“ทีวีช่องใหม่” ลงท้ายปัดฝุ่น ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์

สุทธิรักษ์ อุฒมนตรี
โต๊ะข่าวประชาธิปไตย
สถาบันอิศรา

อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 ที่ทำการของสถานีโทรทัศน์สาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย หรือทีพีบีเอส ซึ่งมีกำหนดออกอากาศเป็นวันแรก วันนี้ (15 ก.พ.) บรรยากาศคึกคัก โดยเฉพาะฝ่ายข่าวซึ่ง มีนักข่าว ช่างภาพ เตรียมความพร้อมกันอย่างขมักเขม้น

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี รักษาการบรรณาธิการทีพีบีเอส บอกว่า วันนี้พนักงานทุกคนมีความสุขมากที่ได้ทำรายการ ออกอากาศอีกครั้งหนึ่ง ยืนยันว่าวันนี้เรามองไปข้างหน้าทุกอย่างถือว่าเริ่มจากศูนย์ใหม่่ ไม่มีความคิดในเรื่องอดีตอีกแล้ว ขอให้ประชาชนติดตามชมเชื่อว่าจะเป็นทางเลือกให้สังคมได้
น.ส.บุษกร อังคณิต ผู้สื่อข่าวโต๊ะสิ่งแวดล้อมทีพีบีเอส เล่าด้วยความรู้สึกดีใจว่า รู้สึกตื่นเต้นมากกับการออกอากาศเป็นวันแรกเหมือนกับอัดอั้นมานานหลังจากที่ทีไอทีวีถูกปิด ทุกคนก็รอคอยวันนี้ที่จะได้ทำข่าวอีกครั้ง อยากบอกว่านาทีนี้พวกเราได้ทุ่มเททำงานกันมากกว่าพันเปอร์เซ็นต์ไม่ใช่แค่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เรามีความมุ่งมั่นอย่างสูงที่จะทำโทรทัศน์สาธารณะแห่งนี้ให้เป็นสถานีที่จะเสนอข่าวสารข้อมูลอย่างรอบด้าน ลึกซึ้งทุกแง่มุม โดยไม่มีข้อจำกัด ข้อผูกมัด เรื่องโฆษณาหรือธุรกิจเหมือนในยุคทีไอทีวี ล่าสุดได้ทำเทปข่าวเรื่องความแตกแยกของประชาชนหลังจากมีโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็กที่บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

แม้ว่าทีพีบีเอสจะมีกระแสความกดดันที่มาจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี แต่นายธีรัตน์ย้ำว่า วันนี้เรามีแต่ความกดดันว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนติดตามและให้โอกาสทีพีบีเอส
ส่วนแรงกดดันทางการเมืองนั้น นายเทพชัย หย่อง รักษาการ ผ.อ.ทีพีบีเอส ได้บอกกับทีมงานว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการ 5 คนที่จะแบกรับแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นเอง ส่วนกองบรรณาธิการให้มีอิสระอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของทีพีบีเอสทำให้รัฐบาลนายสมัครตระเตรียมจัดทำทีวีช่องใหม่ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่าทำไม่ได้เพราะ ขัด ม.80 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผยขณะเดินทางไปประชุมสัญจรรับฟังความเห็นสาธารณะ “แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่2 (พ.ศ.2548-2550) ส่วนภูมิภาคที่โรงแรมดิเอมเพรส จ.เชียงใหม่” ว่า กรณีที่รัฐบาลจะทำโทรทัศน์อีกช่องเพิ่มจากทีวีสาธารณะนั้น กทช.ไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การจะเกิดขึ้นของทีวีช่องใหม่ในตอนนี้ถ้ารัฐบาล หรือนายกฯ อยากจะทำต้องทำให้ถูกกฎหมายซึ่งมีอยู่ 2 อย่าง
หนึ่ง กฎหมาย “องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2543” มาตรา 80 ได้ห้ามไว้ ถ้าอยากมีก็ต้องแก้กฎหมายนี้ว่าให้ทำได้
สอง ทำแบบที่มีกฎหมายว่าด้วยทีวีสาธารณะ คือ ออกกฎหมายมาเฉพาะที่จะตั้งสถานีโทรทัศน์เฉพาะอันนี้ขึ้นมาว่าจะเป็นทีวีลักษณะไหนยังไงก็ทำได้ แต่จะต้องทำตามกฎหมาย  ถ้ายังไม่มีกฎหมายก็ต้องแก้กฎหมายให้สามารถทำได้

“เหมือนกับทีวีสาธารณะเพราะมีกฎหมายโดยเฉพาะจึงตั้งได้  ถ้าไม่มีกฎหมายโดยเฉพาะก็เท่ากับว่าขัดรัฐธรรมนูญ”

