โมเดิร์นอีเลฟเว่น

นานมาแล้วเคยคุยกับผู้จัดรายการพูดถึงช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ว่า แม้ภาพลักษณ์ในสายตาของคนดูจะดูเชยๆ แต่เมื่อลงรายละเอียด มองความเป็นช่องทีวีที่มีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ทันสมัยครบครัน สื่อรัฐช่องนี้ก็ไม่ได้ด้อยกว่าช่องฟรีทีวี 3-5-7-9 เพียงแต่อาจจะด้วย ‘ภาระหน้าที่’ หรือ ‘ข้อจำกัด’ ในลักษณะเดียวกับปัญหาของหน่วยงานราชการทั่วไป จึงทำให้ช่อง 11 ดูคล้ายคนตกยุคเก่า และ ล้าสมัยไปโดยจำยอม

เมื่อ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี พูดว่า จะปรับปรุงช่อง 11 ให้เป็น ‘โมเดิร์นอีเลฟเว่น’ จึงเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองในทันที

แม้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่า เค้าโครงของ โมเดิร์นอีเลฟเว่น จะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่หากแกะจากคำพูดของนายสมัคร นัยสะท้อนออกมาว่า เขาต้องการให้สื่อรัฐช่องนี้เปลี่ยนเป็นช่องพาณิชย์เต็มรูปแบบ

รายการต่างๆ ของช่อง11 หลังเปลี่ยนเป็นโมเดิร์นอีเลฟเว่น ตามแนวคิดของสมัคร คือ เปิดกว้างสำหรับการทำเงินในทุกรูปแบบ แม้อาจจะไม่ใช่ในรูปแบบของการโฆษณาสินค้าบ้าเลือดแบบฟรีทีวี แต่ก็ใกล้เคียง

แรกๆ ทีวีช่องพาณิชย์ช่องใหม่ น่าจะมีเงินแน่นอนจากการดึงงบโฆษณาจากรัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานรัฐ ที่แต่ละปีมีเม็ดเงินมหาศาล แทนที่จะเสียให้กับฟรีทีวี ผู้จัดเอกชน ก็มาลงให้ช่องของรัฐในลักษณะ ‘อัฐยายซื้อขนมยาย’

จากนั้น เมื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมาย หรือทำช่อง11เป็น ‘เอสดียู’ หรือหน่วยบริการราชการที่จะคล่องตัวทำงานได้เหมือนเอกชนอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว การรับโฆษณาจากองค์กรธุรกิจก็ไม่ใช่เรื่องยาก

คิดตามแล้ว โมเดิร์นอีเลฟเว่น เหมือนจะดี หาก ไม่บังเอิญว่า ก่อนหน้าที่นายสมัคร จะพูดถึงแนวคิดที่นี่ มีกรณีที่หลุดปากพูดถึงทีวีช่องใหม่ พูดถึงการอุ้มไอทีวีเดิม

คำพูดต่างกรรมต่างวาระนี้เมื่อโยงเข้าหากันเป็นภาพใหญ่ทำให้สะกิดความสงสัยขึ้นว่า วาระนี้ทำเพื่อใครกันแน่

การตั้งสถานีใหม่ก็ดี การเปลี่ยนโฉม ปรับผังช่อง 11 ก็ดี เป็นไปได้หรือไม่ ทำเพื่ออุ้มผู้จัดรายการไอทีวีเดิมรองรับโฆษณาที่หายไป บรรเทาความเสียหายให้แก่กันจากการถูกเปลี่ยนไปเป็นทีวีสาธารณะทีพีบีเอส

เมื่อมองจากพื้นฐานความเป็นจริง การปรับช่อง 11 เป็นช่องพาณิชย์แข่งขันกับช่องฟรีทีวีอื่นๆ สิ่งแรกที่ช่อง 11 จำเป็นต้องทำคือ เรตติ้ง และ รายการที่เรียกเรตติ้งก็คงหนีไม่พ้นบันเทิง และเกมโชว์ที่มีให้เห็นตามช่องฟรีทีวีทั่วไป แล้วถามว่ากลุ่มผู้ผลิตรายการ ผู้จัดรายการไหนบ้างที่เข้าข่าย? เข้าล็อกหรือไม่?

