ไทยพีบีเอส –โอกาสทองของการปฏิรูปสื่อ

somchai_suwanbanสมชัย สุวรรณบรรณ

 

 

 

 

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เมื่อ 2535 มีเสียงเรียกร้องกันมากให้มีการปฏิรูปสื่อ โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ผลของการเรียกร้องนั้นปรากฎเป็นรูปธรรมในร่างของไอทีวี ซึ่งก็ปรากฎว่าต้องล้มลุกคลุกคลานมาตลอด อีกทั้งอุดมการณ์สร้างสื่อเสรีก็บิดเบี้ยวไป ไม่สามารถสร้างผลงานให้ประจักษ์ว่าเป็นสื่อเสรีอย่างแท้จริงที่สร้างสรรค์รายการคุณภาพ หรือสื่อสารงานข่าวที่ยึดหลักจรรยาบรรณที่เป็นของแท้ กลับกลายเป็นสถานีทีวีเอาใจตลาด (market driven) และตกอยู่ในวังวนของจรรยาบรรณเทียม ที่รับใช้กลุ่มทุนการเมืองที่เป็นหุ้นใหญ่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยแต่มีอำนาจ  มิได้มีเป้าหมายที่จะเพี่มมูลค่าสร้างความไพบูลย์ให้กับสังคม (enriching people’s live) ตามเสียงเรียกร้องให้เป็นอนุสรณ์ แก่ผู้ที่เสียชีวิตและเลือดเนื้อจากเหตุการณ์นั้น

การผลักดันให้เกิดทีวีสาธารณะ (public service TV) ของประชาชนภาคต่างๆ จนสำเร็จออกมาเป็น ไทย-พีบีเอส จึงเป็นการเริ่มต้นใหม่ ของอุดมการณ์ปฏิรูปสื่อ ที่เรียกร้องกันหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  นี่เป็นการมองมุมกว้าง  มิใช่เป็นเรื่องของการทำลายล้างหรือกลั่นแกล้งกลุ่มทุนครอบครัวชินวัตร์อย่างที่มีคนมองอย่างมุมแคบๆ

ปัจจุบันในวงการอุตสาหกรรมทีวีไทย แทบทุกช่องแม้กระทั่งช่อง 11 ของกรมประชา สัมพันธ์ก็ปรับรูปตัวเองให้เป็นสถานีโทรทัศน์แบบเอาใจตลาด เพราะใช้กลไลตลาดเป็นตัวกำหนด รูปแบบการบริหารและการผลิตรายการ แม้กระทั่งช่อง 9 อสมท ซึ่งแต่ก่อนเป็นความหวังของสังคมก็เอาลมหายใจไปไว้ที่ราคาขึ้นลงในตลาดหุ้น หากว่าประเทศไทยจะมีทีวีสักช่องหนึ่งที่ให้บริการสาธารณะไม่ถือว่าผู้ชมเป็นลูกค้า แต่เป็นสมาชิกหนึ่งในสังคมที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเอง และต้องการความสว่างไสวทางปัญญา ทำไมจึงยังมีคนมาคัดค้าน คอยจ้องขัดขวางทำลาย

หากมีคนบอกว่าชอบทีวีแบบเอาใจตลาดมากกว่า ก็ไม่ว่ากัน เพราะท่านมีให้เลือกชมอยู่แล้วตั้งห้าช่อง ไม่น่าจะมีเหตุอันไดที่จะมาขัดขวางการตั้งสถานีทีวีที่มีอุดมการณ์สร้างสรรค์สังคมคุณภาพ ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้กลไกตลาด ขึ้นมาให้เลือกชมสักช่องหนึ่ง

ในประเทศประชาธิปไตยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากแล้วอย่างอังกฤษ  เป็นที่ยอมรับกันว่ามีกิจการหลายอย่างอันเกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของประชาชนจะ ต้องจัดให้มีบริการสาธารณะ (public service) ที่ควบคู่และคัดทานไปเคียงคู่กับบริการที่มาจากกลไกตลาด อย่างเช่น การให้บริการสาธารณะสุข และ การศึกษาเป็นต้น  นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมพรรคการเมืองทุกพรรคตอนหาเสียงเลือกตั้งในไทยปลายปีที่แล้วถึงพยายามขายนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค หรือรักษาพยาบาลฟรี หรือการศึกษาภาคบังคับฟรี