หลังจากที่โยนหินถามทางหลายวัน และมีเสียงค้านมากกว่าเสียงหนุน ทำให้วันเดียวกันนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อประจำทำเนียบรัฐบาล ว่า กรณีที่ได้ไปพูดทางรายการ“สนทนาประสาสมัคร” ทางช่อง 11 เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมาเรื่องการจะเปิดสถานีโทรทัศน์ใหม่ เป็นเพราะมีคนมาถาม ว่า จะเปิดสถานีโทรทัศน์ใหม่หรือ จึงตอบไปว่าก็คอยดูแล้วกัน เพราะความตั้งใจเดิมมีอยู่แล้วว่าจะทำอะไร แต่การไปยั่วตรงนั้นทำให้ได้รู้ว่าพวกที่คุมคลื่นหรือสถานีต่าง ๆ ก็ออกมาบอกว่าจะเกิดใหม่ไม่ได้เลย ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่องใหม่เราก็ไม่ไปยุ่งอย่างแน่นอน    โดยหลักการคือ ไม่ต้องการให้สถานีโทรทัศน์ช่องไหนมาสนับสนุนรัฐบาล เราอยู่มาได้ ผ่านการเลือกตั้งมาก็ไม่ต้องใช้โทรทัศน์สักช่องเลย แต่อยากให้มีการเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น

“เจตนาของผมวันที่ไปช่อง 11 คือเมื่อช่องที่เขาเสนอข่าวตรงไปตรงมามันถูกยึดเอาไปทำอย่างอื่น ผมไม่คิดจะไปตามรังควานอะไร ขอให้ทำกันไปตามสบาย แล้วผมก็ตั้งใจว่าจะทำให้ช่อง 11 ที่ความจริงเป็นช่องสาธารณะมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ถูกเบี่ยงเบนไปจนกลายเป็นสถานีรัฐบาล กลายเป็นสถานีโทรทัศน์ซึ่งเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา เสนอข่าวทุกฝ่ายไม่เฉพาะรัฐบาล ไม่ต้องมาเชลียร์หรือประจบประแจงรัฐบาล โดยเราจะปรับปรุงช่อง 11 ให้ทันสมัย เอาคนที่มีฝีมือมาทำ เราจะมีรายการที่ดีทำนองเดียวกับที่เขาจะทำทีวีสาธารณะกัน แต่ระหว่างนี้ที่ช้าหน่อยเพราะกำลังดูวิธีการว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้มีรายการทันสมัย ซึ่งต้องถูกต้องตามกฎหมายโดยจะใช้เวลาไม่นาน เพราะเราต้องรีบทำ ส่วนงบประมาณนั้นก็จะใช้สปอนเซอร์สนับสนุนใส่โลโก้แบบไม่โฆษณาเหมือนที่ช่อง 11 ทำอยู่ทุกวันนี้ ” นายสมัคร กล่าว

ส่วนเรื่องที่จะให้นโยบายกับรัฐมนตรีอย่างไรไม่ให้มาใช้ช่อง 11 ในการประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเอง จะไปห้ามก็ไม่ได้ ถ้าไปห้ามอย่างนี้อีกหน่อยนายสมัคร ก็พูดอะไรไม่ได้เลย และที่มีการวิจารณ์ว่ารัฐบาลเริ่มเข้าไปแทรกแซงสื่อแล้วนั้น ขอให้สบายใจได้ รัฐบาลไม่คิดและไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงด้วยประการทั้งปวง และขอท้าทายให้พิสูจน์ด้วยว่าแทรกแซงอย่างไร

ด้านรัฐมนตรีที่คุมสื่อ และเป็นตัวตั้งตัวตีตั้งสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ ยังไม่เปลี่ยนท่าที โดยนายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่า ถ้ารัฐบาลจะประกาศนโยบายใหม่ก็ควรจะใช้หน่วยงานของตัวเอง ไม่ได้แปลว่าจะต้องไปปรับปรุงที่ช่อง 11 อย่างเดียว อาจจะมีที่อื่นอีก แต่ช่อง 11 เป็นเป้าหมายที่จะปรับปรุง
ก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวว่าจะอาจจะใช้พีทีวี นั้น นายจักรภพยืนยันว่าไม่มี ไม่มีการเอาชื่อใครมาเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นพีทีวี เอเอสทีวี เนชั่นทีวี แต่ตรงนี้เป็นการพัฒนาระบบของรัฐซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่นายกฯ บอกว่าต้องทำ ก็คือช่อง11 แล้วยิ่งนายกฯ ให้นโยบายอย่างนี้ก็ยิ่งดี ดังนั้น แปลว่าช่อง 11 อาจจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องนำมาทำก่อน ส่วนแนวทางการทำงานนั้นจะมองภาพรวมทั้งหมด จากนั้นก็จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อรวบร่วมข้อมูลแล้วมาสรุปเพื่อดำเนินการ

“ผมอ่านใจท่านนายกฯว่า ท่านนั้นอยู่ในรัฐบาลมาหลายชุด ท่านก็อยู่ในช่วงที่ช่อง 11 เพิ่งเกิดขึ้น และน่าจะพัฒนาไปได้มากกว่านี้ ช่อง 11 มีเครื่องไม้เครื่องมือดี มีคนที่ตั้งใจทำงาน แต่ด้วยระบบระเบียบทำให้พัฒนาได้ไม่เต็มที่ ทั้งงบประมาณก็ไม่มี เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ควรจะมีคนที่อื่นเพื่อเข้าไปใช้เครื่องมือให้เกิดประโยชน์ ผมเองทำอะไรพินิจพิเคราะห์อย่างดี”

คงต้องรอดูช่อง 11 ยุคปรับปรุงใหม่ว่าจะมีทิศทางอย่างไรในที่สุด

ที่มา โต๊ะข่าวประชาธิปไตย สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2008 17:39น.

แท็ก คำค้นหา