จับตา “ทรูวิชั่นส์”

โดย สรกล อดุลยานนท์
ประชาชาติธุรกิจ

ในบรรดาธุรกิจกลุ่มทรูทั้งหมด “ทรูวิชั่นส์” น่าจะเป็นธุรกิจเดียวที่ทำกำไรให้กับ “ทรู”

นักการเงินมองว่า “ทรูวิชั่นส์” หรือ “ยูบีซี” เป็นธุรกิจที่กระแสเงินสดดีมาก

การที่ “ทรู” ถอน “ทรูวิชั่นส์” ออกจากตลาดหุ้นก็เพราะ “ทรู” ต้องการจัดการ กับกระแสเงินสดและรายรับบางตัวเป็นการ ส่วนตัว

ไม่ต้องการเผยแพร่กับสาธารณชน

และทำให้สามารถผสมผสานลูกเล่น ทางการตลาดแบบ “คอนเวอร์เจนซ์” ได้ง่ายขึ้น

รายรับของ “ทรูวิชั่นส์” วันนี้มีอยู่ 3 ทาง

ทางแรกคือ ค่าสมาชิกซึ่งน่าจะเป็นรายได้เกิน 90% ของรายรับทั้งหมด

ทางที่ 2 คือ รายรับจากการขายเวลาให้กับผู้จัดรายการ

ในอดีต “รายการ” ต่างๆ ถือเป็น “รายจ่าย” ของ “ทรูวิชั่นส์”

ต้องจ่ายเงินจ้างให้ผู้ผลิตรายการ

แต่ “ช่อง 8” ที่เปิดใหม่ผู้จัดรายการทุกรายต้องเสียค่าเวลาให้กับ “ทรูวิชั่นส์”

ได้ข่าวว่าประมาณชั่วโมงละ 20,000 บาท

ทางที่ 3 คือ ค่าโฆษณา

รายการของทรูวิชั่นส์ก็คล้ายกับช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ คือไม่สามารถโฆษณาแบบ เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนฟรีทีวีทั่วไปได้

ช่อง 11 นั้นยังรับโฆษณาภาพลักษณ์องค์กรได้

แต่ “ทรูวิชั่นส์” ต้องแอบๆ มากกว่า แค่โลโก้สินค้าหรือไปถ่ายทำที่ร้าน

แฮ่ม…ยกเว้นกิจการในเครือ ซี.พี.ที่ “เต็มเหนี่ยว” ทุกช่วงเวลา

รายรับส่วนนี้เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เป็น กอบเป็นกำเท่ากับ “ค่าสมาชิก”

แต่ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับรายการ “อะคาเดมี่ แฟนเทเชีย”

“องอาจ ประภากมล” ขุนพลด้านการตลาดของ “ทรูวิชั่นส์” เคยบอกว่ารายการนี้เริ่มต้นจากการเป็น “ต้นทุน”

คือยอมลงทุนเพื่อผลิตรายการดีๆ ที่น่าสนใจรายการหนึ่งขึ้นมา

หวังแค่เรียกสมาชิกให้มาอยู่หน้าจอมากขึ้น หรือเป็นตัวเร่งเพิ่มยอดสมาชิก

แต่ทำไปทำมารายการนี้กลับโด่งดังมาก

“สปอนเซอร์” ที่เคยไปอ้อนวอนขอร้องในปีแรก

ปีหลังๆ กลับมารอคิวจ่ายเงิน

ดูง่ายที่สุดคือ อาหารของ AF 1 กับ AF 4 ที่ผิดกันราวฟ้ากับดิน

รุ่นแรก กินข้าวกล่อง

รุ่นที่ 4 กินฟูจิ ซิซซ์เลอร์ ฯลฯ

วันนี้จากรายการที่เป็น “รายจ่าย” กลับกลายเป็นรายการที่สร้าง “รายรับ” ให้กับ “ทรูวิชั่นส์” อย่างมโหฬาร

ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท

“รายรับ” หลักของ “ทรูวิชั่นส์” วันนี้ยังเป็นค่าสมาชิก แต่หลังจากพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์บังคับใช้

