือมาต่อยอด เผยแพร่ในช่องทางอื่นๆ ได้

@New Media เป็นเครื่องมือใหม่?

ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องมือ ส่วนหนึ่งเป็น ‘วิถีใหม่’ ซึ่งมีผลต่อทุกอย่าง รวมถึงผลต่อสื่อดั้งเดิม อย่างวันนี้คนส่วนหนึ่งฟังวิทยุทางอินเทอร์เน็ต ฟังไปเสิร์ชเน็ตไป หรือดูข่าวอ่านข่าวทางเน็ต ในอนาคตคนอาจจะดูรายการบางรายการ หรือกระทั่งติดตามข่าว ด้วยการดาวน์โหลดคอนเทนท์มาลงอุปกรณ์ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น PDA, iPodหรือมือถือ ชีวิตก็เปลี่ยนไป คนนั่งดื่มกาแฟ ขึ้นรถไฟฟ้าก็สามารถดูรายการเหล่านั้นได้ ณ วันนี้อาจจะไม่เปลี่ยนมาก แต่ไม่นาน เราก็ถือว่ามันเป็นโจทย์ที่เราต้องหาคำตอบ ว่าเราจะปรับตัวอย่างไร ทุกวันนี้มีการพูดกันมากขึ้นถึงการดูรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง เพราะ ณ เวลาที่มีรายการ เขาอาจไม่สะดวกที่จะดู

@การเกิดทีพีบีเอส (Thai Public Broadcasting System) มีผลต่อโทรทัศน์ไทยโดยรวมอย่างไร?

การเกิดช่องใหม่ขึ้นมา โดยไม่มีโฆษณามาคั่น แน่นอนสิ่งนี้เป็นการเปลี่ยนอุตสาหกรรมทีวีบ้านเรา จากเดิมที่เรามีโฆษณาเป็นหลัก ยกเว้นช่อง 11 ที่เคยมีได้เฉพาะโฆษณาประเภท corporate image แต่ช่องอื่นๆ เหมือนกัน เมื่อมีช่องหนึ่งเกิดขึ้น ไม่ต้องมีโฆษณาแต่มีเงินทุนเกือบสองพันล้านต่อปีให้ผลิตรายการ สารคดี บันเทิงและข่าวต่างๆ ขึ้นมา ผมเชื่อว่ามันมีผลต่อผู้ชม วงการและสังคมด้วยแน่นอน

@มันจะมีผลให้วงการโทรทัศน์ตื่นตัวได้ด้านสาระบันเทิงมากขึ้นด้วยไหม?

ก็น่าจะมีนะ เพราะว่าจุดมุ่งหมายหลักของทีพีบีเอส คงเน้นข่าวสารเพื่อสังคมเป็นหลัก ตอนนี้ก็มีข่าวว่าจะมีการปรับช่อง 11 เป็นโมเดิร์นอีเลฟเว่น ซึ่งเราก็คงต้องรอดูสักระยะว่าเราต้องปรับตัวยังไง

@มองปรัชญาทีพีบีเอสจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?

ก็น่าจะเป็นไปได้นะ ตอนนี้ก็คลอดออกมาแล้ว โดยมีกฎหมายรองรับและได้เริ่มออกอากาศ มีผังรายการชัดเจนออกมาแล้ว คิดว่าเขาคงมีการปรับตัวนโยบาย การบริหารจัดงานและการผลิต ที่ต้องติดตามกันต่อไป

@ทีพีบีเอสหรือวงการทีวีไทยจะไปได้ไกลถึงโครงสร้างแบบสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษไหม?

คิดว่าคงไม่เหมือนกันในแง่โครงสร้าง เพราะบีบีซีเขาได้รับเงินทุนจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเครื่องรับ-ส่งสัญญาณโทรทัศน์(License Fee) ซึ่งเก็บโดยตรงจากประชาชน เอาเงินมาใช้ operate สถานีโทรทัศน์และวิทยุ เงินตรงนั้นมันมหาศาลและสามารถลงทุนกับการสร้าง content ได้มาก จึงมี content ดีๆ เยอะ ในตอนหลังเขาก็นำ content เหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ ด้วยการนำไปขายไปเผยแพร่ยังประเทศต่างๆ เพื่อนำรายได้เข้าสู่สถานี

แต่โครงสร้างของทีพีบีเอส มีรายได้จากเงินภาษีที่ถูกจัดสรรมาให้ ถูกกำหนดมาโดยเฉพาะ โดยรัฐบาลหรือรัฐสภาไม่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันจะไม่มีรายได้จากทางโฆษณาหรือทางธุรกิจ เป็นโครงสร้างที่วางไม่ให้การเมืองหรือธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลหรือบทบาทต่อเนื้อหาที่ทางทีพีบีเอสจะทำ ซึ่งตรงนี้ต่างจากบีบีซี

ผมมองว่าโครงสร้างทางรายได้ของทีพีบีเอสคงไม่เปลี่ยน หรือพัฒนาไปเป็นแบบอื่นเพราะกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างชัด แต่ว่าในแง่ของคอนเทนท์ ผมเข้าใจว่าทางไทยพีบีเอส คงมีเนื้อหาแบบ PBS ของอเมริกา หรือว่ามีโทรทัศน์สาธารณะแบบสถานี NHK ของญี่ปุ่นหรือ BBC เป็นแม่แบบอยู่ แต่จะทำได้ขนาดนั้นหรือไม่ ก็ต้องติดตามดูกัน เพราะว่ารายได้ของ NHK กับ BBC มาจากค่าธรรมเนียมฯ ซึ่งเป็นเงินจำนวนเยอะมาก อาจจะเป็นแสนๆ ล้านบาท

@สถานการณ์บ้านเมืองจะมีผลมากน้อยแค่ไหน?