ทุกรัฐบาลต่างก็เอาเงินภาษีประชาชนไปอุ้มชูนโยบายการศึกษาและสาธารณะสุข

สื่อมวลชน ก็เป็นบริการอีกอย่างหนึ่งที่จะปล่อยให้กลไกตลาดผูกขาดให้บริการแข่งขันกันตามยถากรรมแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะการแข่งขันบางครั้งแทนที่จะทำให้คุณภาพดีขึ้นกลับกลาย

เป็นการแข่งขันกันแสดงความฟุ้งเฟ้อ มัวเมาแต่ในเรื่องบริโภคนิยม  จำเป็นจะต้องมีบริการสื่อเพื่อ

ประโยชน์สาธารณะ public service media  ขึ้นมาคัดทาน วางมาตรฐานเป็นหลักยึดถือ benchmark เพื่อไม่ให้กลไกตลาดชักพาชักพาสังคมไปในทางเสื่อมเสีย อย่างที่เห็นเป็นข่าวกันทุกวันถึงปัญหาสังคม ความเสี่อมทางศีลธรรม จริยธรรม ของเยาวชน อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของสื่อมวลชนกลไกตลาด ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อดิจิทัลและสื่อไซเบอร์

สื่อมวลชนเป็นธุรกิจที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เหมือนกับการศึกษา และสาธารณะสุข  จึงไม่น่าจะมีคำถามในลักษณะที่ว่าทำไมต้องเอาเงินภาษีของประชาชนมาทำทีวีสาธารณะ

ในประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นแม่แบบของประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แม่แบบของการศึกษาและสาธารณะสุขที่รัฐจัดให้  และแม่แบบของสื่อสาธารณะอย่างบีบีซีที่หลายประเทศยึดถือ ก็เป็นผู้วางมาตรฐาน benchmark รายการทีวีคุณภาพเสริมสร้างจริยธรรมและวางมาตรฐานจรรยาบรรณการทำงานสื่อสารงานข่าว ที่สื่อมวลชนทั่วโลก ยึดถือเอาไปเป็นกรอบปฎิบัติ

การก่อตั้งไทยพีบีเอส ให้เป็นทีวีสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทยจึงเป็นโอกาสทองของการสานต่อการปฏิรูปสื่อในประเทศไทย เพราะการแข่งขันด้านสื่อในประเทศไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่ามิได้ทำให้มาตรฐานในเชิงเนื้อหาสาระเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด ที่ดีขึ้นก็เป็นเรื่องของรูปแบบที่วูบวาบฉาบฉวย

รายงานข่าวประจำวันทางทีวีทุกวันนี้ จะออกมาคล้ายๆกัน เหมือนๆ กันทุกช่อง ออกมาอย่างสุกๆ ดิบๆ สวนไปสวนมา ขาดการตรวจสอบ ขาดการคัดกรอง แยกแยะว่าอะไรเป็นข้อเท็จ จริง อะไรเป็นข้ออ้าง อะไรเป็นสาระ อะไรเป็นโวหาร ขาดการชั่งตวงให้น้ำหนักตามความเหมาะสม ขาดการจัดอันดับ จัดวาระ (news agenda) และกระบวนการรวบรวมเนื้อหา เพื่อมัดเป็นก้อนให้ได้ครอบคลุมรอบด้าน (TV news packaging) พร้อมกับการให้คำอธิบายและบริบทของข่าวนั้น (context and perspective) นักข่าวทุกวันนี้หากินแบบวันต่อวันได้อะไรมาก็สาดออกไปที่จอทีวีให้ผู้ชมอย่างนั้น ขาดๆ วิ่นๆ แย่งชิงเอาความเร็วไว้ก่อน ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันที่ทำให้คุณภาพดีขึ้น

หากจะว่ากันไปแล้ว คุณภาพของข่าวทีวีทุกวันนี้ ยังสู้ข่าวทีวีในยุคบุกเบิกสมัยที่ ปาซิฟิกคอร์เปอร์ชั่น และอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล ทำที่ช่อง 9 อสมท. ไม่ได้

