ทำไมสื่อไทยยอมให้นักการเมือง ‘ยึดพื้นที่ข่าว’อย่างราบคาบ?

นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์คนหนึ่งถามผมว่า ทำไมนักข่าวแห่ตามนายกฯ สมัคร สุนทรเวช ทุกวัน แต่ไม่มีโอกาสได้ซักถามในเรื่องนโยบายเชิงลึก ไม่มีการตามติดคำถามที่สำคัญ มีแต่รายงานข่าวว่านายกฯ ไปไหน เจอใคร นั่งรถยี่ห้ออะไร และทำกับข้าวอะไร?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : “ผมเห็นข่าวทีวี และหนังสือพิมพ์ทุกวันนี้รายงานแต่เพียงว่านายกฯ และรัฐมนตรีอยากพูดอะไร ก็เป็นข่าว แต่ไม่มีข่าวที่ชาวบ้านอยากจะรู้บ้างเลย…เกิดอะไรขึ้นกับวงการข่าว?” นักวิชาการคนนั้นถามด้วยความหงุดหงิดพอประมาณ

อย่างนี้เขาเรียกว่านักการเมืองสามารถ “กำหนดวาระ” ให้กับสื่อ และคนเป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรีพอจะรู้เลยว่าถ้าค่ำนี้อยากให้ทีวีออกข่าวอะไรก่อนหลัง หรือจะให้หนังสือพิมพ์พาดหัวอะไรในวันรุ่งขึ้น ก็สามารถกำหนดได้…เพราะนักการเมืองกลายเป็นคน “กำหนดทิศทาง” ให้กับข่าว สื่อไทยไม่ทำข่าวเจาะลึกที่เรียกว่า investigative reporting ในประเด็นที่เป็นเนื้อหาที่มีผลต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่กลับกลายเป็น “เครื่องมือ” การสร้างกระแสตามที่คนของรัฐบาลต้องการ อย่างนี้สื่อจะอ้างความเป็น “หูตาของประชาชน” เพื่อจะตรวจสอบการทำงานของตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามา หรือเป็น “เครื่องเอกซเรย์” เพื่อส่องเข้าไปดูข้างในลึกๆ ของผู้มีอำนาจย่อมพูดไม่ได้เต็มปาก หากไม่ปรับระบบการทำงานและวิธีคิดของคนข่าว (ทั้งภาคสนาม และหัวหน้าข่าวที่ต้องใช้วิจารณญาณตัดสินว่าอะไรเป็น “กระพี้” และอะไรเป็น “แก่น”) สื่อก็จะเป็นเพียง “เครื่องมือ” สร้างสีสันให้กับนายกฯ และรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” หรือ “ยามเฝ้าประตู” ให้กับประชาชนทั้ง 65 ล้านคนเลยแม้แต่น้อย ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือคำถามที่นักข่าวต้องถาม แต่ไม่อยากจะถามหรือไม่กล้าถามเพราะกลัวจะโดน “อัดกลับ” โดยนายกฯ คนนี้ แต่นักข่าวฝรั่งกลับถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องถามนายกรัฐมนตรีของไทย เพื่อให้ได้คำตอบคำถามคนดูคนอ่านและคนฟังเขา นักข่าวของ CNN ที่ชื่อ Dan Rivers สัมภาษณ์รายการ Talk Asia ออกอากาศแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ตั้งคำถามตรงๆ ที่เป็นเนื้อๆ ที่คนไทยเองก็อยากจะได้ยินคำตอบกับนายกฯ สมัคร นักข่าวคนนี้ถามหลายคำถามที่คนไทยต้องการคำตอบ แต่นักข่าวไทยไม่ได้ถาม ไม่มีโอกาสถาม หรือไม่กล้าจะถามก็ตามที

