ธรรมรัฐวิจารณ์ :คุณสมัครกับสื่อ

146x109-images-TBJA_images-Media-006ดร.อมร วาณิชวิวัฒน์
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

 

 

ผมได้ติดตามการให้สัมภาษณ์ของคุณสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีคนล่าสุดของประเทศไทย ทั้งโดยการเผยแพร่ของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) และอัลจาเซียรา (Al Jazeera) เมื่อช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ได้รับทั้งข้อคิดเห็นและเรียนรู้เรื่องราวทางการเมือง ในอีกมุมหนึ่งที่ปกตินักข่าวไทยคงไม่มีโอกาสได้ตั้งคำถามหลายๆ คำถามกับนายกรัฐมนตรีเหมือนนักข่าวต่างประเทศอย่าง Dan Rivers ของ ซีเอ็นเอ็น และนักข่าวหญิงที่พอดีผมเปิดเห็นตอนที่ทางผู้ดำเนินรายการส่งต่อมาให้เธอเป็นผู้รายงานข่าวการสัมภาษณ์เลยทำให้ไม่ทราบชื่อเสียงเรียงนามที่แท้จริงของเธอ แต่ก็ได้อรรถรสไม่แพ้กัน

เรื่องของชื่อนักข่าวย่อมไม่ใช่ประเด็นที่ผมกำลังจะพูดถึงกรณีคุณสมัครกับสื่อ ที่คงต้องรวมไปถึงสื่อในประเทศของเราเองด้วย เพราะเป็นที่รู้กันดีว่า ท่านนายกรัฐมนตรีของเรานอกจากจะเป็นคนเคยทำสื่อหนังสือพิมพ์ เป็นคอลัมนิสต์ ท่านยังเป็นสื่อมวลชนในฐานะนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์เป็นที่รู้จักกันอย่างดี เลยอาจเป็นเหตุผลให้ท่านนายกรัฐมนตรีไม่สู้จะเกรงใจนักข่าวสื่อมวลชนทั้งหลาย

อาจด้วยความอาวุโสของอายุตัวและอายุทางการเมือง บวกกับความคุ้นเคยเป็นที่รู้จักของสื่อต่างๆ พอสมควร ในการตอบคำถามหรือให้สัมภาษณ์ของคุณสมัครจึงดูเป็นกันเองผสมกับความเข้มข้นในการตอบโต้ หรือบางครั้งมักกลายเป็น “ผู้ตั้งคำถาม” กลับไปยังนักข่าวสื่อมวลชน ที่ถามคำถามต่างๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ

ใครที่ได้เคยอ่านหนังสือที่คุณสมัครเขียนขึ้นในยุคที่คุณสมัครดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายหลังเหตุการณ์นองเลือด เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีชื่อว่า “สันดานหนังสือพิมพ์” ก็จะเข้าใจความรู้สึกและมุมมองของคุณสมัครต่อสื่อมวลชนเฉพาะอย่างยิ่งในแขนงหนังสือพิมพ์ได้อย่างดี

ผมเองในเวลานั้นยังถือเป็นเพียงเด็กที่เพิ่งเริ่มติดตามการเมือง แต่ทางบ้านได้ซื้อหาหนังสือพอคเก็ตบุ๊ค ที่ต้องเรียกว่า “เบสท์เซลเลอร์” หรือหนังสือขายดีเล่มหนึ่งของเมืองไทยในยุคนั้น ที่เขียนโดยคุณสมัครเล่มนี้มาไว้ในครอบครอง

ความเป็นไม้เบื่อไม้เมาของคุณสมัครกับทางนักหนังสือพิมพ์ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างกรรมต่างวาระ โดยอาศัยอำนาจของกฎหมายควบคุมสื่อในยุครัฐบาลหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม ซึ่งคุณสมัครเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีร่วมคณะรัฐบาล

แต่นั่นเป็นอดีตที่เราต่างคาดหวังและเชื่อมั่นว่า คุณสมัครในยุคนี้จะเป็น “นิว” สมัคร หรือคุณสมัครในภาพลักษณ์ใหม่ที่จะคบหากับสื่อได้อย่างราบรื่น เพราะคุณสมัครได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมตั้งแต่วันที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ บ้านพักถนนนวมินทร์ ทำนองว่า “ต้องการขอเวลาและขอโอกาสในการทำงานพิสูจน์ตัวเอง และคำครหาต่างๆ”

แต่สิ่งที่ได้พบเห็นและได้ยินได้ฟังมาจากคำให้สัมภาษณ์ของคุณสมัครเท่าที่ผ่านมา รวมไปถึงจากสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อหลายวันก่อน ค่อนข้างบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ความเป็นคุณสมัครเมื่อต้นปี 2520 ต่อเนื่องถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 ยังคงความ “เข้มข้น” อยู่อย่างไม่สร่างซา

คุณสมัครยังคง “ดุดัน” และตอบคำถามอย่างฉะฉานไม่เกรงกลัวใคร สมกับเป็นอดีตนักโต้วาทีและนักกิจกรรมคนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เรื่องที่หลายฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน คือ เรื่องของตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งคุณสมัครยืนยันว่า มีผู้โชคร้ายเสียชีวิตเพียงคนเดียว

แม้ในเวลานั้น เทคโนโลยีและสื่อต่างๆ อาจยังไม่ทันสมัยและเข้าถึงผู้คนได้มากเท่าทุกวันนี้ แต่ทั้งซีดี วีซีดี และเทปบันทึกเหตุการณ์ ตลอดทั้งภาพถ่ายจากสายข่าวหลายสำนักที่มีการจัดนิทรรศการทุกปีที่ธรรมศาสตร์ และอนุสรณ์สถานวีรชนสี่แยกคอกวัว ยังเป็นภาพที่สะเทือนขวัญ และบั่นทอนความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้ถ้าจะให้ดีเพื่อยุติปัญหาทั้งหมด ในยุคที่คุณสมัครเป็นรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง น่าจะใช้โอกาสนี้ “ชำระประวัติศาสตร์” เรื่องนี้ให้กระจ่างชัดขึ้นมา เพราะหลายข้อสงสัยยังคงไม่มีใครสามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนว่า ใครเป็นคนสั่งยิง จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มีจำนวนเท่าใดกันแน่

เชื่อว่าหากเรื่องนี้ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้ความนิยมในตัวคุณสมัครที่วันนี้ก็ร้อนแรงสุดกู่แล้ว จะยิ่งทวีความฮอตฮิตออกไปอีกแบบชนิดไม่ต้องเปลืองกำลังคนและทรัพยากรไปสร้างความนิยมจากที่ไหนกันอีก และถือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาที่ค้างคาใจคนทุกหมู่เหล่ามาเป็นเวลานานกว่า 30 ปีลงได้

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์   13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 10:57:00

แท็ก คำค้นหา