“ทรูวิชั่นส์” ก็มีโอกาสที่จะหาโฆษณาได้เหมือนกับฟรีทีวี

เพียงแต่เวลาโฆษณาที่ได้อาจน้อยกว่าฟรีทีวี เพราะ 1 ชั่วโมงมีโฆษณาได้เพียง 5 นาที

ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะเป็นรายได้ที่เยอะมาก

ครับ ถ้าเคเบิลทีวีนั้นมีช่องรายการเพียง 1 ช่อง

แต่ตอนนี้ “ทรูวิชั่นส์” มีช่องรายการเกือบ 100 ช่อง

คำนวณหยาบๆ 1 ชั่วโมง โฆษณาได้ 5 นาที

เท่ากับว่าภายใน 1 วัน 24 ชั่วโมง มีโฆษณาได้ 120 นาที

100 ช่อง 12,000 นาที

1 เดือนหรือ 30 วัน มีโฆษณาได้ 360,000 นาที

แต่อุปสรรคของ “ทรูวิชั่นส์” อยู่ที่ต้องเจรจากับเจ้าของสัมปทานคือ อสมท ก่อน

ถ้า “อสมท” ไฟเขียวผ่านตลอด

รับรองได้ว่า “ฟรีทีวี” ทุกสถานีเหนื่อยแน่

หลายคนอาจมองว่า “ทรูวิชั่นส์” เป็นเคเบิลทีวี มีสมาชิกไม่ถึง 1 ล้านคน

สินค้าต่างๆ ไม่น่าสนใจที่จะลงโฆษณา

ครับ นั่นคือภาพที่เห็นในวันนี้

วันที่ “ทรูวิชั่นส์” มีรายได้จากค่าสมาชิก เป็นหลัก

ประตูรายรับจาก “โฆษณา” แม้จะไม่ถึงขั้นปิดตาย

แต่ก็แค่แง้มๆ ให้ลมผ่าน

แต่หลังจาก พ.ร.บ.วิทยุ-โทรทัศน์บังคับใช้เมื่อไร

ประตูรายรับเรื่อง “โฆษณา” ก็จะเปิดเต็มที่

วันนั้นวิธีคิดของ “ทรูวิชั่นส์” จะเปลี่ยนไป

เขาจะต้องทำให้ยอดสมาชิกเพิ่มขึ้นแบบผิดหูผิดตา

อย่าลืมว่าตอนนี้เขามีแคมเปญสมาชิกเดือนละ 300 บาท และให้โทร. “ทรูมูฟ” ฟรีอยู่แล้ว

การขยับให้ค่าสมาชิกต่ำลงอีก หรือเพิ่มช่องรายการดีๆ เข้าไปจึงไม่ใช่เรื่องยาก

ทำอย่างไรก็ได้ให้ยอดสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 หรือ 20 ล้านครัวเรือน เพื่อให้เกิดพลังจูงใจกับเอเยนซี่โฆษณา

เรื่องแบบนี้ “คณิตศาสตร์โฆษณา” คิดไม่ยากหรอกครับ

“จุดเด่น” หนึ่งของ “ทรูวิชั่นส์” ก็คือ เครื่องรับสัญญาณที่สามารถวัด “เรตติ้ง” รายการได้อย่างมีประสิทธิภาพเหนือกว่า “เอซี นีลเส็น”

คิดดูซิครับ แค่กลุ่มตัวอย่างก็มากกว่ากันไม่รู้เท่าไรแล้ว

เพราะสมาชิกทุกคนคือกลุ่มตัวอย่าง

บางที “ทรูวิชั่นส์” อาจหารายได้เพิ่มจากการขายข้อมูล “เรตติ้ง” ให้เอเยนซี่โฆษณา ได้ด้วย

ครับ ถ้า “ศุภชัย เจียรวนนท์” พลิกเกมเรื่อง “ทรูวิชั่นส์” ใหม่

ปรับโครงสร้างการหารายได้

ให้น้ำหนักกับโฆษณามากขึ้น

บางทีสมรภูมิ “จอแก้ว” อาจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3978 (3178)  หน้า 24

แท็ก คำค้นหา