ประเพณีที่แปลกอีกอย่างหนึ่งของสื่อในประเทศไทยก็คือ มักจะส่งนักข่าวเด็กๆ หน้าใหม่ๆ อ่อนประสบการณ์ไปประจำแหล่งข่าวสำคัญ ๆ เช่นที่ทำเนียบและสภา ในขณะที่สื่อระดับโลก เช่น บีบีซี หรือ ซีเอ็นเอ็น มักจะส่งนักข่าวอาวุโสที่มีประสบการณ์มากๆ  บางครั้งขนาด บรรณาธิการข่าวการเมือง ไปประจำทำเนียบไวท์เฮ้าซ์ หรือทำเนียบดาวนิ่งสตรีท ที่สภาคองเกรส หรือ สภาเวสต์มินสเตอร์ เพราะนักข่าวที่มีชั่วโมงบินมากๆ จะได้กลิ่นข่าวที่เป็นของจริงและดูทิศทางของข่าวได้ชัด นอกจากนี้ยังสะสมภูมิหลังและบริบทของข่าวไว้มากพอ ที่จะงัดออกมาใช้ประกอบในการตีความหมายข่าว (interpretation)  และอธิบายให้ผู้ชมเข้าใจง่ายว่า ข่าวนั้นจะมีผลกระทบต่อผู้ชมและสังคมอย่างไร

การที่สำนักข่าวระดับโลก ส่งนักข่าวชั่วโมงบินสูง ไปประกบแหล่งข่าวสำคัญระดับผู้นำประเทศ ก็เป็นการแข่งขันในเรื่องฝีมือ ว่าใครจะสามารถแกะหรือขุดข่าวสำคัญออกจากแหล่งข่าวสำคัญคนนั้นได้มากกว่าใครหรือก่อนใคร  และมีขีดความสามารถที่จะแยกแยะข่าวจริง ออกจากข่าวปั่น ไม่ถูกจูงจมูกอย่างง่ายๆ

สิ่งที่สร้างความเสียหายให้แก่สังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่ทำให้ระบบการเมีองไทยอ่อนแอก็เพราะสงครามข่าวสารที่อยู่ในวังวนของ วาระข่าวหัวสี (tabloid news agenda) ที่มุ่งแต่เอาความมัน ความสะใจ กระพือให้เกิดความรู้สึกเป็นปรปักษ์ทำลายล้างกัน  เพื่อเรียกความฮือฮาเพิ่มเรตติ้ง ขายลีลาของผู้นำเสนอข่าว มากกว่าเนื้อหาสาระของข่าว วิธีการทำงานข่าวตามวาระข่าวหัวสี ยังเป็นการเปิดเวทีให้ตัวละครทางการเมืองบางคนหลอกนักข่าวสร้างความสำคัญให้แก่ตัวเองมากกว่าความเป็นจริง (larger than life) ทำให้ประชาชนหลงเชื่ออย่างผิดๆ

มีนักการเมืองฝรั่งคนหนึ่งพูดว่า สื่อโสโครกทำให้การเมืองโสโครก แต่ก็ถูกสวนกลับจากสื่อว่า นักการเมืองโสโครกต่างหากที่ทำให้สื่อโสโครก อยากถามว่าเมืองไทยของเราใครโสโครก

การก่อตั้ง ไทยพีบีเอส จึงเป็นความหวังใหม่ในการปฎิรูปสื่อ ให้เป็นสถานีที่มีการวางกรอบจรรยาบรรณอันเป็นมาตรฐานสากล ยึดถือหลักการตามวิชาชีพ สร้างสิ่งแปลกใหม่ให้เป็นทางเลือก สำหรับประชาชน สร้างค่านิยมสาธารณะทางประชาธิปไตย ให้ข่าวสารที่แท้จริง ให้ความรู้การศึกษาเสริมสร้างปัญญา พิทักษ์รักษาวัฒนธรรมและมรดกของชาติ ส่งเสริมค่านิยมทางบวกของชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นภาระกิจสำคัญของสื่อสาธารณะ

ย้อนหลังกลับไป หากว่าไทยพีบีเอส เกิดขึ้นตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และมีเวลาเติบโตสร้างผลงานตามอุดมการณ์สื่อสาธารณะมานานกว่าสิบปี แล้วละก้อ บางทีเงื่อนใขที่นำไปสู่เหตุการณ์ยึดอำนาจ 19 กันยา อาจจะไม่เกิดขึ้น

แท็ก คำค้นหา