วันใดที่ช่อง 11 เปลี่ยนไปแล้ว ปรากฏว่า มีบรรดาผู้จัดรายการที่เคยแอบอิงอยู่กับไอทีวีเดิม รวมไปถึงรายการ ‘ชิมไปบ่นไป’ ซึ่งน่าแปลกใจว่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาบันทึกเทปไปแล้ว ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะไปลงโลงกับช่องไหน โผล่มาให้คนทางบ้านได้ดู คงจะได้ทราบกัน

เวลานั้น สื่อของรัฐที่เคยทำหน้าที่เป็นสื่อที่ดีสื่อหนึ่งตลอดมาก็จะกลายเป็น ‘ช่องทีวีน้ำเน่า’ ช่องหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ลำพังทีวีน้ำเน่าที่มีอยู่ในปัจจุบันหลายช่องหลายรายการ รัฐบาลมองว่ายังไม่พออีกหรือ

ประเด็นนี้ทำให้คิดถึงการวิเคราะห์ของอาจารย์บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งศึกษาสื่อโทรทัศน์เมืองไทยทั้งในระดับโครงสร้าง เนื้อหา วิธีการทำงานของนักวิชาชีพมายาวนาน โดยเคยเขียนบทความลงในผู้จัดการรายวันนานมาแล้ว

อาจารย์มองว่า “สถานีโทรทัศน์ของเมืองไทย ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการทำรายการสาระที่เอาจริงเอาจัง อาทิ การทำข่าวที่เป็นอยู่ส่วนมากเป็นการทำแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ มากกว่า ทว่าไปเน้นกันที่ความสนุกสนานครึ่งผีครึ่งคนที่ใช้เงินลงทุนและความคิดนิดๆ หน่อยๆ สลับกับการเอะอะมะเทิ่ง ทว่าได้เงินโฆษณาง่ายๆ และกำไรมากๆ กันเสียมากกว่า

ยิ่งกรณีที่เป็นเรื่องของการเมืองภาคประชาชนแล้ว สื่อโทรทัศน์ยิ่งมีความสามารถที่จะทำเป็นหูหนวกตาบอดได้ด้วยความสบายใจอย่างยิ่ง เพราะการเมืองภาคประชาชนมักเป็นปฏิปักษ์ต่อคณะรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์และสัมปทานสื่อโทรทัศน์อย่างสมบูรณ์แบบ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความอับจนทางปัญญาของสื่อโทรทัศน์ไทยที่หนีไม่พ้นวังวนน้ำเน่า ไม่ได้ความสารพัดสารพัน”

ดังนั้น โมเดิร์นอีเลฟเว่น จะมีประโยชน์อันใดหากเนื้อหารายการเน้นแต่ “ความบันเทิง” ขายความสนุกสนานเพื่อหวังโฆษณาจนลืมหน้าที่หลักของความเป็นสื่อเป็นช่องสาระเพื่อประชาชน

สุดท้ายคิดเป็นอื่นไม่ได้ว่า การปรับโฉมช่อง 11 ก็แค่กุศโลบายเพื่อตอบสนองตัณหานักการเมืองเท่านั้น

ช่อง11 มิสู้ให้คนมองเป็นช่องเชยๆ มีรายการอย่าง ‘ธรรมรส ธรรมรัฐ’ ‘พุทธธรรมนำปัญญา’ แต่มีคุณค่าประโยชน์ต่อสังคมยังคู่ควรจะเป็น ‘โมเดิร์นอีเลฟเว่น’ ที่แท้จริงเสียกว่า

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 19 กุมภาพันธ์ 2551 20:37 น.

แท็ก คำค้นหา