ช่วงนี้ทีพีบีเอสเพิ่งเริ่มต้นออกอากาศ ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงกันอีก แต่ฟังดูจากหลายฝ่ายก็มองว่า น่าจะให้โอกาส วันนี้ถือว่าเกิดมาแล้ว ส่วนวันข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ต้องยอมรับสัจธรรมอย่างหนึ่งว่าทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้นนะครับ

@รัฐบาลใหม่มีผลอย่างไรกับโมเดิร์นไนน์ไหม?

รัฐบาลเพิ่งเริ่มตั้ง ก็ต้องรอดูทิศทางและนโยบายก่อน ณ วันนี้สำหรับเรา ในแง่เป็นองค์กรสื่อสารมวลชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราก็ทำงานของเราต่อไปอย่างเต็มที่และเป็นอิสระ ในแง่เราเป็นรัฐวิสาหกิจเราก็สนองนโยบายรัฐ แต่ในแง่การเป็นองค์กรสื่อเราก็ต้องเป็นมืออาชีพ ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องมี accountability ทั้งต่อผู้ถือหุ้น ผู้ชมและสังคมด้วย

@โดยส่วนตัวติดตามรายการทีวี มีที่ชอบเป็นส่วนตัวหรือเปล่าคะ?

ผมดูทีวีพอสมควรนะ เป็นหน้าที่ด้วยและเป็นความสนใจส่วนตัวด้วย ที่ผ่านมาก็มี ‘รายการข่าว’ เป็นรายการโปรด เป็นรายการที่ต้องดูและชอบด้วย (หัวเราะ) เพราะสมัยทำหนังสือพิมพ์ก็ต้องดูข่าวโทรทัศน์ สมัยดูแลข่าวโทรทัศน์ ทั้งที่ช่อง 7 ไอทีวี และตอนนี้ ส่วนหนึ่งคือหน้าที่ ส่วนหนึ่งก็อยากติดตามข่าวสารบ้านเมือง

@ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง อยากเห็นอะไรในโทรทัศน์ไทย?

ก็อยากให้มีรายการดีๆ เยอะๆ ที่ช่วยยกระดับจิตใจผู้ชม สังคมจะได้แข็งแรงขึ้น เพราะผมคิดว่า ตัวนี้สำคัญ บางคนบอกว่า ‘สังคมเป็นยังไง สื่อก็เป็นอย่างนั้น’ ‘สื่อเป็นยังไงสังคมก็เป็นอย่างนั้น’ สิ่งที่อยากเห็นคือสื่อจะทำยังไงในส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้น

ผมคงไม่อยากเห็น เด็กอนุบาลจิกหัวตีกัน หรือเห็นเด็กวัยรุ่นลอกเลียนพฤติกรรมไม่ดีที่เขาเห็นจากสื่อ หรือจากข่าวที่ปรากฏ

รายการที่ผมชอบดู เป็นรายการทางเคเบิลทีวี ซีรีส์ชุดสืบสวนสอบสวนเรื่อง CSI ดูแล้วได้ความบันเทิง ได้ความรู้ สนุกด้วย

@เพราะเรื่องนี้หรือเปล่าจุดไอเดียอยากพัฒนาข่าวสืบสวนสอบสวนของโมเดิร์นไนน์มากขึ้น?

ไม่เหมือนกันครับ สองอย่างนี้เป็นคนละเนเจอร์กัน ซีรีส์เป็นความบันเทิง แต่ข่าวมันต้องเป็น fact มันต้องยึดหลักข้อเท็จจริง แต่จะทำยังไงให้เป็นเชิงลึก เพราะผมไม่อยากเห็นข่าวแบบดาดๆ หรือข่าวประเภทที่เรียกว่า ‘ปิงปอง’ คือคนนั้นพูดที คนนี้พูดที มีแต่ความเห็น ข่าวบ้านเราบางทีความเห็นเยอะ เราจึงมองว่าจะทำยังไงให้มันมี fact มากขึ้น นอกเหนือจากปรากฏการณ์แล้วมันจะมีข้อเท็จจริงมากขึ้น ไม่งั้นจะเป็นแค่ข่าวผิวๆ

@ช่วงปีที่ผ่านมา หลังรับตำแหน่งผู้บริหาร อสมท มีอะไรที่ฟูมฟักมาเป็นพิเศษไหม?

ไม่มีครับ เพราะเราเน้นการสานต่อ และทำงานกันเป็นทีม จริงๆ มองบทบาทตัวเองว่าเป็นคนคอยซับพอร์ต เป็นคน facilitate เป็นคนคอยแจกลูก คอยกระจายงานมากกว่า และสิ่งที่ปรากฏออกมาก็ถือเป็นการร่วมกันทำ ทั้งรายการข่าวและรายการต่างๆ

แท็ก คำค้นหา