เช่นเขาถามสั้นๆ ตรงๆ ไม่อ้อมค้อมว่า “คุณทักษิณ ชินวัตร จะมีบทบาทอย่างไรแค่ไหนในรัฐบาลของคุณสมัคร?” ถามว่า “คุณสมัครเป็น puppet ของคุณทักษิณหรือไม่?” ถามคุณสมัครว่า “คิดว่าคุณทักษิณ corrupt หรือไม่?” ถามว่า “คุณสมัครจะ “เช็คบิล” นายทหารที่ร่วมปฏิวัติหรือไม่?” ถามคุณสมัครว่า “คิดว่าการปฏิวัติครั้งล่าสุดได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศอย่างไรบ้าง?” และถามว่าคุณสมัคร มีบทบาทในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ อย่างไร? มีความรู้สึกที่ถูกกล่าวหาว่า “มือเปื้อนเลือด” ในเหตุการณ์นั้นอย่างไร? ถามด้วยว่า “ทำไมคุณสมัครบอกว่ามีคนตายในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพียงคนเดียวในขณะที่ตัวเลขทางการยังยืนยันว่ามีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้นไม่น้อยกว่า 46 คน?” ถามว่านักข่าวไทยโง่กว่านักข่าวฝรั่งหรือ? เปล่าเลย

ถามว่าทำไมนักข่าวไทยไม่ถามคำถามที่นักข่าวฝรั่งถาม? เพราะความเกรงใจแบบไทยๆ หรือเพราะฝรั่ง “ห่าม”? แต่มาตรฐานของความเป็นวิชาชีพสื่อนั้นเป็นเรื่องสากล และที่ผ่านมามาตรฐานของความเป็นมืออาชีพสื่อไทยนั้น ไม่ได้ด้อยไปกว่าใครในการเจาะประเด็น วิเคราะห์สถานการณ์และการทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่วันนี้ มาตรฐานของสื่อเช่นนั้นทำท่าจะหดหาย จะเป็นเพราะความประมาทหรือตายใจหรือความกลัวหรือความขี้เกียจก็ตามที ข่าวภาคค่ำของทีวีทุกช่องไม่ได้มีความแตกต่างกัน ข่าวภาคเช้าของทีวี และวิทยุวันรุ่งขึ้นก็ไม่ได้แข่งกันเจาะหาความลึกและความหมายของข่าวที่มีต่อประชาชน…พาดหัวหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ก็เป็นข่าวประเภทอ้างคำพูดของนักการเมืองเท่านั้น ไม่วิเคราะห์ไม่เจาะลึกไม่เสนอแง่มุมข่าวจากอีกด้านหนึ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองแต่อย่างไร ข่าวเรื่องแมวของนายกฯ และวิธีทำกับข้าวของคุณสมัคร นั้นอาจจะเป็นข่าว “สีสัน” สำหรับคนดูได้ครั้งสองครั้ง…แต่ถ้ามากกว่านั้นก็จะไร้ความหมายสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ นายกรัฐมนตรีประเทศไหนก็ตามถ้าออกมาพูดทางทีวีคนเดียวเป็นชั่วโมงในเรื่องผันน้ำจากแม่โขง และระบบขนส่งมวลชน เป็นคุ้งเป็นแคว แต่ไม่บอกว่าจะทำอย่างไร ทำเมื่อไร เอาเงินจากไหน มีผลกระทบต่อใครอย่างไรบ้าง… ประชาชนคนไทยก็จะหันมาถามสื่อว่าท่านจะเพียงแค่รายงานว่านายกฯ พูดอะไรและบ่นอะไรอย่างยาวเหยียดซ้ำแล้วซ้ำอีกเท่านั้นหรือ? สื่อที่รับผิดชอบจะไม่ช่วยหาคำตอบ ความเห็นหลากหลาย ซักถามรายละเอียดเพิ่มเติมให้กับคนอ่าน คนดูและคนฟังทั้งประเทศเลยกระนั้นหรือ?

นักการเมืองเขาปรับกลยุทธ์ในการสร้างภาพลักษณ์ของเขาตลอดเวลา รู้จัก “ยึดพื้นที่ข่าว” ได้ทุกวัน หลอกใช้สื่อให้เป็นเครื่องมือให้เขาทุกนาที สื่อเองจะพัฒนาตัวเองให้รับใช้สิทธิของการรับรู้ข่าวสารในมุมลึกของประชาชนได้หรือยัง?

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

 

แท็ก คำค้นหา